MTJA องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย จัดงานสานสัมพันธ์ ฉลอง 40 ปี ความสำเร็จบนพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย

ข่าวทั่วไป Thursday September 26, 2019 17:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--อินเด็กซ์ ครีเอทีฟวิลเลจ องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย หรือ MTJA จัดงาน Malaysia-Thailand Joint Authority 40th Anniversary Celebration ของการลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างราชอาณาจักรไทยและมาเลเซียเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรร่วมเพื่อแสวงประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area: JDA) ในอ่าวไทย ผลงานความร่วมมือระหว่างประเทศที่ได้รับการชื่นชมจากนานาชาติในเวทีระหว่างประเทศที่สามารถแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนอย่างสร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ พร้อมเดินหน้าสร้างความสัมพันธ์ โดยผู้แทนสองประเทศร่วมตอกย้ำถึงความร่วมมือในอนาคต โดยการจัดงานครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก ดาโต๊ะศรี โมฮัมเหม็ด อั๊สมิน อาลี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของมาเลเซีย และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของไทย ร่วมเป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ประธานกรรมการร่วมฝ่ายไทย องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย, ตันศรี ดร.ราฮาหมัด บีวี ยู-ซอฟ ประธานกรรมการร่วมฝ่ายมาเลเซีย, ดร.วิศรุต ตั้งสุนทรขัณฑ์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย, Mr.Muluk Wahab Deputy Chief Executive officer of Malaysia-Thailand joint Authority และคณะผู้บริหารระดับสูงทั้งจากประเทศไทยและมาเลซียกว่า 300 คน จัดงาน ณ โรงแรมสยามเคมปินสกี้ เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา สำหรับบรรยากาศในงาน ได้มีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเป็นมาและความสำเร็จตลอด 40 ปี ขององค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJA), นิทรรศการด้านพลังงานจากบริษัทชั้นนำอย่าง บริษัท PTTEP, PETRONAS, HESS รวมทั้งการมอบโล่ขอบคุณองค์กรที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย, การแสดงมินิคอนเสิร์ตจากกบ เสาวนิตย์ ศิลปินสาวดีว่าเมืองไทย, การแสดงวัฒนธรรม 4 ภาคจากประเทศไทย และตื่นตาตื่นใจกับการแสดง Zapin Dance จากมาเลเซีย และการแสดงเมดเลย์ไทย-มาเลเซีย กับ Likay Hulu ที่ผสมผสานศิลปวัฒนธรรม 2 ประเทศเพื่อสื่อถึงความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมายาวนาน องค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJA) ถือเป็นภารกิจอันยิ่งใหญ่ในการปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐบาลเกี่ยวกับการดูแลสำรวจและแสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมบนพื้นฐานของการแบ่งปันผลประโยชน์อย่างเท่าเทียม บนพื้นที่ประมาณ 7,250 ตารางกิโลเมตร ทั้งการจัดการค่าใช้จ่ายและผลประโยชน์ที่เกิดจากกิจกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่พัฒนาร่วมฯ ภายใต้เงื่อนไขของระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) เป็นระยะเวลา 50 ปี ซึ่งรัฐบาลไทยและมาเลเซีย รับภาระและแบ่งปันโดยเท่าเทียมกันในสัดส่วน 50:50 นับเป็นการแสวงหาผลประโยชน์ด้านปิโตรเลียมร่วมกันและแก้ไขข้อพิพาทได้อย่างสันติ จนเป็นที่ยอมรับจากนานาชาติ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีความความสำคัญและสร้างผลประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างมหาศาล เพราะเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ที่ส่งเข้าไทยเฉลี่ย 509 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 16 ของการจัดหาก๊าซของประเทศ (3,252 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน) โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือส่วนแรกถูกส่งไปยังจังหวัดสงขลาและโรงไฟฟ้าจะนะจำนวน 163 ล้าน ลบ.ฟุต เพื่อเป็นเชื้อเพลิงหลักในการขนส่งของภาคใต้ตอนล่างและส่งก๊าซให้กับสถานีบริการ NGV ทั้ง 12 แห่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี ส่วนที่สองจะถูกส่งไปยังจังหวัดระยองจำนวน 346 ล้าน ลบ.ฟุต เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าของภาคกลางและภาคตะวันออก ในปัจจุบันบนพื้นที่พัฒนาร่วมนี้มีแหล่งผลิตปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ จำนวน 3 แปลง ได้แก่ แปลง A-18, แปลง B-17& C-19 และ B-17-01 ซึ่งมีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจหลายด้าน ทั้งการสร้างงานให้กับผู้คนได้มากกว่า 50,000 ตำแหน่ง สนับสนุนทุนวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยในมาเลเซียและไทยจำนวน 16 โครงการมากกว่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐ และข้อมูลในปี 2562 พบว่าพื้นที่ดังกล่าวสามารถผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาได้เฉลี่ยประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ผลิตคอนเดนเสทหรือก๊าซธรรมชาติเหลวเฉลี่ยประมาณ 16,700 บาร์เรลต่อวัน รวมรายได้ที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศประมาณ 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในด้าน "ผลกำไรที่จับต้องไม่ได้" คือการแลกเปลี่ยนความรู้การสร้างทักษะ กำลังการผลิต และการเติบโตของฐานการวิจัยที่แข็งแกร่งในแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติ หลังจากครบ 50 ปีของการลงนามบันทึกความเข้าใจในปี พ.ศ. 2572 ทั้งประเทศไทยและมาเลเซียเชื่อมั่นว่าจะยังดำเนินการความร่วมมือต่อไปด้วยการขยายขอบเขตการทำงานที่มากขึ้นเพื่อยกระดับสภาพความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของผู้คนที่อาศัยในพื้นที่ชายแดนของ 2 ประเทศ และยังมีแนวโน้มที่จะขยายความร่วมมือเช่นเดียวกันนี้ไปยังประเทศอื่นๆในภูมิภาคอาเซียนด้วยเช่นกัน นอกจากการพัฒนาด้านพลังงานแล้ว ระหว่างสองประเทศยังมีกรอบในการดำเนินงานด้านความยั่งยืนทั้งระยะสั้นและระยะยาวสำหรับสังคมและชุมชน ในรูปแบบกองทุนที่จัดตั้งโดย MTJA เพื่อทำการวิจัยเทคโนโลยีและพลังงานสะอาด สร้างการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานในเชิงลึก สร้างการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในการเรียนรู้และแบ่งปันความรู้เพื่อส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไปในอนาคตที่จะยึดมั่นในวิถีและแนวคิดเพื่อให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ