กรุงเทพฯ--25 ก.ย.--โพลีพลัส พีอาร์
อัญมณี หรือ พลอยหลากสีสัน หลายคนอาจจะไม่เคยรู้มาก่อนว่า มนุษย์เราหลงใหลและรู้จักนำมาประดับประดา และใช้งานมานานกว่า 4,000 ปีแล้ว เพราะอัญมณีมีความงดงามแวววาว และหลากหลายสีสันที่แตกต่าง จึงทำให้อัญมณีหรือพลอยสีแต่ละชนิดล้วนแต่มีที่มาและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ทรงคุณค่าแตกต่างกัน ซึ่งตั้งแต่อดีตนอกจากจะเป็นเครื่องประดับที่มนุษย์ใช้ตกแต่งเพื่อความสวยงาม บ่งบอกถึงฐานะแต่ยังผสานรวมด้วยเรื่องราวทางความเชื่อพลังเร้นลับจากธรรมชาติ ด้วยเหตุนี้อัญมณีจึงเป็นมากกว่าหินสีอันสวยงามและเกิดจากธรรมชาติ แต่ยังมีคุณค่าทางจิตใจ
มร.โอมาร์ วาฮิต ฮัตต้า กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไอซีเอ เจม ลาบอราเทอรี่ จำกัด หรือ ICA | GemLab ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณีและผู้นำด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีการวิจัยและตรวจวิเคราะห์อัญมณี เล่าว่า "อัญมณีแต่ละชนิด มีความเกี่ยวข้องและผูกพันกับมนุษย์มาอย่างยาวนาน เพราะความงดงามชวนหลงใหล รวมถึงกรรมวิธีที่ยากลำบากกว่าจะขุดค้นพบ และเจียระไนออกมาเป็นอัญมณีที่หลายคนหมายปอง ด้วยคุณค่าทางจิตใจและมูลค่าราคาแพง เพราะเหตุนี้อัญมณีแต่ละชนิดจึงมีเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน โดยอัญมณีแต่ละประเภทที่เรารู้จักกันดี ต่างมีเรื่องราวที่แตกต่างกัน อาทิ ไพลิน (Blue Sapphire) พลอยสีน้ำเงิน หรือ แซฟไฟร์ มีที่มาจากภาษาเปอร์เซีย ชาวเปอร์เซียโบราณเชื่อกันว่าแซฟไฟร์เป็นหินที่มาจากฟ้า จึงเป็นของสูงค่า ในสมัยก่อนมักนำ ไพลิน มาใช้ในการประดับตกแต่งเสื้อคลุมของกษัตริย์ เพื่อแสดงสถานะของชนชั้นสูง และมีความเชื่อว่าเมื่อสวมใส่เครื่องประดับแซฟไฟร์สามารถป้องกันภัยอันตราย ช่วยเพิ่มพลังชีวิต และนอกจากนี้ยังเป็นสัญลักษณ์ของความจริงใจ และมั่นคงอีกด้วย จึงมักใช้เป็นอัญมณีทำเครื่องประดับเพื่อใช้เป็นสื่อแทนความรักมั่นคง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์ แซฟไฟร์จัดเป็นพลอยในประเภท คอรันดัม (Corundum) ซึ่งพลอยคอรันดัมนี้มีความแข็งรองลงมาจากเพชร จึงทำให้แซฟไฟร์ เหมาะอย่างยิ่งที่จะนำไปทำเครื่องประดับ ต่อมาคือ ทับทิม (Ruby) พลอยสีแดง เรียกว่า รูบี้ ซึ่งคำว่า Ruby มาจากคำว่า "Ruber" ในภาษาละติน หมายถึง สีแดง โดยทับทิมได้ถูกยอมรับว่าเป็น ราชาแห่งอัญมณี และมีความเชื่อว่า ทับทิมจะช่วยปกป้องผู้เป็นเจ้าของจากความโชคร้าย อีกทั้งยังถูกกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิ้ลว่า ทับทิมเป็นดั่งความมีสติปัญญาอันล้ำเลิศ และเชื่อกันว่า ผู้ใดมีทับทิมสีแดงสดใส ไม่มีตำหนิ จะทำให้ผู้นั้นมีอำนาจ ทับทิมจึงเป็นอัญมณีที่มักนำมาประดับมงกุฎของกษัตริย์และใช้สวมใส่ออกรบในสงคราม โดยทับทิม จัดเป็นพลอยอยู่ในประเภท คอรันดัม เช่นเดียวกับไพลิน โดยธรรมชาตินั้นทับทิมมักมีเนื้อขุ่นและมีตำหนิมาก บางชิ้นทึบแสงดูไม่สวยงาม ดังนั้นทับทิมสีที่หายากมากคือ สีแดงสดแบบเลือดนกพิราบ เนื้อใสสะอาดสมบูรณ์แบบ มีราคาสูงถึงหลักล้าน ถัดมาคือ มรกต (Emerald) หรือ ที่รู้จักกันว่าคือพลอยสีเขียว โดยคำว่า Emerald มาจากภาษากรีกว่า Smaragdos แปลว่า หินสีเขียว ซึ่งเป็นสีที่เป็นต้นกำเนิดของสิ่งมีชีวิต สีแห่งความอุดมสมบูรณ์จึงเชื่อกันว่ามรกตนำมาซึ่งโชคลาภ ความร่ำรวย มรกตเป็นที่รู้จักกันมาตั้งแต่สมัยอียิปต์ มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์บันทึกว่า พระนางคลีโอพัตราเคยเป็นเจ้าของเหมืองมรกตใกล้ทะเลแดงในอียิปต์และจากการขุดค้นทางโบราณคดี พบว่ามีการแกะสลักมรกตเป็นรูปตัวด้วงและแมลงมีปีกต่างๆ ในทางวิทยาศาสตร์มรกต เป็นอัญมณีอยู่ในประเภท เบริล โดยธรรมชาติแล้วมรกตจะเป็นอัญมณีที่มีตำหนิหรือมลทินมาก ซึ่งมรกตคุณภาพดีจะต้องพิจารณาจากปริมาณและการวางตัวของตำหนิ ซึ่งตำหนิอาจจะมีผลกับการส่องประกายแสงออกมาจากมรกต ซึ่งมรกตเป็นอัญมณีที่นิยมทำเลียนแบบสังเคราะห์และปรับปรุงคุณภาพ ด้วยการอาบน้ำมัน ชุบสี เคลือบสี และแช่สารเคมีเฉพาะ ดังนั้นจึงควรตรวจสอบก่อนการซื้อ บางกรณีนั้นไม่สามารถแยกออกด้วยตาเปล่า ต้องตรวจวิเคราะห์ด้วยห้องปฏิบัติการที่น่าเชื่อถือ ต่อมาคือ โกเมน (Garnet) คำว่า Garnet มาจากภาษาละติน Grantus หมายถึง ลักษณะเป็นเม็ด คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า โกเมน คือพลอยเนื้อใสสีแดงก่ำ อาจจะอมน้ำตาลหรือส้ม แต่ในความเป็นจริงแล้ว โกเมนมีสีมากมายหลากหลาย ทั้ง ชมพู แดง ม่วง ส้ม เหลือง เขียว มีเพียงสีเดียวเท่านั้นที่ไม่มี คือ สีน้ำเงิน โกเมนเป็นอัญมณีอีกชนิดหนึ่งที่มีประวัติยาวนานมานับพันปี ในสมัยอียิปต์ ถูกยกเป็นสัญลักษณ์ของการมีชีวิต นิยมนำโกเมน มาทำการรักษาโรคภัยไข้เจ็บบางชนิดได้ โดยนำมาบดให้ละเอียดแล้วผสมกับสมุนไพร บางชนิด กับน้ำสะอาด แล้วนำไปดื่ม หรือ นำไปพอกตามตัวของผู้ป่วย ซึ่งโกเมนสีแดงบางครั้งก็มีสีสันสวยงามมากจนทำให้มักเข้าใจผิดว่าเป็นทับทิม แต่โกเมนต่างกับทับทิมคือ โกเมนส่วนใหญ่ มีสีแดงอมน้ำตาล แต่ทับทิมมีสีแดงสดใสและโกเมนมีความแข็งน้อยกว่าทับทิม นอกจากการสังเกตจากภายนอกด้วยสายตาแล้ว สามารถใช้วิธีการตรวจด้วยห้องปฏิบัติการ เพราะสามารถวัดถึงองค์ประกอบทางเคมีและแหล่งต้นกำเนิดได้อีกด้วย
ปัจจุบันการตรวจสอบอัญมณีเครื่องประดับด้วยห้องปฏิบัติการกำลังเป็นที่นิยมไม่ใช่แค่ในภาคอุตสาหกรรมผู้ค้าอัญมณี แต่นิยมในบุคคลทั่วไปที่ชื่นชอบในเครื่องประดับอัญมณีอีกด้วย เนื่องจากทำให้ทราบถึงคุณภาพของอัญมณีในครอบครองอยู่ว่าเป็นของแท้หรือไม่ ผ่านการปรับปรุงคุณภาพผ่านกระบวนการเคมีหรือกรรมวิธีทางอุณหภูมิมาก่อนหรือไม่ สามารถบอกถึงแหล่งต้นกำเนิด คุณภาพของระดับสี ซึ่งระดับของสีมีผลต่อมูลค่าในการซื้อขาย นอกเหนือจากปัจจัยจากแหล่งที่มาต้นกำเนิด กระบวนการตรวจวิเคราะห์ต่างๆ เหล่านี้ ต้องตรวจโดยห้องปฏิบัติการที่ได้รับการยอมรับและมีมาตรฐานสูง มีความพร้อมในด้านบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ เทคโนโลยีทันสมัยครอบคลุมทุกขั้นตอน ที่สำคัญต้องมีฐานข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์เปรียบเทียบอัญมณีที่หลากหลาย จึงจะได้ผลการตรวจสอบที่ถูกต้องแม่นยำ และสามารถออกใบรับรองรายงานการวิเคราะห์ตรวจสอบ (Certificate) ที่ได้รับการยอมรับในระดับมาตรฐานสากล
ร่วมค้นหาความหมายและคุณค่าของอัญมณีที่ครอบครอง พร้อมส่งต่อมรดกแห่งคุณค่าทางจิตใจ ได้ที่ ICA | GemLab ห้องปฏิบัติการ ผู้เชี่ยวชาญด้านอัญมณี และผู้นำด้านวัตกรรมเทคโนโลยีการวิจัยและตรวจวิเคราะห์อัญมณี สำนักงานใหญ่ ชั้น 6อาคารจิวเวลรี่เทรดเซ็นเตอร์ ถนนสีลม กรุงเทพฯ เปิดให้บริการจันทร์ – ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 18.00 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร. 02-630-0001 และ www.icagemlab.com