กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--มรภ.สวนสุนันทา
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา จัดสัมมนาในหัวข้อ SME Online Success Case Sharing & Learning หนึ่งในกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ความสำเร็จของผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SME ปี 2562 หรือโครงการ SME Online ปีที่ 3 ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ซึ่งร่วมกับ 5 องค์กรหน่วยร่วมเพื่อสนับสนุน และส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศให้สามารถนำสินค้าเข้าสู่ตลาดออนไลน์ เพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและเพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ประกอบการ เรียกได้ว่าเป็นโครงการติดจรวดความรู้ให้กับผู้ประกอบการ SME ไทยเพื่อเปิดประตูสู่โลกของตลาดออนไลน์ ที่วันนี้ใครๆ ก็พลาดไม่ได้ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามกระแสของเทคโนโลยี ส่งผลให้ตลาดเดิมๆเงียบเหงา ขณะที่มูลค่าทางตลาดออนไลน์ หรืออีคอมเมิร์ซเพิ่มสูงทุกวัน
อาจารย์ยงยุทธ เจริญรัตน์ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารวิชาการ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และผู้จัดการโครงการฯ กล่าวว่า มรภ.สวนสุนันทา ได้รับมอบหมายจากสสว. ให้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมและพัฒนาตลาด SME ในเขตภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 28 จังหวัด โดยวัตถุประสงค์เพื่อให้ SME สามารถใช้ช่องทางตลาดออนไลน์ในการขยายตลาดและการขายสินค้า เนื่องจากปัจจุบันมูลค่าของตลาดอีคอมเมิร์ซเพิ่มสูงขึ้นทุกปี
"สำหรับการดำเนินโครงการ ช่วงแรกได้เปิดอบรมหลักสูตรตลาดดิจิทัลให้กับผู้ประกอบการ SME โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง การทำการตลาด และวิธีการเปิดร้านค้าในตลาดอีคอมเมิร์ซ เช่น Shopee, เทพ shop สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่ขายสินค้าผ่านทางเฟซบุ๊กอยู่แล้ว โดยโครงการจะให้คำแนะนำต่อยอดเกี่ยวกับเทคนิคในการใช้เฟซบุ๊กเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด การเข้าถึงลูกค้า และการใช้เครื่องมืออื่นๆ ของโซเชียลมีเดียยอดนิยม เช่น ไลน์ ยูทูป ให้มีประสิทธิภาพ โดยเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงผู้บริโภคให้มากที่สุด นอกจากนี้ยังได้การให้คำปรึกษาเพิ่มเติมสำหรับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูง สามารถใช้สื่อออนไลน์ได้คล่องแคล่ว โดยเพิ่มเติมเทคนิคขั้นสูง เช่น วิธีการซื้อและจัดการด้านการโฆษณา การวิเคราะห์กลุ่มลูกค้า การเจาะกลุ่มลูกค้าที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับกลุ่ม SME ที่มีศักยภาพสูง"
โดยผู้ประกอบการ SME ที่เข้าร่วมโครงการในกลุ่มแรกนี้ มีตัวแทนมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ได้อย่างน่าสนใจภายในงานสัมมนา SME Online Success Case Sharing & Learning ครั้งนี้ด้วย ได้แก่
นายไผ่พงศ์ พรหมจันทร์ (คุณไผ่) เจ้าของกิจการ TK2Go ขายชุดเทควันโด จากจังหวัดอุบลราชธานีคุณไผ่เล่าว่า เริ่มต้นจากทำยิมเทควันโด พร้อมขายชุดเทควันโดให้กับเด็กๆที่มาเรียน เพราะหน้าร้านเป็นจุดรับส่งสินค้า และมีบริการส่งสินค้าโดยการขายกล่องบรรจุภัณฑ์ จึงเกิดไอเดียการขายชุดเทควันโดออนไลน์ และ กล่องที่สามารถบรรจุภัณฑ์ ต่อมาเริ่มเห็นว่าชุดเทควันโดมือสองจากเกาหลีมีคุณภาพดี ราคาถูกและเป็นที่สนใจของลูกค้ามากกว่า จึงนำชุดเทควันโดมือสองเข้ามาบุกตลาดออนไลน์ เริ่มจากทำคนเดียวมา 3-5 ปีขายได้เฉลี่ย 5 ออเดอร์/วัน จนปี 2561 ธุรกิจเริ่มดีเขาเริ่มไปเรียนกับเอกชนเพื่อศึกษาการทำตลาดออนไลน์จริงจัง มีการจ้างลูกน้อง เพิ่มสต๊อค ถ่ายรูปสินค้าจัดทำแคตตาล็อค ซึ่งไผ่บอกว่าเขาเป็นร้านขายชุดเทควันโดร้านเดียวที่มีแคตตาล็อคสินค้าให้เลือก ขณะธุรกิจกำลังรุ่ง เขาทำอินตาแกรม โพสต์ไอจี มีเฟสบุ๊กและไลน์แอดเป็นช่องทางขายหลัก ช่วงโปรโมชั่นสำคัญๆ อย่างวันแม่สามารถดึงลูกค้าเข้ามากกว่า 20,000 คนด้วยกลยุทธ์สามารถ แต่การทำตลาดออนไลน์ไผ่บอกว่า หยุดนิ่งไม่ได้คนขายต้องมั่นเรียนรู้และกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง
"ผมเริ่มมองเห็นปัญหาของไลน์แอด ว่าจะมีการเปลี่ยนราคา เลยขอให้โครงการ SME Online เข้ามาช่วยปรับเปลี่ยน ช่วง 12.8 วันแม่ปีนี้พอดีปรากฏว่าร้านพังครับ ลูกค้าเข้าร้านไม่ถูก ร้านเราขายไม่ได้เลยในวันแม่ที่ผ่านมา แต่จากความกล้าทำกล้าเปลี่ยนทำให้ 9.9 เราผ่านมาได้อย่างดีเยี่ยม ผมอยู่อุบลราชธานี บ้านแม่ผมน้ำท่วมต้องให้ลูกน้องไปช่วยขนของ ขณะที่เราปล่อยโปรโมชั่นสำหรับวันที่ 9 เดือน 9 ไปแล้ว มีผมกับแอดมินทำงานกันอยู่ 2 คนแต่เราประสบความสำเร็จมาก ระบบแชทบอท เปลี่ยนสภาพเราไปอย่างสิ้นเชิง แคตตาล็อคเทพ shop ทำให้ลูกค้าสะดวกดูแล้วจับภาพส่งให้แอดมินๆ ทำงานง่ายขึ้นเร็วขึ้น ตอบจนจบได้ ก่อนนี้ผมต้องใช้แอดมิน3-4 คนในวันโปรโมชั่น และใช้เวลาอีก 2 วันเคลียร์โปรโมชั่นจบ แต่จาก 9.9 ที่ผ่านมาธุรกิจผมจบภายในหนึ่งวันกับแอดมินคนเดียวเลยครับ โครงการฯ ได้พลิกโฉมร้านเราครั้งยิ่งใหญ่เลยครับ" นอกจากนี้คุณไผ่ยังบอกด้วยว่า เขาประทับใจมากกับโครงการ เพราะทำมาคนเดียวมา 4-5 ปี แต่วันนี้เขารู้ว่าไม่ได้ทำคนเดียวแต่มีคนที่พร้อมให้คำปรึกษาเขาได้ตลอดเวลา และวันนี้เขาก็พร้อมแชร์ประสบการณ์ดีๆให้กับเพื่อนพี่น้องในจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรวมกลุ่มช่วยเหลือกัน ซึ่งเป็นการสร้างพลังจากกลุ่มเล็กๆเพื่อเป้าหมายในวันข้างหน้าของพวกเขา
เช่นเดียวกับนางสาวกาญจนา สีดาเพ็ง หรือตุ้ม ทายาทเจ้าของธุรกิจ "ต่ายมะพร้าวแก้ว" โอทอปขึ้นชื่อของจังหวัดเลย ครอบครัวทำขายหน้าร้านมา 20 กว่าปี ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวที่มาชมแก่งคุดคู้ เพราะมีมะพร้าวแก้วกว่า 50 ร้านการแข่งขันจึงสูง และขายได้เฉพาะหน้าท่องเที่ยว ตุ้มซึ่งรักการขายออนไลน์ตั้งแต่สมัยเรียนเห็นปัญหาการขายหน้าร้านมาตลอด วันหนึ่งจึงหยิบมะพร้าวแก้วเข้ามาตลาดออนไลน์ ขายแบบสไตล์ของเธอซึ่งใช้มือถือเป็นเครื่องมือหลัก จนเรียนจบทำงานด้านที่เรียนมาสักพักและก็เริ่มเห็นโอกาสการขายออนไลน์มากขึ้น จนได้มาเข้าโครงการ SME Online สิ่งแรกที่ทำคือ การซื้อโน๊ตบุ๊ค มาเป็นเครื่องมือในการทำตลาดออนไลน์
" อาจารย์ในโครงการฯ แนะนำว่าถ้าจะทำเป็นอาชีพจริงจัง ควรซื้อโน๊ตบุ๊คเพราะสามารถทำระบบต่างๆ ได้ด้วย จากปัญหาการซื้อโฆษณาจากมือถือซึ่งไม่มีการตั้งค่าเวลาและทวีปทำให้ได้ผลบ้างไม่ได้บ้าง กับระบบออเดอร์ที่ผิดพลาดบ่อยครั้ง หลังจากเข้าโครงการและกลับมาทำด้วยโน๊คบุ๊คสร้างระบบหลังบ้าน ทำเว็บไซต์ ตอนนี้ยอดขายเราดีขึ้น ออเดอร์ไม่ตกหล่น สามารถเช็คสต๊อคได้ ติดตามเลขพัสดุได้ และไม่ต้องนั่งจดออเดอร์ ที่อยู่ลูกค้าใส่กระดาษอีกแล้ว
ทางโครงการฯแนะนำให้ทำคอนเทนต์ ถ่ายภาพสินค้าอย่างไรให้โดดเด่น และก็มีออกบูธในงานต่างๆ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น ตอนนี้นอกจากขายออนไลน์ที่มีลูกค้าจากต่างประเทศติดต่อเข้ามา ด้วยความที่สินค้าเราเป็นขนมก็เน้นขยายทางออฟไลน์ด้วยซึ่งทางโครงการฯ ได้คำแนะนำตลอด รู้สึกไม่โดดเดียวคนเดียวอีกแล้วค่ะ"ที่สำคัญเธอบอกว่า ทุกเช้าที่ได้ติดเสียงโทรศัพท์เด้งๆ หมายถึงมียอดเงินโอนเข้ามา โดยที่ไม่ต้องไปยืนขายอยู่หน้าร้าน เป็นสิ่งที่เธอมีความสุขมาก เพราะการขายออนไลน์ขายได้ทุกวันและตลอดเวลาโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ
สุดท้ายนายโฆษิต สุอุตะ เจ้าของบริษัท โคเนเจอร์ จำกัด ธุรกิจเครื่องสำอางค์แบรนด์ dungjaiskincare ประสบความสำเร็จในการใช้ sale page ผลิตภัณฑ์เด่น set รักษาสิว เป็นคนหนึ่งที่เข้าโครงการเพราะเคยทำธุรกิจขายออนไลน์มาอย่างโชกโชน ประสบความสำเร็จจนรู้สึกว่าออนไลน์ไม่ใช่เรื่องยาก จนวันที่เปลี่ยนจากสินค้าแฟชั่นมาเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม ทำให้ความรู้เรื่องการขายออนไลน์บนเฟสบุ๊คที่เคยทำมาแทบใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย การเข้าร่วมโครงการทำให้เขาได้รู้จักกับเครื่องมือที่ชื่อ sale page เรียนรู้การสร้างคอนเทนต์นำการขาย ซึ่งผลสะท้อนกลับมาได้ผลกว่าการตะโกนขายสินค้าอย่างเดียวมากมาย
สำหรับการดำเนินโครงการฯ ตลอด 6–7 เดือนที่ผ่านมา ผู้จัดการโครงการฯ เปิดเผยว่า แบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่ กลุ่มแรกจะเป็นกลุ่มผู้ประกอบการระดับเริ่มต้น อบรมตั้งแต่เปิดร้านค้าออนไลน์ ซึ่งมีผู้ประกอบการเข้าอบรมประมาณ 2,450 ราย กลุ่มที่ 2 เป็นผู้ประกอบการที่มีศักยภาพ การอบรมเป็นการสอนเทคนิคต่างๆ เช่น การใช้เฟซบุ๊กในการโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย สอนการใช้อี-มาร์เก็ตเพลส การเปิดร้านค้าอีคอมเมิร์ซผ่านทางเทพ shop และสุดท้ายกลุ่มผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสูงจะเป็นการสอนเปิดเว็บไซต์ที่เป็นอีคอมเมิร์ซ หรือที่เรียกว่า Sale Trade ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพและมีศักยภาพสูง ประมาณ 1,050 ราย อีกหนึ่งกลุ่มที่มีผู้ประกอบการ SME ประมาณ 30 ราย เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ชำนาญการด้านการขายออนไลน์ โครงการจะเน้นให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว หรือให้คำปรึกษาเชิง Grouping
"ผลสำเร็จจากโครงการ พบว่า ผู้ประกอบการหลายรายในกลุ่มระดับเริ่มต้นที่ผ่านการอบรมโครงการ เริ่มมีออเดอร์แรกเข้ามาแล้ว เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SME ได้ใช้ช่องทางออนไลน์ในการขายสินค้า ส่วนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพพบว่ามียอดขายเพิ่มขึ้นประมาณ 30-40% บางรายยอดขายไม่ได้เพิ่ม แต่สามารถบริหารจัดการนำสินค้าไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้ตรงมากยิ่งขึ้น
ประเภทสินค้าที่เข้ามาอบรมมีความหลากหลาย บางสินค้าเป็นโอทอป เช่น ครกอ่างศิลา ไข่เค็ม สินค้าทุกประเภทขายผ่านทางออนไลน์ได้ เพียงใช้วิธีการโพสต์ การเขียนเรื่องราว บางประเภทเป็นสินค้าเฉพาะทาง เช่น ชุดเทควันโดมือสอง โครงการจะสอนดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งที่เฉพาะเหมาะกับผู้ประกอบการนำไปประยุกต์ใช้ หรือสินค้านวัตกรรมใหม่ เช่น เครื่องดักยุง ทั้งนี้สินค้าทุกประเภทขายได้ยอดขายดีบนออนไลน์ หากเราต้องใช้วิธีการจัดการที่ถูกต้องและเหมาะสม จะช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ"
สำหรับการอบรมในปีนี้สำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด ในปีหน้าก้าวสู่เฟส 2 หลักสูตรจะมีการปรับเปลี่ยนให้ลงลึกและเข้มข้นมากขึ้น ผู้ประกอบการ SME ที่สนใจใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ในการขยายกิจการ สามารถติดต่อมาได้ที่ สสว.เพื่อขอสมัครเข้าร่วมโครงการในปีหน้าและปีต่อๆ ไป คลิกไปที่ www.sme.go.th ไปที่โครงการ SME Online