กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--สอวช.
เมื่อวันที่ 26 กันยายน ในงาน CEO Innovation Forum 2019 จัดโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) มีการจัดเวทีประชันความคิดของนักวิจัยในหัวข้อ "The Next Gen for the Future" โดย ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์ หน่วยวิจัยเทคโนโลยีการตรวจวินิจฉัยทางชีวภาพ ไบโอเทค กล่าวว่า จะดีแค่ไหนถ้าคนไทยสามารถคิดค้น และผลิตนวัตกรรมขึ้นมาและได้รับการยอมรับในระดับโลก เราคงรู้สึกภูมิใจ เหมือนกับที่ เกาหลี ญีปุ่น อเมริกา ที่มีผลิตภัณฑ์มากมายที่เกิดจากการคิดค้นและได้รับการยอมรับของคนทั่วโลก ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าบ้านเราทำไม่ได้ แต่ผู้นำต้องเปลี่ยนมายด์เซ็ท ทัศนคติ ให้ความสำคัญกับงานวิจัย และใจกว้างพอที่จะอดทนรอ แม้เงินลงทุนน้อยแต่ไม่ได้หมายความว่าสู้เขาไม่ได้ ปลาใหญ่เล็กไม่สำคัญ อยู่ที่ว่าใครว่ายเร็วกว่า
ดร.วศะพร จันทร์พุฒ คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสรตร์ ชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยได้เปรียบด้านความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นเจ้าของวัตถุดิบและขายให้กับต่างชาติในราคาถูก แต่เรากลับซื้ออินเกรเดี้ยนกลับมาในราคาที่แพงมาก คำถามคือทำไมเราไม่ผลิตเอง เรามีนักวิจัยที่เก่ง มีวัตถุดิบเอง แต่ขาดจุดเชื่อมโยงและการสนับสนุนที่จะช่วยผลักดันให้ไทยมีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ซึ่งความได้เปรียบเหล่านี้สามารถต่อยอดโดยเฉพาะด้านอาหารและการแพทย์จีโนมิกส์ ที่สามารถจะนำพาประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางได้
ดร.วรวัฒน์ มีวาสนา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุรนารี กล่าวถึงการวิจัยขั้นแนวหน้าที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการผลักดันให้ไทยมีบทบาทในวงการเทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง โดยสิ่งเหล่านี้เป็นการวางแผนอนาคตเพื่อประเทศไทย ให้เรามีชีวิตที่ดีในอนาคต มีพลังงานสะอาด การแพทย์ก้าวหน้าและเข้าถึงได้ มีความมั่นคงทางอาหาร เป็นต้น
ดร.ธนภัทร ดีสุวรรณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พูดถึงเทคโนโลยีด้านควอนตัมที่สามารถพลิกโฉมวงการวิทยาศาสตร์ โดยสามารถนำมาใช้ทั้งด้านคอมพิวเตอร์ พลังงาน วัสดุ การแพทย์ แม้แต่อุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเราต้องเริ่มทันทีเพื่อรองรับความท้าทายในอนาคต อีกทั้งประเทศไทยเองก็มีความสามารถในการแข่งขันได้ในระดับโลก สิ่งที่อยากฝากไว้คือ เรื่องที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีมันไม่ใช่เรื่องไกลตัว นักวิทย์ฯไทยก็เก่งหลายคน หากได้รับความร่วมมือจากภาครัฐ เอกชน รวมถึงนักวิจัยเองก็จะช่วยผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้