กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--เอบีเอ็ม คอนเนค
เนสท์เล่ประกาศพันธกิจระดับโลกในการมุ่งมั่นลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ภายในปี 2050 หรือพ.ศ. 2593 ซึ่งเป้าหมายนี้สอดคล้องกับความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ต้องการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส
การประกาศพันธกิจดังกล่าวสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเนสท์เล่ในการเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกมาตลอดทศวรรษ ซึ่งกว่าสี่ปีที่ผ่านมา บริษัทได้ปรับเป้าหมายให้เป็นไปตามหลักวิทยาศาสตร์เพื่อรักษาระดับการเพิ่มของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส โดยเนสท์เล่มุ่งมั่นเป็นผู้นำในการเร่งดำเนินการเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และในอีกสองปีข้างหน้า จะมีการวางแผนกรอบเวลาชัดเจน พร้อมทั้งตั้งเป้าหมายระหว่างดำเนินงานให้สอดคล้องกับเป้าหมายใหญ่ในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส รวมทั้งติดตามผลทุกปีเพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานเป็นไปตามแผนที่วางไว้
"การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุดที่มวลมนุษยชาติต้องเผชิญ ทั้งยังเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ส่งผลต่ออนาคตในการดำเนินธุรกิจของเรา" มาร์ก ชไนเดอร์ ซีอีโอของเนสท์เล่ กล่าว "เราหมดเวลาที่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เราจึงต้องตั้งเป้าหมายที่ท้าทายมากขึ้น เพื่อลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิในอนาคตให้เป็นศูนย์ให้ได้ ด้วยทรัพยากรต่างๆ ที่เนสท์เล่มี รวมถึงวิทยาการความรู้ต่างๆ ในอุตสาหกรรม เราสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญให้เกิดขึ้นได้ ซึ่งเส้นทางสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ได้เริ่มขึ้นแล้ว และเรากำลังเร่งมืออย่างสุดความสามารถในการทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ" เขากล่าวเสริม
แผนปฏิบัติการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ท้าทายในปี 2050 ประกอบด้วย
- เร่งปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับเทรนด์และทางเลือกของผู้บริโภค เนสท์เล่จะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีโภชนาการที่เหมาะสมมากขึ้น ซึ่งรวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มที่ทำจากพืช นอกจากนี้ เนสท์เล่จะหาแนวทางปรับสูตรผลิตภัณฑ์ให้มีส่วนผสมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กลยุทธ์หลักของเนสท์เล่จึงต้องสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงนี้ พร้อมทั้งเลือกใช้วัสดุบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
- ขยายโครงการด้านการเกษตรเพื่อช่วยดูดซับคาร์บอนเพิ่มขึ้น เนสท์เล่จะเดินหน้าโครงการต่างๆ ที่ทำกับเกษตรกรเพื่อฟื้นฟูสภาพดินและจำกัดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งรวมถึงการจัดการห่วงโซ่อุปทานของผลิตภัณฑ์นมให้ดีขึ้น การเร่งดำเนินการปกป้องผืนป่า ด้วยการปลูกป่าเพื่อฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ โครงการต่างๆ เหล่านี้ จะช่วยสร้างสังคมการเกษตรที่แข็งแกร่ง
- ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน 100% ทั้งในโรงงาน คลังสินค้า ระบบโลจิสติกส์ และสำนักงานต่างๆ ทั่วโลกของเนสท์เล่ ปัจจุบันหนึ่งในสามของโรงงานเนสท์เล่ทั้งหมดได้ใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทดแทน 100% แล้ว และจะเพิ่มปริมาณการใช้พลังงานจากทรัพยากรหมุนเวียนให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการลงทุนจากบริษัทคู่ค้าในโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เช่น พลังงานลม และ พลังงานแสงอาทิตย์
การจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ต้องอาศัยการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของทั้งอุตสาหกรรม ภาครัฐและสังคมทั้งระบบ ซึ่งเนสท์เล่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วน ร่วมเดินหน้าไปสู่เป้าหมาย 1.5 องศาด้วยกัน ซึ่งการออกกฎหมายที่สนับสนุนเป้าหมายดังกล่าวจะช่วยลดอุปสรรคในการขยายตลาดพลังงานทดแทน จูงใจให้เกิดนวัตกรรมในภาคเกษตรและป่าไม้ที่จะช่วยลดคาร์บอนได้มากขึ้น และช่วยกำหนดราคาคาร์บอนด้วย
แม็กดิ บาตาโต รองประธานคณะกรรมการบริหารและหัวหน้าฝ่ายปฏิบัติการของเนสท์เล่ กล่าวว่า "เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางสู่เป้าหมาย 1.5 องศา เราต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานใหม่ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญทั้งในด้านการผลิตส่วนผสมรวมทั้งการหาแหล่งวัตถุดิบ เราจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากบริษัทคู่ค้าเพื่อทำให้ภารกิจอันยิ่งใหญ่นี้ให้เป็นจริงให้ได้"
เป้าหมาย 2050 ของเนสท์เล่ ทำให้การดำเนินการอย่างต่อเนื่องในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานมีความชัดเจนเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ เนสท์เล่ยังบริหารเส้นทางการขนส่งในระบบการกระจายสินค้าและคลังสินค้าต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ อีกด้วย ทั้งนี้ ในช่วงสี่ปีที่ผ่านมาศูนย์กระจายสินค้า 100 แห่งของบริษัทสามารถลดการปล่อยก๊าซรวมกันได้เกือบ 40% เนสท์เล่ได้ปฏิบัติการอย่างเข้มงวดเพื่อให้มีการจัดซื้อจัดหาวัตถุดิบอย่างมีความรับผิดชอบ และเป็นไปตามแผนสู่เป้าหมายการไม่ทำลายป่า โดยตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา อัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากห่วงโซ่ทางคุณค่าทั้งระบบ ลดลงเทียบเท่ากับการไม่ใช้รถถึง 1.2 ล้านคันบนท้องถนน