กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--สปาร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์
ศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน หรือ Ride-hailing ในประเทศไทย ในรูปแบบของ Infographic (ตามไฟล์แนบ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผลการศึกษาและวิจัยเชิงวิชาการในหัวข้อ "อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน (Ride-hailing service): บทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยและความจำเป็นในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกฎหมายให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน" โดย อ. ดร. สุทธิกร กิ่งแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาผู้บริหารทางธุรกิจ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ภาพรวมธุรกิจ Ride-hailingในประเทศไทย
- อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน หรือ Ride-hailing ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2661 มีมูลค่าตลาดประมาณ 21,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6 ของ GDP ภาคขนส่งทางบกไทย โดยคาดว่าจะเติบโตสูงขึ้นเป็น 4.33 แสนล้านบาทในปี พ.ศ. 2568 หรือคิดเป็นร้อยละ 27 ของ GDP ภาคขนส่งทางบกไทย
- มีผู้โดยสารใช้บริการ Ride-hailing ในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 2.4 ล้านคนต่อเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 11 ล้านคนต่อเดือนในปี พ.ศ. 2568
- มีผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารเพื่อให้บริการ Ride-hailing ในปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 105,000 คนต่อเดือน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 590,000 คนต่อเดือนในปี พ.ศ. 2568
ความคิดเห็นของผู้โดยสารที่ใช้บริการ Ride-hailing
- 82% ของคนกรุงเทพฯ ที่วางแผนจะซื้อรถยนต์ในอีก 5 ปีข้างหน้าระบุว่า เปลี่ยนใจที่จะไม่ซื้อรถยนต์หากบริการ Ride-hailing สามารถตอบโจทย์ได้ทั้งในด้านจำนวนรถเพียงพอกับความต้องการ ราคาที่เหมาะสม และเวลาที่ใช้ในการเรียกรถ
- 92% ของผู้โดยสารเห็นว่าบริการ Ride-hailing มีความปลอดภัยกว่าทางเลือกอื่นๆ
- 95% ของผู้โดยสารเห็นว่าบริการ Ride-hailing ช่วยเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ได้ง่ายขึ้น
- 77% ของผู้โดยสารระบุว่าการใช้บริการ Ride-hailing มีความสะดวกและช่วยประหยัดเวลาในการเรียกรถ
- 86% ของผู้โดยสารระบุว่าบริการ Ride-hailing มีส่วนช่วยให้มีเวลาเพิ่มขึ้นในการทำงาน หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ระหว่างการเดินทาง
ความคิดเห็นของผู้ขับขี่รถยนต์โดยสารเพื่อให้บริการ Ride-hailing
- บริการ Ride-hailing ช่วยสร้างงานและรายได้ให้กับผู้ที่ไม่ได้ประกอบอาชีพอื่น บุคคลว่างงาน และบุคคลที่เกษียณอายุแล้ว โดยคิดเป็น 60% ของผู้ขับในปัจจุบัน
- 99% ของผู้ขับที่เป็นแท็กซี่ระบุว่า แอปพลิเคชันเรียกรถเพื่อให้บริการ Ride-hailing ช่วยทำให้มีผู้โดยสารและมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
- 94% ของคนขับระบุว่า รายได้ที่เกิดขึ้นจากการให้บริการผ่านแอปพลิเคชันช่วยลดภาระหนี้สินได้
โดยท่านสื่อมวลชนสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลการศึกษาและวิจัยเชิงวิชาการในหัวข้อ "อุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน (Ride-hailing service): บทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย และความจำเป็นในการพัฒนาหลักเกณฑ์และกฎหมายให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน" ได้ในงานแถลงข่าวซึ่งจะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2562 เวลา 13.00 – 15.00 น. ณ ห้องประชุมริมน้ำ LA 107 ชั้น 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ท่าพระจันทร์