กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย
หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย ร่วมกับหอการค้านานาชาติ สำนักงานใหญ่ กรุงปารีส เปิดตัว "Incoterms(R) 2020" ที่เป็นเงื่อนไขการซื้อขายสินค้าซึ่งเป็นที่ยอมรับทั่วโลก เร่งส่งเสริมผู้ประกอบการใช้มาตรฐานเงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศฉบับแก้ไขล่าสุด เพื่อสร้างความมั่นใจและเพิ่มศักยภาพธุรกิจไทยในการทำการค้าทั่วโลก
นายชาติชาย พานิชชีวะ ประธานหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand) เปิดเผยว่า "กฎ Incoterms(R) 2020 อำนวยความสะดวกในการทำการค้าของไทยและการค้าทั่วโลก ซึ่งมีมูลค่าเป็นล้านล้านดอลลาร์ต่อปี โดยจะช่วยให้ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกเข้าใจถึงภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของคู่ค้า และหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดที่อาจจะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายสูงโดยไม่จำเป็น กฎเหล่านี้เป็นการสร้างรูปแบบของภาษาด้านธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ และช่วยสร้างความมั่นใจในระบบการค้าโลกที่มีมูลค่าสูง เพื่อให้สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของหอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย ที่จะทำให้ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างทั่วถึง จึงได้จัดทำคำแปล Incoterms(R) 2020 เป็นภาษาไทย เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการค้าในประเทศไทยให้เกิดความเข้าใจมากขึ้นและเลือกใช้กฎได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
กฎ Incoterms(R) (International Commercial Terms) ได้ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกโดย ICC ในปี
ค.ศ. 1936 ด้วยการสร้างคำจำกัดความและกฎระเบียบซึ่งเป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าระหว่างคู่ค้าทั่วโลก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ICC ได้ปรับปรุงกฎ Incoterms เป็นระยะ ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการค้าระหว่างประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการค้าสามารถเข้าถึงและใช้ Incoterms(R) 2020 ได้ง่ายขึ้น ได้มีการจัดทำคำอธิบายสำหรับผู้ใช้ให้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้น พร้อมทั้งภาพกราฟิกที่คมชัดเพื่อแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของผู้นำเข้าและผู้ส่งออกในแต่ละกฎของ Incoterms ในบทนำของ Incoterms 2020 ยังมีคำอธิบายอย่างละเอียดเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับวิธีการเลือกใช้กฎ Incoterms ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการทำธุรกรรม หรือสัญญาซื้อขายมีความสัมพันธ์ร่วมกับสัญญาเสริมอื่น ๆ ได้อย่างไร
Incoterms(R) 2020 ได้จัดให้มีการรองรับความต้องการของตลาดที่เกี่ยวกับใบตราส่งที่จดแจ้งว่าสินค้าได้ถูกบรรทุกแล้ว (Bills of Lading: BL with an on-board notation) สำหรับกฎ FCA (Free Carrier) การวางแนวทางของความคุ้มครองประกันภัยในระดับที่แตกต่างกัน สำหรับกฎ CIF (Cost Insurance and Freight) และ CIP (Carriage and Insurance Paid To) การเปิดโอกาสให้เลือกใช้พาหนะขนส่งของตนเองสำหรับกฎ FCA, DAP (Delivery at Place), DPU (Delivery at Place Unloaded) และ DDP (Delivered Duty Paid) การเปลี่ยนแปลงตัวย่อ 3 ตัวสำหรับกฎ DAT (Delivered at Terminal) เป็น DPU และได้เพิ่มข้อกำหนดด้านความปลอดภัยภายใต้ภาระหน้าที่และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการขนส่งอีกด้วย
"หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย เชื่อมั่นว่ากฎ Incoterms(R) 2020 นี้ จะทำให้ผู้นำเข้า-ส่งออก ผู้ประกอบธุรกิจการค้าและการขนส่งระหว่างประเทศ นักกฎหมาย นักการธนาคาร ผู้รับประกันภัย รวมถึงผู้เกี่ยวข้อง มีความเข้าใจในบทบาทและภาระหน้าที่ของคู่สัญญา สามารถนำไปใช้ในการร่างสัญญาได้อย่างรัดกุม ลดความเสี่ยงและต้นทุนในการดำเนินงาน สามารถสื่อสารและเจรจาต่อรองกับคู่ค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ไม่เกิดความเสียเปรียบทางธุรกิจ ช่วยลดความเสี่ยงและข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศ" นายชาติชาย กล่าว
หนังสือ Incoterms(R) 2020 ฉบับภาษาไทย-อังกฤษ จะมีการวางจำหน่ายในเร็ว ๆ นี้ ผู้สนใจสามารถติดต่อสั่งซื้อหนังสือ Incoterms(R) 2020 ได้ที่ หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทย Website: www.iccthailand.or.th หรือติดต่อสำนักงานเลขานุการ หอการค้านานาชาติแห่งประเทศไทยที่ Email: admin@iccthailand.or.th หรือ โทร: (0)2 622 2183 or (0)2 018 6888 ต่อ 4210
เกี่ยวกับหอการค้านานาชาติ (ICC)
หอการค้านานาชาติ (International Chamber of Commerce - ICC) เป็นองค์กรภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งมีตัวแทนมากกว่า 45 ล้านบริษัท ในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก มีภารกิจหลักคือการทำให้ธุรกิจของทุกองค์กรดำเนินงานได้ดีในทุก ๆ ที่ และ ทุก ๆ เวลา ICC ส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ การดำเนินธุรกิจที่มีรับผิดชอบ รวมทั้งให้บริการการระงับข้อพิพาททางการค้า สมาชิกของ ICC ประกอบด้วยบริษัทชั้นนำระดับโลก ผู้ประกอบการ SMEs สมาคมธุรกิจ และหอการค้าในประเทศต่าง ๆ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.iccwbo.org
เกี่ยวกับหอการค้านานาขาติแห่งประเทศไทย (ICC Thailand)
หอการค้านานาขาติแห่งประเทศไทย (Thailand International Chamber of Commerce - ICC Thailand) เป็นองค์กรที่ก่อตั้งโดยคณะกรรมการร่วมสามสถาบัน ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย (กกร) และเป็นสมาชิกของ ICC มีวัตถุประสงค์ในการให้การสนับสนุนและส่งเสริมธุรกิจในประเทศไทยให้มีบทบาทในการกำหนดกฎระเบียบทางการค้า และนโยบายด้านการค้าและการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการขยายตัวทางการค้าระหว่างประเทศของไทยอย่างต่อเนื่อง
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.iccthailand.or.th