กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น
มหาวิทยาลัยขอนแก่นลงนามความร่วมมือกับองค์การเภสัชกรรม วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ โดยยาเหน็บทวารหนัก นับเป็นอีกหนึ่งผลงานความสำเร็จภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งจะเป็นอีกวิธีในการนำส่งยาให้ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้
ศ.ภญ.บังอร ศรีพานิชกุลชัย คณะเภสัชศาสตร์ คณะกรรมการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนากัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาภายใต้ความร่วมมือ ว่า สืบเนื่องจากการลงนามข้อตกลงความร่วมมือวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ระหว่าง มหาวิทยาลัยขอนแก่น กับ องค์การเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ ให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับโรคต่างๆ หลายประเภท ซึ่ง ยาเหน็บทวารหนัก นับเป็นอีกผลงานความสำเร็จครั้งสำคัญที่อยู่ภายใต้กรอบความร่วมมือดังกล่าว เนื่องจากเป็นอีกวิธีในการนำส่งยาให้ผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ที่แพร่หลายในต่างประเทศ แต่คนไทยจำนวนไม่น้อยอาจจะไม่คุ้นเคยกับยาประเภทนี้ เนื่องจากคนไทยคุ้นเคยกับการทานยามากกว่าการใช้ในลักษณะยาเหน็บทวารหนัก
นอกจากนี้ในยาแผนพื้นบ้านเราได้ข้อมูลว่ามีการใช้น้ำมันกัญชาสวนเข้าทวารหนัก แต่เมื่อสวนเข้าไปจะไหลเลอะเทอะ ตัวยาก็ไม่ได้เข้าไป ฉะนั้นกรณีของ ยาเหน็บทวารหนักจากสารสกัดกัญชาที่ไวต่ออุณหภูมิของร่างกาย จึงน่าสนใจ เพราะเป็นอีกวิธีหนึ่งในการนำส่งยา เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่รู้ตัวหรือว่ากินยาไม่ได้ เช่น ผู้ป่วยเด็กที่ไม่ยอมกลืนยา ผู้ป่วยมะเร็งที่ไม่สามารถกลืนยาได้ ผู้ป่วยที่กลืนแล้วสำลัก
"เทคโนโลยีทางเภสัชกรรมที่เรานำมาประยุกต์ใช้ ภาษาอังกฤษเราเรียกว่า thermosensitive suppository เป็นยาเหน็บที่ไวต่ออุณหภูมิของร่างกาย สิ่งแวดล้อม ตัวยาจะใส่หลอดเหมือนหลอดฉีดยาเล็กๆ ในอุณหภูมิห้องเป็นของเหลว โดยเราจะใช้สารช่วยเมื่อสวนเข้าทวารหนัก อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นเล็กน้อย ของเหลวในหลอดจะแข็งตัวขึ้นกลายเป็นเจล ตัวยาจะค่อยๆปลอดปล่อย โอกาสที่จะถูกเปลี่ยนแปลงที่ตับก็จะน้อยลงกว่าการกิน การจะเข้าสู่ระบบประสาทที่มีตัว รับ THC CBD อาจจะลดน้อยลง เพราะฉะนั้นโอกาสเมายาก็จะลดน้อยลงด้วยเช่นกัน ลดอาการข้างเคียงจากกัญชาได้" ศ.ภญ.บังอร กล่าว
ศ.ภญ.บังอร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยาเหน็บจากสารสกัดกัญชาที่ไวต่ออุณหภูมิของร่างกายยังมีจุดเด่นที่สามารถควบคุม ปริมาณของสารสำคัญได้ ซึ่งแตกต่างจากการใช้น้ำมันกัญชาที่ไม่แน่ใจเรื่องปริมาณสารและมาตรฐาน โดยขั้นตอนต่อไป คือ การรออนุญาตจากองค์การเภสัชกรรม ทดสอบการใช้จริงในคนโดยใช้วัตถุดิบสารสกัดที่ไม่มีการปนเปื้อน รวมไปถึงรอการปลูกของคณะเกษตรศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น
"เท่าที่ดูผลิตภัณฑ์ต่างประเทศที่เป็นกัญชา ขณะนี้ยังไม่เห็นในรูปยาเหน็บ ความสำเร็จครั้งนี้น่าจะเป็นนวัตกรรมสำคัญ เป็นไปได้ว่าภายใน 2 ปีนี้ จะได้ใช้ยาดังกล่าว เป็นความภูมิใจที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาให้กัญชาโดยเฉพาะของประเทศไทยเราซึ่งมีอยู่เยอะเป็นโอกาสทั้งเชิงการแพทย์ การเกษตร ได้ประโยชน์เชิงเศรษฐศาสตร์ ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศด้วยเช่นกัน" ศ.ภญ.บังอร กล่าว
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาประมาณ 9-10 ชนิด ซึ่งนอกจากยาเหน็บจากสารสกัดกัญชาที่ไวต่ออุณหภูมิของร่างกาย ผลิตภัณฑ์ที่องค์การเภสัชกรรม มีความสนใจตรงกันยังประกอบด้วย 1. คือ แผ่นฟิล์ม หรือ เม็ดอมใต้ลิ้น ลักษณะเหมือนกับน้ำมันกัญชาแต่จะสามารถควบคุมปริมาณการใช้ได้ค่อนข้างดี 2. แผ่นแปะ เป็นเทคโนโลยีทางเภสัชกรรมที่ทันสมัย สำหรับใช้ภายนอก เมื่อแปะแล้วสารสำคัญจะถูกดูดซึมเข้าร่างกายไปในระบบเลือดได้ผลเหมือนกับการกินแต่ไม่ต้องใช้วิธีกิน
ในอดีตกัญชาถือเป็นยาเสพติด ประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติ ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 กระทั่งล่าสุด เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศให้กัญชาพ้นยาเสพติด ให้โทษในประเภท 5 โดย สาร CBD ( pure 99% ) จากกัญชา ถูกยกเว้นไม่เป็นยาเสพติด สามารถนำไปผสมในอาหาร เครื่องสำอางได้ และ สารสกัด (crude extract) ที่มี THC ปน ไม่เกิน 0.2 % สามารถเป็นยา และผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้ เมื่อเป็นการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา นับเป็นโอกาสดีของสถาบันต่าง ๆ ที่จะร่วมมือกับ องค์การเภสัชกรรม ทำให้เกิดข้อตกลงความร่วมมือวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์สารสกัดกัญชาเพื่อใช้ทางการแพทย์ เกิดนวัตกรรมทางเลือกใหม่ที่ดีต่อสุขภาพ สำหรับชาวไทยในอนาคต