กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ
เมื่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการดำรงชีวิต ขณะที่ "การพนัน" ก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบให้สอดรับและแฝงเร้นมากับสื่อโซเชียลมีเดียหลากหลายช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพนันในรูปแบบ "เกมออนไลน์" รวมถึง "อี-สปอร์ต" (E-Sport) ที่เชิญชวนให้ "คลิก" เข้าไปร่วมเล่นอย่างแนบเนียน ส่งผลให้ "เด็กและเยาวชน" ฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ที่หลอกล่อได้ง่ายเพราะวุฒิภาวะยังไม่สมบูรณ์ ลองคลิก เล่น และติดพนันออนไลน์ จนกลายเป็นปัญหาสะสมกัดกร่อนสังคมไทย
โดยข้อมูลจาก ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจปี 2560 พบว่าเยาวชนไทยเล่นพนันมากถึง 3.64 ล้านคน เป็นเพศชายราว 2 ล้านคน เพศหญิง 1.6 ล้านคน ในจำนวนนี้ติดหนี้พนันมากถึง 9.53 หมื่นคน เป็นวงเงินมากถึง 335 ล้านบาท เฉลี่ยประมาณคนละ 3,500 บาท
ขณะที่ผลสำรวจความคิดเห็นของเยาวชนกับการพนันออนไลน์ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) พบว่า เด็กและเยาวชนร้อยละ 75.6 รู้จักพนันออนไลน์ โดยร้อยละ 23.6 อยากเล่นพนันออนไลน์ และร้อยละ 17 เคยเล่นพนันออนไลน์แล้ว
ปัจจุบัน การพนันโดยเฉพาะพนันออนไลน์ถูกยกระดับให้เป็นปัญหาสุขภาพสำคัญ ที่มีผลกระทบเกือบทุกมิติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม หรือแม้แต่กลุ่มตัวแทนเยาวชนระดับชาติ จึงจับมือ ประสานองค์ความรู้ กำหนดมาตรการร่วมเพื่อแก้ไขและบรรเทาปัญหา
บนเวที "Gam Talk Experience" ในงาน "1 ทศวรรษ รวมพลังป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์" ที่ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ มสช. โดยความร่วมมือจาก กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สสส. และ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ ได้หยิบยกความสำเร็จที่เริ่มเห็นเป็นรูปธรรม ในการดำเนินงานเพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์ตลอด 10 ปี ทีผ่านมา
โดยในระดับชาติ สามารถสร้างเครือข่ายเพื่อป้องกันและลดผลกระทบปัญหาดังกล่าว และผลักดันจนเกิด "ร่างแผนปฏิบัติการด้านการป้องกันและลดผลกระทบเด็กและเยาวชนจากการพนันออนไลน์ พ.ศ.2563 – 2569" ประกอบด้วย 4 แผน ได้แก่ 1.แผนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบปลอดการพนัน 2.แผนการส่งเสริมให้รู้เท่าทันสื่อการพนันออนไลน์ 3.แผนการส่งเสริมศักยภาพเครือข่ายป้องกันการพนัน และ 4.แผนการส่งเสริมพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และจะดำเนินการผ่าน 5 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.การผลักดันประเด็นการรู้เท่าทันพนันออนไลน์เป็นวาระแห่งชาติ 2.การสร้างและพัฒนาให้เกิดกลไกในกำกับของรัฐเพื่อทำหน้าที่ บูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงาน 3.การสร้างองค์ความรู้ จัดการความรู้ และเผยแพร่ 4.การส่งเสริมบทบาทและระดมความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการป้องกัน ลดผลกระทบ ให้คำปรึกษา และบำบัดเยียวยา และ 5.การสนับสนุนให้เกิดเครือข่ายเฝ้าระวัง และส่งเสริมการบังคับใช้กฎหมาย
ในส่วนพื้นที่ทั่วประเทศก็ขยับเรื่องนี้อย่างเห็นผลเช่นกัน ปุณิกา หงษ์อุดร แกนหลักสำคัญจากกลุ่มรวมพลังเยาวชนรวมใจห่างไกลการพนันออนไลน์ใน จ.อุบลราชธานี และ จ.อำนาจเจริญ กล่าวว่า ผลการสำรวจพบว่าเยาวชนในพื้นที่ช่วงอายุ 16-20 ปี เล่นพนันมากที่สุด โดยร้อย 61.6 มีทัศนะว่าการพนันออนไลน์ไม่ทำให้เกิดปัญหา ที่น่าสนใจคือเรื่องการเอาทุนมาต่อทุน เด็กๆ กลุ่มนี้ เริ่มต้นวางเงินพนันต่ำสุดที่ 500 บาท และสูงสุดมากกว่า 5,000 บาท โดยเอาเงินตัวเองมาหมุน และนำเงินที่ได้จากการเล่นมาเล่นพนันต่อ ส่วนแนวโน้มของการที่จะเลิกเล่นนั้นเป็นไปได้น้อยมาก
"โจทย์สำคัญคือผู้ปกครองต้องเข้าถึงและเท่าทัน แม้ว่าจำนวนร้านเกมจะลดน้อยลง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าภัยการพนันจะน้อยลง เพราะตอนนี้เทคโนโลยีอยู่ในมือเด็กแล้ว ทุกคนสามารถเข้าถึงการพนันออนไลน์ได้ทุกที่ ทุกเวลา ฉะนั้น วัคซีนที่ดีที่สุดที่เรานำมาใช้ คือการหยิบเอาพลังการสร้างสรรค์มาเบี่ยงเบนความสนใจเด็กๆ จากการพนัน" ปุณิกา ระบุ
ขณะที่ ผศ.ดร.นิเวศน์ อรุณเบิกฟ้า อาจารย์ประจำ คณะมนุษย์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เผยยุทธศาสตร์ที่ใช้ในการขับเคลื่อนและเปลี่ยนแปลงแนวคิดเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในโรงเรียนสามัญและโรงเรียนสอนศาสนากว่า 11 เครือข่ายในพื้นที่ จ. ปัตตานี ว่า ใช้วิธีการลงพื้นที่ อบรมให้ความรู้เด็กๆ สร้างหนังสั้น สร้างสื่อ สร้างความตระหนักให้รู้โทษจากการพนันออนไลน์ นอกจากนี้ ยังเชิญศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อย่าง ฐาปนีย์ เอียดศรีชัย สื่อมวลชน รวมถึงนายอำเภอเมืองปัตตานี มาร่วมใจรณรงค์โครงการ 'Anti-Gambling เด็กและเยาวชนจังหวัดปัตตานีไม่ยุ่งกับการพนันออนไลน์' สร้างความเคลื่อนไหวให้ภัยเงียบเป็นที่พูดถึงในทุกระดับ
อีกหนึ่งตัวอย่าง ของการพยายามสร้างกลไกการป้องกันภัยพนันออนไลน์ในเยาวชนที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง คือ นครพนมโมเดล NKP จุฑาลักษณ์ แสนโท อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนครพนม กล่าวว่า นครพนมโมเดลประกอบด้วยแนวคิด การสร้างเครือข่าย (Network) การให้ความรู้ (Knowledge) และ การป้องกัน (Protection) ซึ่งทางมหาวิทยาลัยร่วมมือกับหลายภาคส่วน จัดกิจกรรมที่เน้นการรับฟังความคิดเห็นของเด็กๆ และออกแบบกิจกรรมที่เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย
"ความคิดที่จะสร้างคู่มือเล่มหนาๆ ล้าหลังไปแล้ว ตอนนี้เราจะสร้างกิจกรรมอย่างไรให้เด็กมีส่วนร่วมและเกิดความตระหนักรู้ เปลี่ยนมุมมองในเรื่องการพนันให้เป็นการรู้เท่าทันจะได้ผลมากกว่า" อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ม.นครพนม ชี้แจงเพิ่ม
ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต อธิบดีกรมสุขภาพจิต สธ. หนึ่งในหน่วยงานภาคีผลักดันการแก้ปัญหาพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชนไทย กล่าวว่า ต้องปลูกฝังแนวคิด CPR ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้เยาวชนห่างไกลจากภัยการพนัน โดย C คือ Creativity หรือ การสร้างสรรค์ P คือ Positive หรือ ความคิดแง่บวก และ R คือ Responsibility หรือ ความรับผิดชอบร่วมกันต่อสังคม
ส่วนเสียงจากเยาวชนคนรุ่นใหม่ ปกรณ์เกียรติ พรมจันทร์ สมาชิกสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย แสดงทัศนะว่า หากสังคมไทยต้องการเปลี่ยนแปลงผลลัพธ์ ก็ไม่ควรจะใช้วิธีเดิมๆ ในการกีดกันความรู้เกี่ยวกับการพนัน แต่ควรหันมาเปิดเผยและชี้แจงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าการพนันให้โทษอย่างไร เหมือนกับปัญหาการท้องไม่พร้อม หรือปัญหายาเสพติด ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก
หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา มีความพยายามในการป้องกันภัยจากการพนันและการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชน แม้จะไม่สามารถคลี่คลายปัญหาที่มีได้ทั้งหมด แต่การร่วมมือกันระหว่างหลายภาคส่วนอย่างเข้มแข็งบนจุดมุ่งหมายเดียวกัน นับเป็นสัญญาณอันดีของสังคมไทย ที่จะสร้างสังคมปลอดการติดพนันให้เติบโตอย่างเข้มแข็งต่อไปในทศวรรษที่ 2 บนฐานความคิด "เล่นพนันได้ แต่ต้องมีความรับผิดชอบ".