กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
28 ก.ย.62 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะรองผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) ประธานการประชุมกองบัญชาการฯ เพื่อติดตามความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย เปิดเผยว่า สถานการณ์ล่าสุดยังมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 4 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ โดยที่ยโสธร และร้อยเอ็ด ไม่มีน้ำท่วมบ้านเรือน ประชาชนกลับเข้าสู่ที่พักอาศัยได้แล้ว ส่วนพื้นที่การเกษตรยังมีน้ำท่วมขังบางจุด ขณะที่อุบลราชธานี และศรีสะเกษ ระดับน้ำลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม คาดว่าระดับน้ำจะอยู่ในระดับตลิ่งและกลับเข้าสู่ภาวะปกติในช่วงสัปดาห์หน้า ซึ่ง บกปภ.ช. ได้ประสาน จังหวัดเร่งสำรวจความเสียหายรายครัวเรือน โดยจำแนกข้อมูลรายละเอียดตามประเภทให้ครบถ้วนและสมบูรณ์เพื่อพิจารณาให้การช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์และระเบียบที่เกี่ยวข้อง ขณะนี้ กระทรวงการคลังได้อนุมัติขยายวงเงินทดรองราชการฯ ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยใน 4 จังหวัดที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัย ได้แก่ อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด และศรีสะเกษ จังหวัดละ 100 ล้านบาท เพื่อให้การบรรเทาความเดือดร้อนแก่ผู้ประสบภัยและการปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปอย่างรวดเร็วและทันต่อสถานการณ์ พร้อมกำชับให้จังหวัดที่ได้รับการขยายวงเงินทดรองราชการฯ ใช้จ่ายงบประมาณอย่างรอบคอบและยึดระเบียบกระทรวงการคลังฯ เป็นหลัก
นายฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย รัฐบาลพร้อมดูแลประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างเต็มที่ ทุกครัวเรือนต้องได้รับการดูแลอย่างดีที่สุด ในส่วนของการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยจะแยกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เป็นเงินช่วยเหลือครัวเรือนที่ประสบอุทกภัย 5,000 บาท ถือเป็นมาตรการช่วยเหลือพิเศษที่มอบให้แก่ผู้ประสบอุทกภัยเพื่อช่วยเหลือเยียวยาในเบื้องต้น ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 เพื่อให้ผู้ประสบอุทกภัยสามารถนำมาใช้จ่ายในการดำเนินชีวิตในช่วงที่น้ำยังมีท่วมขังและอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูความเสียหาย หรือยังไม่สามารถประกอบอาชีพหารายได้เลี้ยงครอบครัว โดยผู้ประสบอุทกภัยใน 32 จังหวัดที่เข้าข่ายตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดจะได้รับเงินช่วยเหลือครัวเรือนละ 5,000 บาท อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งผู้ประสบอุทกภัยที่มีสิทธิรับเงินช่วยเหลือต้องเป็นผู้ประสบภัยที่มีบ้านเรือนอาศัยอยู่ประจำในพื้นที่ประกาศภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากพายุโพดุล พายุคาจิกิ และมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ฯ ใน 3 กรณี คือ 1. กรณีน้ำท่วมบ้านเรือน โดยฉับพลันและทรัพย์สินได้รับความเสียหาย 2. บ้านพักอาศัยถูกน้ำท่วมขังติดต่อกันไม่น้อยกว่า 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย 3. บ้านเรือนได้รับความเสียหายจากอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม โดยทั้ง 3 กรณีต้องมีหนังสือรับรองผู้ประสบภัยที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นออกให้ หากเป็นผู้ประสบภัยซ้ำซ้อนทั้ง 3 กรณี จะได้รับการช่วยเหลือเพียงกรณีเดียว ส่วนที่สอง เป็นการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเฉพาะหน้าของผู้ประสบภัย มิได้มุ่งชดเชยความเสียหายทั้งหมด ซึ่งเป็นการเยียวยาภายหลังน้ำลด แบ่งการช่วยเหลือออกเป็นด้านต่าง ๆ อาทิ ค่าวัสดุ ซ่อมแซมบ้านเรือน ค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพเบื้องต้น ค่าเครื่องมือประกอบอาชีพที่เสียหาย ค่าช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ค่าจัดการศพผู้เสียชีวิต ค่าชดเชยพื้นที่การเกษตร ประมง ปศุสัตว์ โดยให้การช่วยเหลือตามความจำเป็นเหมาะสม ทั้งนี้ บกปภ.ช.ได้เร่งรัดสั่งการให้จังหวัดที่ประสบภัยดำเนินการสำรวจ ประเมิน จัดทำบัญชีความเสียหาย และรวบรวมข้อมูลให้ถูกต้องและครบถ้วน มิให้ซ้ำซ้อน เพื่อให้ดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เน้นย้ำให้จังหวัดสำรวจข้อมูลความเสียหายให้ถูกต้องและครบถ้วน โดยระบุพื้นที่เป้าหมายให้ชัดเจน และรายงานผลการดำเนินงานมายัง ปภ. เพื่อรวบรวมเสนอระดับนโยบายพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยโดยเร็วที่สุด