กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ในช่วง 2 ปีของการทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ของ "สุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล" มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย การปฏิบัติงานตามแผนยุทธศาสตร์ สสว. ปี 2564 ที่มีเป้าหมายว่าจะนำผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไปสู่ระดับนานาชาติ ด้วยกลยุทธ์คลุกวงใน ทำงานเชิงรุกและส่งเสริมเชิงลึก เพื่อสร้างความสามารถทางการแข่งขัน เพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ กระตุ้นและสร้างเครื่องมือเพื่อส่งเสริมให้ เอสเอ็มอีไทยสามารถแข่งขันในตลาดสากลได้
ปัจจุบันดิจิทัลเข้ามามีบทบาทอย่างมาก หากเอสเอ็มอีไทยปรับกระบวนการทำงานหรือบิสิเนสโมเดลไม่ทัน ความรู้ ความสามารถในอดีตอาจจะไม่ได้เป็นคำตอบในอนาคต สุวรรณชัย กล่าวว่า วิธีการคิดแบบ สสว. ในฐานะหน่วยงาน หลักที่เป็นศูนย์กลางขับเคลื่อน SME ทั้งประเทศ และหน่วยงานกลางที่ประสานเชื่อมโยงบูรณาการ 9 กระทรวง 25 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับ SME ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน การดำเนินงานในปี 2562 มี SME ที่ได้รับการส่งเสริมและพัฒนาแล้วกว่า 280,000 ราย และเกิดมูลค่าเพิ่มมากกว่า 4,000 ล้านบาท
"สสว. ได้พัฒนากลไกใหม่ เพื่อสร้างความเข้าใจในการตลาดอีคอมเมิร์ซ และพัฒนาเครือข่ายกับภาครัฐและเอกชน ผ่านแอปพลิเคชั่น SME Connext ที่รวบรวมองค์ความรู้การทำธุรกิจไว้ทั้งหมด ช่วยอำนวยความสะดวกให้ ผู้ประกอบการเข้าถึงกิจกรรมของ สสว. พร้อมกันนี้ยังได้จัดทำ เว็บไซต์ SME ONE (www.smeone.info) ขึ้นเพื่ออัพเดทสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเอสเอ็มอี เป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการ สร้างเครือข่ายธุรกิจและเข้าถึงความช่วยเหลือได้ง่ายขึ้น"
อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนของผู้ประกอบการ SME ทั่วประเทศ ที่มีมากถึง 3 ล้านราย SME แต่ละกลุ่มมีเป้าหมายไม่เหมือนกัน บางกลุ่มต้องการเข้าตลาดหลักทรัพย์ บางกลุ่มต้องการเติบโตในระดับนานาชาติ เราก็ต้องหาช่องทางหรือกลยุทธ์ที่ตอบโจทย์เอสเอ็มอีแต่ละกลุ่มได้ สสว. จึงมีเกณฑ์จำแนกกลุ่มผู้ประกอบการเพื่อสร้างกลยุทธ์การส่งเสริมที่เหมาะสมตามขนาดและบิสิเนสโมเดล นั่นคือ "รายได้ของธุรกิจ"
ผู้อำนวยการ สสว. อธิบายเพิ่มเติมถึงเกณฑ์ดังกล่าวว่า เอสเอ็มอีที่มีรายได้ต่ำกว่า 1,800,000 บาท จะจัดเป็นระดับไมโครทั้งหมด ธุรกิจที่รายได้ต่ำกว่า 50 ล้านบาท จัดเป็นระดับเอส (S) เป็น กลุ่มที่ต้องการการบ่มเพาะเชิงลึกเพื่อปรับธุรกิจให้สอดคล้องกับกลุ่ม ลูกค้า ในธุรกิจบางกลุ่มอาจจะมีรายได้ถึง 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นขนาดเอ็ม (M) จะมีวิธีการส่งเสริมผ่านการสร้างระบบเทรนเนอร์ เพื่อตอบโจทย์แต่ละกลุ่มที่ไม่เหมือนกัน จึงเกิดกิจกรรมพัฒนาโค้ช ในกิจกรรม "Train the Coach" เพื่อเข้าไปช่วยเหลือผู้ประกอบการ ขนาดกลางและขนาดย่อม ให้สามารถพัฒนาตัวเอง จนมีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจให้ทันกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปใน ยุค 4.0 เป้าหมาย 2,200 รายภายในระยะเวลา 3 ปี เพื่อสนับสนุน เอสเอ็มอี 11,000 เคส
"นอกจากนี้ อีกความภูมิใจของผมในปีที่ผ่านมา คือโครงการ SME Provincial Champion หรือสุดยอดเอสเอ็มอีระดับจังหวัด ที่มีเป้าหมายเพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นให้กับเอสเอ็มอีระดับจังหวัด เราดึงของดีของเด็ดขึ้นมา เช่น การท่องเที่ยว สินค้าเกษตร สมุนไพร งานฝีมือ ฯลฯ ในแต่ละปีจะมี 462 แชมเปี้ยนจาก 77 จังหวัด แล้วคัดเลือกจังหวัดละ 2 แชมเปี้ยนเพื่อพัฒนาและบ่มเพาะ ช่วยหาตลาด โดยเลือกพื้นที่ฟิวเจอร์ปาร์ครังสิต ในปี 2561 และในปีนี้ใช้กลไกเดิม แต่สร้างทางเชื่อมระหว่างอุตสาหกรรม พัฒนาเอสเอ็มอีแต่ละท้องถิ่นอย่างเป็นกระบวนการ โดยจับคู่ธุรกิจของสินค้ากับกลุ่มโมเดิร์นเทรด เช่น บิ๊กซี เซ็นทรัลฯ แม็คโคร คิง เพาเวอร์ ฯลฯ หรือธุรกิจสปา จับคู่กับโรงแรมระดับ 5 ดาว เป็นการขยายงานแบบต่อท่อ สร้างมูลค่าให้สินค้าชาวบ้านให้วางขาย ในโมเดิร์นเทรดได้ ทำให้ผู้ประกอบการมั่นใจและเชื่อในกลไก ภาครัฐว่าช่วยเขาถึงปลายทางที่แท้จริง"
ที่สุดแล้วคำตอบของทุกกลไกของการทำงาน สสว. จะต้องมีปลายทางที่การตลาด ในปี 2562 สสว. นำผู้ประกอบการเข้าทดสอบตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ ร่วมเวทีการประกวดระดับนานาชาติ เช่น การผลักดันผู้ประกอบการ สาขาแฟชั่นและไลฟ์สไตล์รุกตลาดสหรัฐอเมริกา ร่วมโชว์ศักยภาพในงานแสดงสินค้า TEXWORLD & APPAREL SORCING USA SUMMER 2019 ณ จาวิทส์ เซ็นเตอร์ มหานครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นตลาดหลักของอุตสาหกรรมแฟชั่น ขณะที่ตลาดในภูมิภาคอาเซียน สสว. มีกลุ่มเป้าหมายหลักประกอบด้วย ลาว กัมพูชา เมียนมา เวียดนาม และมาเลเซีย ซึ่งมีวัฒนธรรมการบริโภคสินค้าและพฤติกรรมผู้บริโภคคล้ายคลึงกับคนไทย
"ปีนี้เพิ่มโจทย์ที่ว่าเราต้องพา SME ไทยไปสู่ต่างประเทศ ให้ได้ โดยแนะแนวทางสำหรับเอสเอ็มอีที่ต้องการไปต่างประเทศ จากคำถามว่าสินค้าของคุณควรจะไปอยู่ในประเทศใดบ้าง คิดเป้าหมายตั้งแต่เริ่มต้นว่า จะส่งออกไปที่ไหน แล้วศึกษา Global niche ให้สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มย่อยหรือ Niche Marketing ในแต่ละพื้นที่เพื่อขยายสู่พื้นที่อื่น เช่น จุดเริ่มต้นของการกลายเป็นผู้ส่งออกปลากัดไทยคือประเทศญี่ปุ่น และจีน ซึ่งก็จะมีรายได้ระดับหนึ่ง แต่เมื่อนำองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์เสริมให้ผู้ประกอบการ เพิ่มการขยายเชิงธุรกิจ ทำให้เอสเอ็มอีเติบโต สามารถส่งออกมากกว่าจีนหรือญี่ปุ่น แต่ไปไกลถึงกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกา จนเกิดเป็นคลัสเตอร์ (Cluster) ซึ่งนอกจากปลากัดแล้ว ยังมีคลัสเตอร์ใหม่ๆ เกิดขึ้นในปีนี้ เช่น คลัสเตอร์สมุนไพรต่อยอด เป็นคลัสเตอร์มวยไทย แตกแขนงไปสู่กลุ่มสปอร์ตและ ไลฟ์สไตล์ กลุ่มแอนิเมชั่น Smart Farming และ Creative and Entertainment เมื่อกลุ่มธุรกิจรวมตัวกันได้และเติบโตได้ด้วยตนเอง สสว. ก็ส่งเสริมกลุ่มอื่นๆ ให้เติบโตต่อไป"
แนวโน้มของ SME จากนี้ไปน่าจับตาอย่างยิ่ง ถือเป็นก้าวสำคัญเพราะได้มาถึงจุดเปลี่ยน คือการปฏิรูป Digitalization ที่โลกดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญ ฉะนั้น SME ต้องตื่นรู้ ตื่นตัว และปรับตัวเองให้ทัน ใช้ความรู้ต่อยอดเพิ่มเติม ธุรกิจต้องเพิ่มมูลค่าและตรงใจกลุ่มลูกค้าเป้าหมายด้วย เรียกว่าต้องแตกต่าง โดดเด่นและโดนใจลูกค้า จึงจะประสบความสำเร็จ และนั่นหมายถึง ความสำเร็จของ สสว. เช่นกัน