กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--ปตท.
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- ขณะที่ซาอุดิอาระเบียยังตรวจสอบการก่อวินาศกรรมโรงปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดิบและแหล่งผลิต (เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 62) รมว.กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ เชื่อว่าอิหร่านเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุก่อการร้ายดังกล่าว และประธานาธิบดีสหรัฐฯ สั่งการให้กระทรวงการคลังเพิ่มการคว่ำบาตรต่ออิหร่าน ขณะที่ รมว.กระทรวงต่างประเทศของอิหร่านแถลงจะป้องกันตนเองหากสหรัฐฯ และซาอุดิอาระเบียใช้กำลังทหารโจมตี และจะทำให้เกิดสงครามแผ่ขยายไปทั่วทั้งภูมิภาค
- ทางการจีนรายงานปริมาณการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่น (Refinery Throughput) ในเดือน ส.ค. 62 เพิ่มขึ้น จากปีก่อน 6.9 % อยู่ที่ 12.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน
- ทางการเกาหลีใต้รายงานปริมาณนำเข้าน้ำมันดิบ เดือน ส.ค. 62 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 2.8 % อยู่ที่ 3.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยนำเข้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 61.4 % อยู่ที่ 348,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่หยุดนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ตั้งแต่ พ.ค. 62
- ที่ประชุมคณะกรรมการโยบายการเงินของสหรัฐฯ (FOMC) มีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นลง 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00%
ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- บริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบีย Saudi Aramco แถลงกำลังการผลิตน้ำมันจะกลับมาสู่ระดับเดิมก่อนถูกโจมตี ที่ 4.9 ล้านบาร์เรลต่อวัน ภายในสิ้นเดือน ก.ย. 62 ยังสามารถดำเนินการส่งมอบน้ำมันดิบให้ลูกค้า เนื่องจากสามารถผันน้ำมันดิบจากคลังสำรองมาใช้ JODI ของกลุ่ม OPEC รายงานปริมาณสำรองปิโตรเลียม ในเดือน ก.ค. 62 ลดลง 8.10 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 179.80 ล้านบาร์เรล ทั้งนี้ซาอุดิอาระเบียส่งออกสุทธิในช่วงต้นปีนี้อยู่ที่ระดับ 8.2 MMBD
- Executive Director ของทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) นาย Fatih Birol กล่าวว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้สำรองน้ำมันฉุกเฉิน เนื่องจากตลาดยังมีอุปทานเพียงพอ ทั้งนี้ประเทศสมาชิกของ IEA มีปริมาณสำรองน้ำมันถึง 1.55 พันล้านบาร์เรล หรือเทียบเท่าความต้องการใช้น้ำมันของโลกประมาณ 15 วัน
- EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 13 ก.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.06 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 417.1 ล้านบาร์เรล และคาดการณ์ปริมาณการผลิต Shale Oil จากแหล่งสำคัญ 7 แห่งในสหรัฐฯ ในเดือน ต.ค. 62 จะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 74,000 บาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ 8.84 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์การเมืองโลกตึงเครียด ให้ติดตามหากซาอุดิอาระเบียจะสามารถกลับมาผลิตน้ำมันดิบที่ระดับก่อนเกิดเหตุก่อการร้ายได้ตามกำหนดปลายเดือนนี้หรือไม่ และความตึงเครียดในตะวันออกกลางจะผันแปรไปในทิศทางใด ซึ่งล่าสุดกลุ่มพันธมิตรที่นำโดยซาอุดิอาระเบียเปิดปฏิบัติการทางทหารทางตอนเหนือของเมือง Hodeidah ของเยเมน และสหรัฐฯ อนุมัติความช่วยเหลือ ด้านการติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศ และสนับสนุนกำลังทหารแก่ซาอุฯ เพื่อช่วยป้องกันการโจมตีโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันที่สำคัญ อย่างไรก็ตามอิหร่านออกมายืนยันว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการโจมตีแหล่งผลิตดังกล่าว และการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนส่อเค้าไม่ราบรื่นหลังจากผู้แทนการค้าด้านการเกษตรของจีนต้องเดินทางกลับประเทศก่อนกำหนด และยกเลิกการเยี่ยมชมแหล่งเกษตรกรรมในมลรัฐ Montana ของสหรัฐฯ นอกจากนี้มีข่าว Thomas Cook บริษัทสัญชาติอังกฤษด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลกที่มีอายุยืนนานถึง 178 ปีอาจต้องปิดกิจการหลังจากประสบปัญหาทางการเงินอย่างรุนแรง เนื่องจากปัญหา Brexit และการแข่งขันของธุรกิจออนไลน์ ในส่วนของสงครามการค้าระหว่างเกาหลีใต้และญี่ปุ่น ล่าสุดเกาหลีใต้ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อองค์การการค้าโลก (WTO) ทำให้ทั้งสองประเทศจะต้องจัดการเจรจาแบบทวิภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว หากข้อพิพาททางการค้าเกาหลีใต้-ญี่ปุ่น ยังคงดำเนินต่อไป อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าในระยะยาว โดยเกาหลีใต้อาจพิจารณาย้ายฐานการผลิตมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามนโยบาย New Southern Policy ซึ่งไทยอาจจะเป็นหนึ่งในประเทศที่เกาหลีใต้จะย้ายมาลงทุนฐานการผลิต ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อตลาดน้ำมันด้านเทคนิคสัปดาห์นี้คาดว่า ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 64.0-69.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 58.0-63.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 63.0-68.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นจาก โรงกลั่น Bapco ในบาเรนห์ (กำลังการกลั่น 267,000 บาร์เรลต่อวัน) ของ Bahrain Petroleum Co. ลดอัตราการกลั่น ขณะที่ Platts รายงานว่าตลาดน้ำมันเบนซินในเอเชียยังคงแข็งแกร่งจากความต้องการใช้ของอินโดนีเซีย ซึ่งนำเข้าสำหรับเดือน ต.ค. 62 ประมาณ 10-11 ล้านบาร์เรล ใกล้เคียงกับเดือน ก.ย. 62 และ โรงกลั่นในอินเดีย อาทิ Bharat Petroleum Corp. Ltd. (BPCL), Hindustan Petroleum Corp. Ltd. (HPCL) และ Indian Oil Corp. (IOC) ต่างเข้าซื้อน้ำมันเบนซินตั้งแต่ต้นปี 2562 เนื่องจากหยุดดำเนินการเพื่อติดตั้งหน่วยปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิง ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 18 ก.ย. 62 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 1.16 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 10 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 5 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 13 ก.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 800,000 บาร์เรล อยู่ที่ 229.7 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และ Bureau of Energy ของไต้หวันรายงานปริมาณการใช้น้ำมันเบนซินในเดือน ก.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 13.2% อยู่ที่ 165,000 บาร์เรลต่อวัน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 80.0-85.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น เนื่องจาก Platts รายงาน Arbitrage น้ำมันดีเซลจากเอเชียไปยังยุโรปเปิด Platts รายงาน Saudi Aramco ของซาอุดิอาระเบียเร่งเข้าเจรจาเพื่อจัดหาน้ำมันดีเซลในตลาดจร เนื่องจากอุปทานขาดแคลน NBS ของจีนรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซล เดือน ส.ค. 62 ลดลงจากปีก่อน 4.3 % อยู่ที่ 3.26 ล้านบาร์เรลต่อวัน อย่างไรก็ตาม Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานอุปสงค์น้ำมันดีเซล ในเดือนส.ค. 62 ลดลงจากเดือนก่อน 1.13% มาอยู่ที่ 45.56 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 10 เดือน ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 13 ก.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 500,000 บาร์เรล อยู่ที่ 136.7 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 4 สัปดาห์ และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุด 18 ก.ย. 62 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.4 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 12.47 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 8 เดือน ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล 80.0-85.5