กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
สพฉ.เปืดแนวทางการดำเนินงานปี 63 "หมออัจฉริยะ" ย้ำเดินหน้าสู่มาตรฐาน ISO 9001 สานต่อไอเดียสธ.ลดความแออัดห้องฉุกเฉิน เตรียมพัฒนานโยบาย UCEPให้ประชาชนได้รับการบริการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พร้อมประสานรพ.ศิริราชขยายโมเดลรถ Mobile Stroke Unit รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองให้ครอบคลุมการรักษาประชาชนทั่วประเทศ เผยนโยบาย และเร่งเดินหน้าใช้ฮ.รับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินนอกโรงพยาบาล
ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ จัดประชุม ชี้แจงนโยบายและแนวทางในการดำเนินงานระบบการแพทย์ฉุกเฉินประจำปี 2563 โดยมีตัวแทนจากโรงพยาบาลเครือข่าย ตัวแทนท้องถิ่น รวมถึงตัวแทนเจ้าหน้าที่ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมกว่า 300 คน
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. กล่าวว่า นโยบายการปฏิรูปการแพทย์ฉุกเฉิน มีเรื่องหลักๆ คือ การปรับระบบการให้บริการ โดยเฉพาะ การลดความแออัดของห้องฉุกเฉินร่วมกับสถานพยาบาลภาครัฐ การผลักดันให้องค์กรปกครองท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการดำเนินการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน โดยให้อบจ.เป็นหน่วยรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ให้อบต.เทศบาลเป็นหน่วยออกรถฉุกเฉินดูแลพี่น้องประชาชนอย่างใกล้ชิด การพัฒนาบุคลากรด้านการแพทย์ฉุกเฉินขั้นสูง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของหลายโปรเจ็ค ที่สพฉ.กำลังขยับ จะช่วยให้พี่น้องประชาชนได้รับการบริการที่รวดเร็วขึ้น แผนพัฒนาต่อไป หลักของเรา ไม่ใช่เพียงแค่การขับเคลื่อนหน่วยอื่นเท่านั้น สพฉ.เองต้องมีการพัฒนาด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับตัวให้เข้าสู่มาตรฐานสากล ซึ่งกำลังดำเนินการเข้าสู่การตรวจรับรอง ISO 9001:2015 ในวันที่ 16 ก.ย. นี้ หากผลตรวจผ่านมาตรฐาน ถือเป็นบันไดขั้นแรก ในการพัฒนาไปสู่มาตรฐานสากล
พร้อมกันนี้ ล่าสุดเราได้รับรางวัลรางวัลเลิศรัฐ จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. ซึ่ง หัวข้อที่เราได้รับรางวัลคือ การให้บริการประชาชน เรื่องของ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่เพราะตั้งแต่เริ่มโครงการตามนโยบาย ได้ลดความเลื่อมล้ำด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนในกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต ทำ ให้ผู้ป่วย ฉุกเฉินวิกฤต ได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ โดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่า รักษาพยาบาล ได้รับการรักษาโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายภายใน 72 ชั่วโมง
ทั้งนี้ นโยบายเรื่อง UCEP เราก็คงดำเนินการเรื่องนี้ต่อไป โดยมีการคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลจากกองทุนต่างๆ อยู่แล้ว ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน ถ้าโรงพยาบาลรัฐ ก็จะมีทุกกองทุนจ่ายตามสิทธิการรักษาพยาบาล แต่โรงพยาบาลเอกชนกองทุนจะจ่าย เฉพาะฉุกเฉินวิกฤติ ถ้าไม่เข้าฉุกเฉินวิกฤติ ต้องสำรองจ่ายไปก่อน และขอเบิกในภายหลัง ส่วนจะปรับนโยบายหรือไม่อย่างไร คงต้องมีการหารือกับทางกระทรวงสาธารณสุขและกองทุนต่างๆอีกที ที่ผ่านมา 2 ปี ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2560 - 31 มี.ค. 2562 มีคนมาใช้บริการในระบบ ประมาณ 2-3 แสนคน ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ใช้สิทธิได้ มีประมาณ 3 หมื่นราย งบประมาณที่ใช้ไปประมาณกว่า 1,000 ล้านบาท
เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติกล่าวต่อว่า ส่วนการปรับโครงสร้างสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ต่อจากนี้ไป เราจะเปลี่ยนแปลง จากเดิมที่เป็นองค์กรบริหารแบบการจัดการทั่วไป จะเป็น การเข้าสู่การเป็นองค์กรทางด้านวิชาการเพิ่มมากขึ้น สพฉ. จะมี ผู้ชำนาญการ ผู้ชำนาญการพิเศษ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ หรือผู้ทรงคุณวุฒิ ตรงนี้ จะเป็นสายวิชาการ ซึ่งไม่ใช่การสอนหนังสือ แต่จะเป็นเป็นสายวิชาการในรูปแบบการกำกับมาตรฐานคุณภาพของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน
อีกเรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับเรื่องนโยบาย คือ การผลักดันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามาใน 2 รูปแบบ คือ เป็นหน่วยปฏิบัติการ และเป็นหน่วยรับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ซึ่งทุกวันนี้ มีศูนย์รับแจ้งท้องถิ่นทั่วประเทศแล้ว 8 แห่ง และคณะกรรมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้เห็นชอบให้ท้องถิ่นทำภารกิจนี้ โดยมีมติให้ดำเนินการ ภายในปี 2565 ในทางปฏิบัติ ต่อไปสพฉ.ต้องมีการพูดคุย การกำหนดโรดแม็ป เส้นทางจะไปตรงนั้นได้อย่างไร ซึ่งต่อไปเราจะต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับท้องถิ่น โดยจะมีการจัดทำคู่มือ ในการเข้าสู่ระบบ จะต้องทำอย่างไรที่เป็นไปตามระเบียบราชการ ส่วนข้อถามว่า สาธารสุข หายไปไหน ยืนยันว่าไม่หาย เราปรับเป็น หน่วยปฏิบัติการระดับสูง และระดับให้คำปรึกษา ถ้าระดับพื้นฐานจะให้ทางท้องถิ่นรับไปดำเนินการ
"มีโมเดลที่สพฉ.อยากพัฒนาและต่อยอดการให้บริการ ยกตัวอย่าง รถ Mobile Stroke Unit ที่ใช้ดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ แตก ตัน ของโรงพยาบาลศิริราชนับเป็นโมเดลที่ต่อยอดได้ ซึ่งรถคันนี้ มีเครื่อง CT Scan มีอุปกรณ์และมีทีมแพทย์ที่พร้อมจะดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ถ้ามีเหตุโทร 1669 หากเคสไหนสงสัยว่าว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ก็จะมีรถพยาบาลนำผู้ป่วยมาเจอกับ รถ Mobile Stroke Unit ในพื้นที่บริเวณปั้มปตท.แล้วบนรถก็จะมีเครื่องมือที่สามารถตรวจอาการผู้ป่วยและหากกรณีไหนที่ต้องได้รับการรักษาอย่างจำเป็นเร่งด่วนก็จะส่งผู้ป่วยตรงไปรักษาที่โรงพยาบาลโดยไม่ต้องผ่านห้องฉุกเฉิน ตัวอย่างนี้ จะเป็นสิ่งที่เราจะพัฒนาตรงนี้ต่อ เพื่อขยายให้ครอบคลุมมากกว่านี้"
เรืออากาศเอกนายแพทย์อัจฉริยะ กล่าวว่า นโยบายเรื่องของทางบก ตอนนี้กระทรวงสาธารณสุข มีคณะทำงาน 4-5 คณะ ทำเรื่องโครงสร้างรถ ความปลอดภัยของรถฉุกเฉิน โดยกระทรวงสาธารณสุข มีการทำร่าง ตัวรายละเอียดของรถพาหนะฉุกเฉินทางบกขึ้นส่วนใหญ่จะอยู่ในระดับสูงและระดับเฉพาะทาง โดยจะมีการทำประชาพิจารณ์ในเร็วๆนี้ ส่วนรถระดับพื้นฐานก็จะมีการกำหนดเพิ่มเติมในอนาคตต่อไป
ทั้งนี้การรับรองคุณภาพ รถฉุกเฉิน เป็นเรื่องที่สพฉ.กำลังขับเคลื่อนตามกฎหมายมีการกำหนดเอาไว้ว่า ให้สพฉ.เป็นผู้รับรอง โดยทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะทำการตรวจ โดยให้ส่งเรื่องการรับรองเข้ามาที่สพฉ. ทิศทางใหม่ ในการรับรองรถ ฉุกเฉินนับจากนี้ ต่อไปเราจะมีการรับรองหน่วยก่อน ถ้าผ่านการรับรองหน่วย โดยใช้เกณฑ์ TEMSA หรือ การพัฒนาหน่วยปฏิบัติการและชุดปฏิบัติการสู่การรับรองมาตรฐาน ที่ประกอบด้วย 6 หมวดสำคัญคือ 1. การบริหาร จัดการองค์กร 2.การดูแลผู้ป่วย และผู้บาดเจ็บ 3.การปฏิบัติการ ในสถานการณ์ ฉุกเฉิน 4. ความปลอดภัย ในการ ปฏิบัติการ 5.การจัดการข้อมูล และ 6. การบริหาร ทรัพยากร บุคคล
"เมื่อประเมินตัวเองผ่าน ก็จะมีสิทธิขอรับรองรถ ถ้าไม่มีการประเมินตนเอง เราก็จะไม่มีการประเมินรถให้ เมื่อประเมินรถผ่าน เบื้องต้นจะมีการขยายการรับรองออกไปเป็น 3 ปี จากเดิม 2 ปี ซึ่งทางเราก็จะมีการประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อขยายเวลาด้วย ในการรับรองหน่วยปฏิบัติการฉุกเฉิน จะเกิดประโยชน์ขึ้น 4 เรื่อง สำคัญ คือ 1. สพฉ.จะรับรองรถที่ขอใช้สัญญาณไฟวับวาบ เพื่อให้ตำรวจอนุญาตรถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 2.หน่วยปฏิบัติการนั้นจะมีสิทธิรับการรับรองจากสพฉ.ในการ ขออนุญาตใช้ วิทยุสื่อสารคลื่นความถี่ของสพฉ. ที่คุ้มครองตามกฎหมาย ตามระเบียบ กสทช. สามารถใช้วิทยุสื่อสาร อย่างน้อย 4 ความถี่ 3. มีสิทธิ ได้รับเงินกองทุนจากการแพทย์ฉุกเฉิน และ 4.มีสิทธิได้รับการคุ้มครอง ในเรื่องการประกันภัย โดยขณะนี้ เรากำลังประสานกับบริษัทประกันภัย ที่ผ่านมา หลายหน่วยอยากซื้อ ประกัน แต่ประกันมักไม่ขายให้ เพราะมีความเสี่ยงสูง ตรงนี้มีการคุยกัน จะขยายมายังรถฉุกเฉินท้องถิ่น และในส่วนของมูลนิธิ ที่ได้รับการประกันอุบัติเหตุในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาด"
ส่วนทางน้ำ ก็จะคล้ายกับปีก่อนๆ ที่มีการส่งเสริมให้มีหน่วยฉุกเฉิน วันนี้เราจะไม่รับรองเรือ แต่เราจะรับรองที่หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางน้ำ เพราะแต่ละหน่วย ต้องมีเครือข่ายในการหาเรือของตัวเอง อนาคตอันใกล้ สพฉ.จะจับมือกับกรมเจ้าท่าในการกำหนดตัวมาตรฐานของเรือฉุกเฉิน โดยเฉพาะโรงพยาบาลที่อยู่ติดทะเล มีการใช้เรือ เช่น ที่เกาะพะงัน ที่ละงู เป็นต้น
ขณะที่ทางอากาศ วันนี้มีความชัดเจน เรามีเงินกองทุนสำหรับการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทางอากาศ ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ เราจะใช้รับส่งผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล แต่ก็มีบ้าง ที่มีการไปรับผู้ป่วยยังจุดเกิดเหตุ อย่างที่จังหวัดตาก
"ขณะนี้ สพฉ.ได้ร่วมมือกับ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยหรือ กพท. เพื่อที่จะกำหนดตัวกฎหมาย เดิมที่กฎหมายไม่ได้เอื้อให้เฮลิคอปเตอร์ ลงบนท้องถนนได้ แต่พรบ.เดินอากาศฉบับล่าสุด ที่เพิ่งประกาศไปช่วงเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เปิดช่อง ให้เฮลิคอปเตอร์ สามารถลงบนท้องถนนได้ แต่ต้องเป็นการบริการการแพทย์ฉุกเฉินเท่านั้น ต่อไปทั้งสองฝ่ายจะหารือประสานกัน เพื่อออกกฎระเบียบร่วมกัน ที่ผ่านมีภาคเอกชนหลายเจ้าสนใจที่จะลงทุนเพื่อร่วมบริการให้กับผู้ป่วยฉุกเฉินด้วย "
ส่วนเรื่องผู้ปฏิบัติการ สพฉ.กำลังขับเคลื่อนในการปรับปรุงระเบียบกรณีได้รับ ประกาศนียบัตรเราจะนำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิแห่งชาติ มาร่วมพิจารณาด้วย ที่ในอนาคต ไม่จำเป็นต้องจบปริญญาตรี แต่มีความสามารถในการสอบอบรมจนได้ ประกาศนียบัตรได้ โดย ประมาณต้นปี 2563 จะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลง
"อีกเรื่องสำคัญคือเรื่องเครื่องแบบของผู้ปฏิบัติการล่าสุดร่างประกาศ เครื่องแบบ สภาการพยาบาลออกระเบียบมา เป็นสีขาว แต่เจ้าหน้าที่ EMS เราก็สีขาวเหมือนพยาบาลเยอะมาก ทำให้ประชาชนเกิดความสับสน สพฉ.เองอยากให้มีเครื่องแบบเป็นสากล อาจไม่ใช่สีขาว อาจจะใช้สีเหลืองแทน ตรงนี้ไม่ได้บังคับว่าต้องใส่สีเหลืองตลอด เจ้าหน้าที่สามารถใส่ชุดของหน่วยงานที่สังกัดเดิมได้ แต่เมื่อออกปฏิบัติการฉุกเฉินต้องใส่เป็นสีเหลือง ตรงนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ จะต้องมีการทำประชาพิจารณ์ขอความเห็นเพิ่มเติมอีก"เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติระบุ
ขณะที่ นพ. ชาติชาย คล้ายสุบรรณ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จ.ปราจีนบุรี ได้กล่าวบรรยายในหัวข้อ รูปแบบการพัฒนาระบบอำนวยการทางการแพทย์ฉุกเฉินว่า รูปแบบระบบอำนวยการทางการแพทย์ฉุกเฉิน มีอยู่ 2 ข้อหลัก คือ ทำให้การแพทย์ฉุกเฉินมีคุณภาพ และ คนไข้รวมถึงบุคลากรปลอดภัย จากสภาพพื้นที่ในเขตสุขภาพที่ 6 เราได้แบ่งโซนก่อนเลย เพื่อการดูแลอย่างทั่วถึง โซนแรกคือ โซนภูเขา ประกอบด้วย จังหวัดปราจีนบุรี สระแก้ว โซนที่สอง คือ คือโซนรายได้สูง คือ สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง เชิงเทรา โซน 3 คือ โซนทะเล ประกอบด้วย จันทบุรี ตราด เมื่อแบ่งโซนเสร็จจากนั้น เราก็มาคุยร่วมกัน เพื่อหาข้อตกลง แนวทางในการรักษาคนไข้ ใน 6 กลุ่มอาการนำร่อง ซึ่งผลการวิจัย ระบุชัด การรักษาใน 6 กลุ่มอาการนี้ ทำให้ผู้ป่วยรอดชีวิตได้ ประกอบด้วย หัวใจหยุดเต้น เจ็บหน้าอก แขนขาอ่อนแรง การบาดเจ็บหลายระบบ บาดเจ็บศีรษะ และได้รับสารพิษ เมื่อกำหนดกลุ่มอาการชัดเจน เราก็ประสานไปยังท้องถิ่นพื้นที่ต่างๆ ประเมินตัวเอง โดยใช้เกณฑ์ TEMSA หรือ เกณฑ์การพัฒนาหน่วยปฏิบัติการและชุดปฏิบัติการสู่การรับรองมาตรฐาน ที่ประกอบด้วย 6 หมวดสำคัญคือ 1. การบริหาร จัดการองค์กร 2.การดูแลผู้ป่วย และผู้บาดเจ็บ 3.การปฏิบัติการ ในสถานการณ์ ฉุกเฉิน 4. ความปลอดภัย ในการ ปฏิบัติการ 5.การจัดการข้อมูล และ 6. การบริหาร ทรัพยากร บุคคล โดยจังหวัดไหนขาดส่วนไหน ก็ให้แต่ละจังหวัดแลกเปลี่ยนบุคลากรเพื่อให้ความรู้ เพื่อให้แต่ละพื้นที่มาตรฐาน TEMSA เมื่อยกระดับมาตรฐาน ผ่านการแลกเปลี่ยนบุคลากรเครือข่ายในการให้ความรู้ ที่สุดแล้วนำผลดีต่อการให้บริการประชาชนตามมา