เปิดเวที EcoDesign 2008 อย่างเป็นทางการ

ข่าวทั่วไป Monday February 25, 2008 08:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--
เวทีการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ประจำปี 2551 (1st Thailand EcoDesign Award: EcoDesign 2008) เปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้ว พร้อมประกาศความสำเร็จด้วยผลงานตอบรับส่งเข้าประกวดถึง 222 ชิ้น จากทั้งนักเรียน นักศึกษา นักออกแบบ ประชาชนทั่วไป และหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศ ร่วมประชันแนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อม ชิงโล่พระราชทาน และรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท 22 กุมภาพันธ์ 2551 ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ กรุงเทพมหานคร เครือข่ายการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจไทย (Thai Green Design Network: TGDN) ภายใต้การดูแลของศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) สำนักนายกรัฐมนตรี จัดแถลงข่าวเปิดการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 1 ประจำปี 2551 (1st Thailand EcoDesign Award: EcoDesign 2008) ภายใต้แนวคิด “การออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ เพื่อคุณภาพชีวิตและส่งแวดล้อม” อย่างเป็นทางการ หลังประกาศปิดรับสมัครและรับผลงานเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยการแถลงข่าว ได้รับเกียรติจาก นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมเป็นประธานในพิธี พร้อมการนำเสนอตัวอย่างความคิดสร้างสรรค์การออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ เพื่อคุณภาพชีวิตและส่งแวดล้อมในรูปแบบของแฟชั่นโชว์ การแสดงผลงานที่ส่งเข้าประกวดบางส่วน พร้อมไฮไลท์ของงานการพูดคุยกับ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ อินทรชูโต และ รองศาสตราจารย์ ดร.ธำรงรัตน์ มุ่งเจริญ ถึงแนวคิดการพัฒนาการออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจ รวมทั้งอธิบายถึงรูปแบบ กติกาการตัดสิน ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมงานจำนวนมาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่าการประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ประจำปี 2551 ครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของไทยในการส่งเสริมแนวคิดทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อนำมาผสมผสานและประยุกต์ใช้ในการออกแบบและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นที่ต้องการทั้งในระดับประเทศและระดับโลกในขณะนี้ การเปิดเวทีการประกวดสำหรับกลุ่มนักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชนทั่วไป รวมถึงธุรกิจภาคอุตสาหกรรม จึงนับเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลในวงกว้างได้นำเสนอแนวคิดที่หลากหลายมุมมอง ตามประสบการณ์ที่แตกต่างกันออกไปเพื่อนำมาประยุกต์เข้ากับเทคโนโลยีที่มีอยู่จริง หรือเป็นแนวทางในการพัฒนาแนวคิดซึ่งจะส่งผลต่อเทคโนโลยีในอนาคต นั่นหมายถึงความก้าวหน้าของวงการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของไทย ที่จะมีผลงานอันเกิดจากแนวคิดของบุคคลในกลุ่มต่างๆ และสามารถที่จะใช้ได้จริงในอนาคต ทางด้าน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ในอีกฐานะหนึ่งคือผู้สนับสนุนโครงการ กล่าวว่าปัจจุบันโลกให้ความสนใจกับการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Economic & Ecological Design; EcoDesign or Green Design) ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งของการจัดการเชิงรุก กล่าวคือเป็นการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นการลดกากของเสีย ยืดระยะเวลาการใช้งาน และเพิ่มปริมาณการนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงผลเสียที่จะตามมาภายหลังตลอดช่วงชีวิตของผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยความสำคัญของ EcoDesign มิใช่เป็นเพียงแค่แนวทางในการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือการจัดการเชิงรุกในด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังมีความสำคัญในแง่ของการค้าและการส่งออกในสังคมโลกขณะนี้อีกด้วย ซึ่งจากการประกวดในครั้งนี้น่าจะเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาแนวคิด อันจะต่อยอดไปถึงการพัฒนาต่อวงการอุตสาหกรรมของไทยได้ โดยหลังจากที่ได้ปิดรับสมัคร และรับผลงานในรูปแบบของข้อเสนอผลงาน (Concept Paper)และไปเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เลอเกียรติ์ วงศ์สารพิกูล ประธานเครือข่ายการออกแบบเชิงนิเวศเศรษฐกิจไทย กล่าวถึงผลการตอบรับว่า การประกวดครั้งนี้เป็นเวทีการประกวดที่เปิดกว้างสำหรับผู้ที่สนใจทุกระดับได้มีส่วนร่วมรักสิ่งแวดล้อม โดยถือว่ามีผลการตอบรับที่ดีเกินคาด มีผู้ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดทั้งสิ้น จำนวน 222 ชิ้นงาน จาก 4 ประเภทของการประกวด แบ่งเป็น ประเภทที่ 1 นักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ปลาย หรือเทียบเท่า จำนวน 32 ชิ้น ประเภทที่ 2 นิสิต / นักศึกษาระดับอนุปริญญาตรี ปริญญาตรี/โท หรือเทียบเท่า จำนวน 115 ชิ้น โดยทั้ง 2 ประเภทส่งผลงานเข้าประกวดในหัวข้อ “การออกแบบโดยใช้หลักการด้าน 3Rs คือ ลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งในส่วนของพลังงานและวัสดุ” (Design for 3Rs “Reduce Reuse Recycle” (Material & Energy)) “ส่วนประเภทที่ 3 ประเภทนักออกแบบอิสระและประชาชนทั่วไปที่สนใจ จำนวนผลงานที่ส่งเข้าประกวด 45 ชิ้น และประเภทที่ 4 ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม บริษัทต่างๆ ซึ่งมีที่ตั้งในประเทศไทย จำนวน 15 ชิ้น ซึ่งส่งผลงานในหัวข้อ “การออกแบบโดยพิจารณาตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์” (Design based on Life Cycle Thinking Approach) ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประกวดครั้งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจและเป็นการจุดประกายให้คนไทย ร่วมใส่ใจ ดูแลสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น” ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เลอเกียรติ์ กล่าว ด้าน รองศาสตราจารย์ ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) กล่าวว่า ในฐานะผู้ผลักดันและสนับสนุนการประกวดครั้งนี้ มุ่งเน้นการสนับสนุนในด้านการเตรียมความพร้อม การฝึกอบรมให้ความรู้และสนับสนุนทางด้านบุคลากร เพื่อพัฒนาทักษะของผู้เข้าร่วมประกวดในการนำวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้กับการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยต้องการให้ผู้เข้าประกวดนอกจากจะได้แสดงฝีมือและแนวคิดผ่านผลงานแล้ว ยังได้ความรู้และแนวคิดเพิ่มเติมจากการประกวดอีกด้วย ซึ่งจากการประกวดครั้งนี้น่าจะเป็นการกระตุ้นให้คนไทยใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภาวการณ์โลกร้อน สำหรับตัวแทนคณะกรรมการ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าสาขาวิชาเทคโนโลยีทางอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีโอกาสร่วมตัดสินการประกวดครั้งนี้ โดยหลังจากเห็นผลงานบางส่วนแล้ว ภาพรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน จนถึงยอดเยี่ยม โดยจากทุกๆประเภท ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน นิสิตนักศึกษา ประชาชนทั่วไป หรือหน่วยงานภาคอุตสาหกรรมที่ส่งเข้ามาประกวด ต่างก็แสดงความสามารถและแนวคิดในการออกแบบได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเชื่อว่าผลงานที่จะได้รับรางวัลในครั้งนี้น่าจะเป็นผลงานที่มีคุณภาพ และเป็นผลงานที่สามารถอวดสายตาชาวโลกถึงฝีมือของคนไทย รวมทั้งเป็นผลงานที่น่าจะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ต่อไป โดยขั้นตอนการตัดสินของ การประกวดออกแบบผลิตภัณฑ์เชิงนิเวศเศรษฐกิจแห่งประเทศไทย ครั้งแรก ประจำปี 2551 (1st Thailand EcoDesign Award: EcoDesign 2008) หลังจากได้รับผลงานทั้งหมดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะกรรมการจะคัดเลือกผลงานในแต่ละประเภทเข้าสู่รอบที่สอง หลังจากนั้นผู้เข้ารอบการประกวดจะได้รับการอบรมเพื่อพัฒนาแนวคิดต่อยอดการประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์นิเวศเศรษฐกิจให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และจะเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนและผู้ที่สนใจเข้าชมผลงานที่ผ่านเข้ารอบได้ในช่วงเดือนมีนาคม ก่อนที่จะเข้าสู่การแข่งขันรอบชิงชนะเลิศใน วันศุกร์ที่ 25 เมษายน 2551 ต่อไป โดยผู้ชนะเลิศจะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมรางวัลรวมกว่า 300,000 บาท

แท็ก thailand   ประกวด   ก.พ.  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ