กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
นางอัญชนา ตราโช รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์สับปะรดโรงงานปี 2562 (ข้อมูล ณ 11 สิงหาคม 2562) คาดว่ามีเนื้อที่เก็บเกี่ยวรวมทั้งประเทศ 480,680 ไร่ ลดลงจากปีที่ผ่านมา ร้อยละ 14 ให้ผลผลิตรวม 1.68 ล้านตัน ลดลงร้อยละ 28 และผลผลิตต่อเนื้อที่เก็บเกี่ยว 3,455 กิโลกรัม/ไร่ ลดลงร้อยละ 16 สาเหตุที่เนื้อที่เก็บเกี่ยวและผลผลิตลดลง เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 มีราคาลดลงอย่างต่อเนื่องถึงเดือนกรกฎาคม 2561 เกษตรกรจึงปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น และบางส่วนปล่อยทิ้ง ไม่ดูแล รวมทั้งเกษตรกรรายใหม่ยกเลิกพื้นที่เช่าปลูกเพื่อคืนนายทุน กอปรกับประสบภาวะแล้ง
สำหรับแหล่งผลิตสับปะรดโรงงานส่วนใหญ่ร้อยละ 67 อยู่ที่ภาคกลาง รองลงมาคือ ภาคเหนือ ร้อยละ 21 โดยจังหวัดที่เป็นแหล่งผลิตสำคัญ คือ ประจวบคีรีขันธ์ ราชบุรี ระยอง เพชรบุรี พิษณุโลก ทั้งนี้ โดยปกติผลผลิตจะออกสู่ตลาดทั้งปี แต่จะกระจุกตัว 2 ช่วง คือช่วงเดือนเมษายน ถึง เดือนมิถุนายน และช่วงเดือนตุลาคม ถึง ธันวาคม ซึ่งหากพิจารณาด้าน ราคา พบว่า ราคาเฉลี่ยเดือน มกราคม ถึง สิงหาคม 2562 กิโลกรัมละ 5.29 บาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกัน ของปีที่ผ่านมาร้อยละ79.32 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าราคา จะมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 แต่โรงงานแปรรูปยังคงต้องทำการผลิตตามภาวะตลาดโลกที่ยังชะลอตัว ส่งผลให้ราคายังคงมีความผันผวนสูง
ดังนั้น จึงอยากแนะนำเกษตรกรพิจารณาวางแผนการเพาะปลูก และไม่ควรขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจังหวัดที่อยู่ไกลโรงงานแปรรูปสับปะรด เพราะอาจส่งผลต่อผลผลิตในปีถัดไปจนเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาดและกระทบต่อราคาที่เกษตรกรขายได้แบบเช่นที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม หากจังหวัดที่ห่างไกลที่ตั้งโรงงานแปรรูป แต่มีศักยภาพผลิตเพื่อส่งเข้าโรงงาน เกษตรกรควรมีการทำสัญญาข้อตกลงซื้อขายกับโรงงาน ส่วนจังหวัดที่มีศักยภาพในการผลิตสับปะรดบริโภคสด ควรลดพื้นที่ปลูกสับปะรดโรงงานในพื้นที่ไม่เหมาะสมและเปลี่ยนไปปลูกสับปะรดสดหรือพืชชนิดอื่นที่ความเหมาะสมกับพื้นที่แทน ทั้งนี้ เกษตรกรควรมีการผลิตตามหลัก GAP และขึ้นทะเบียนเกษตรกร รวมถึงเข้าร่วมโครงการเกษตรแปลงใหญ่ให้มากขึ้น โดยหน่วยงานภาครัฐ มีการส่งเสริมการผลิตสับปะรดสดแบบแปลงใหญ่และส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อจะช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับเกษตรกร
รองเลขาธิการ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน นอกจากภาครัฐจะมีนโยบายด้านการผลิต โดยส่งเสริมการผลิตตามพื้นที่ Agri-Map การส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ ส่งเสริมการผลิตพันธุ์สับปะรดบริโภคสด และส่งเสริมการทำเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming) ให้เป็นรูปธรรมแล้ว ในด้านการแปรรูป ยังเร่งศึกษาลู่ทางการลงทุนด้านอุตสาหกรรมแปรรูปสับปะรดด้านนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพและผลิตภัณฑ์ความงาม การเพิ่มมูลค่าจากใบสับปะรดด้วยการผลิตเป็นเส้นใย การผลิตสารสกัดจากสิ่งเหลือใช้อีกด้วย ในขณะเดียวกัน ด้านการตลาด เร่งดำเนินการขยายตลาดส่งออกสับปะรดสดและผลิตภัณฑ์ ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าบนสื่อออนไลน์ www.thaitrade.com ส่งเสริมการรวบรวม จำหน่ายผ่านกลไกรูปแบบประชารัฐ ตลอดจนรณรงค์บริโภคสับปะรดและผลิตภัณฑ์ภายในประเทศให้มากขึ้น
ทั้งนี้ อยากขอเชิญชวนทุกท่าน หันมาบริโภคสับปะรดผลสดให้มากขึ้น เพราะนอกจากมีสรรพคุณในการขับปัสสาวะช่วยบรรเทาอาการท้องผูกแล้ว แกนสับปะรดยังมีเอนไซม์บรอมีเลนเพื่อช่วยย่อยอาหาร บรรเทาอาการจุกเสียดและช่วยให้ร่างกาย สดชื่นได้เป็นอย่างดี ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกในการผลิตเพิ่มขึ้นแทนการพึ่งพาการผลิตเพื่อส่งเข้าโรงงานแปรรูปเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นการช่วยลดปัญหาผลผลิตสับปะรดโรงงานล้นตลาดได้อีกทางหนึ่ง