กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
26 ก.ย.62 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะผู้อำนวยการกลาง เปิดเผยว่า ขณะนี้หลายจังหวัดสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว แต่ยังคงมีพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขัง กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) จึงได้สั่งการ 30 จังหวัดที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลาย แยกเป็น ภาคเหนือ 10 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด ภาคตะวันออก 3 จังหวัด และภาคใต้ 3 จังหวัด เร่งสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อเข้าสู่กระบวนการเยียวยาและฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว รวมถึงวางมาตรการให้การช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างเหมาะสมและครอบคลุมทั้งการดำรงชีพ สาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน การคมนาคม การประกอบอาชีพ (เกษตร ประมง ปศุสัตว์) ทั้งนี้ ให้วางแนวทางการฟื้นฟูและช่วยเหลือประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน และให้ประชาชนได้รับการช่วยเหลือรวดเร็ว ทั่วถึง โดยเน้นย้ำการดำเนินงาน ใน 2 ด้าน ได้แก่ 1) การช่วยเหลือประชาชนที่บ้านเรือนเสียหายจากอุทกภัย ให้เร่งสำรวจบ้านเรือนที่ได้รับความเสียหาย โดยต้องเป็นบ้านเรือนที่อยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (อุทกภัย) พร้อมให้จัดทำรายละเอียดความเสียหายให้ครบถ้วน สมบูรณ์ แยกเป็น บ้านเรือนเสียหายเล็กน้อย (น้อยกว่า 30%) เสียหายมาก (30-70%) และเสียหายทั้งหลัง (มากกว่า 70%) เพื่อพิจารณาให้การช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ให้จังหวัดบูรณาการหน่วยทหาร ช่างท้องถิ่น จิตอาสา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทีมช่างประชารัฐเข้าดำเนินการซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายโดยเร็ว พร้อมแบ่งมอบภารกิจ พื้นที่ปฏิบัติงาน กำหนดแผนปฏิบัติการ ระยะเวลาดำเนินการให้ชัดเจน 2) การสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย โดยในเบื้องต้นให้บูรณาการเครื่องจักรกล ทั้งของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ปรับพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายให้สามารถกลับมาทำการเกษตรได้ และให้เร่งทำการสำรวจเพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโดยเร็ว 3) การสำรวจข้อมูลครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบ ให้เร่งสำรวจข้อมูลให้ถูกต้องและครบถ้วน มิให้ซ้ำซ้อน เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
"ในส่วนของพื้นที่ที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัย 2 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังมีน้ำท่วม ให้เน้นการดูแลด้านการดำรงชีพ โดยแจกจ่ายถุงยังชีพตามวงรอบอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย รวมถึงดูแลระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา โครงสร้างพื้นฐานให้สามารถใช้การได้ ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ประสบภัยในศูนย์พักพิงชั่วคราว ทั้งด้านสุขภาพ สุขอนามัย สภาพจิตใจ และความปลอดภัย ส่วนบางอำเภอที่สถานการณ์คลี่คลาย ให้เร่งสำรวจความเสียหาย โดยระบุพื้นที่เป้าหมายให้ชัดเจน พร้อมยึดการปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็ว" นายชยพลกล่าว
นายชยพล กล่าวถึงการระบายน้ำในพื้นที่ที่มีสถานการณ์อุทกภัย ว่า บกปภ.ช.ได้กำชับให้ระดมเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เครื่องสูบส่งน้ำระยะไกล เพื่อเร่งผลักดันน้ำและระบายน้ำออกจากพื้นที่ให้ได้มากที่สุด ส่วนพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแนวทางการดูแลและแก้ไขปัญหาน้ำเน่าเสีย เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม รัฐบาล โดย บกปภ.ช. ได้บูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยทหาร ฝ่ายพลเรือน และภาคประชาสังคม เพื่อดูแลประชาชนอย่างเต็มกำลัง และบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัยให้ได้มากที่สุด