SCB 10X เปิดสูตรสำเร็จ สร้างวัฒนธรรมองค์กรยุคใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 30, 2019 14:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--ธนาคารไทยพาณิชย์ SCB10X ชี้รูปแบบการสร้างวัฒนธรรมองค์กรยุคใหม่ ต้องให้คนในทีมคิดจากโจทย์ของผู้ใช้งาน และเปิดโอกาสให้ออกไปทดลองไอเดียข้างนอกผ่านการแข่งขันระดับประเทศเช่นงาน LINE HACK 2019 เชื่อว่านี่คือวิถีใหม่ในการสร้างทีมงานและการทำงานของบุคลากรด้านดิจิทัลของธนาคารไทยพาณิชย์ นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร หัวหน้าทีม SCB10X ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า การคว้ารางวัลชนะเลิศ และรองรางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน LINE HACK 2019 โดยทีม EDM และทีม Hao Haan ซึ่งเป็นทีมงานของ SCB10X หน่วยงานด้านนวัตกรรมของธนาคารไทยพาณิชย์ นับเป็นการตอกย้ำแนวคิดของการสร้างวัฒนธรรมการทำงานรูปแบบใหม่ที่ SCB10X ดำเนินการมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ก่อตั้งหน่วยงานนี้ เพื่อฉีกข้อจำกัดเดิมๆ ของธนาคาร และสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ให้กับธนาคาร ทีมนักพัฒนาของ SCB10X เข้าร่วมการแข่งขัน Line Hack 2019 ทั้งสิ้น 2 ทีม ได้แก่ ทีม EDM และทีม Hao Harn ซึ่งทีม EDM ได้รับรางวัลชนะเลิศ จากผลงาน chatbot ผ่าน LINE Messaging API ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ "Line ใส่ซอง" ซึ่งเป็น Chatbot ที่ช่วยให้การร่วมงานแต่งงานและการจัดงานแต่งเป็นไปอย่างราบรื่น ด้วยการให้แขกในงานใส่ซองผ่าน LINE Pay โดยเจ้าของงาน มี Dashboard ช่วยตรวจนับจำนวนเงิน รวมถึงแจ้งขั้นตอนและกิจกรรมต่างๆ ภายในงานแต่งงานแก่ผู้มาร่วมงานผ่าน LINE ขณะที่ทีม Hao Harn รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ด้วยการคิดโซลูชั่น Chatbot ภายใต้ชื่อผลิตภัณฑ์ "Party Harn" เพื่อช่วยให้ลูกค้าค้นหาและจับกลุ่มกัน เพื่อรวมจำนวนคนและสามารถซื้อโปรโมชั่นสำหรับหลายๆ คนขึ้นไปได้ "ผลิตภัณฑ์ที่นักพัฒนาของ SCB10X ไปนำเสนอในการแข่งขัน Line Hack 2019 ใช้วิธีคิดที่อยู่บนพื้นฐานของผู้ใช้งาน (end users) ซึ่งเป็นเรื่องของวัฒนธรรมภายในหน่วยงานนี้ที่ใช้มาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เพราะการคิดพัฒนาผลิตภัณฑ์จะคิดจากโจทย์ของเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่หลายองค์กรเองก็มีไอเดียเช่นกัน ซึ่งวัฒนธรรมนี้จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนในธนาคาร แม้ว่าการหล่อหลอมวิธีคิดด้วยวัฒนธรรมแบบนี้จะค่อนข้างท้าทายสำหรับธนาคาร แต่รางวัลที่ได้มาก็ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทีมงาน SCB10X จะช่วยสร้างสรรค์วิธีการทำงานแบบนี้ให้กับธนาคารได้" นายกวีวุฒิ กล่าว นายสุธัม ธรรมวงศ์ Senior User Experience Designer จาก SCB10X หัวหน้าทีม EDM กล่าวว่า ที่มาของ "Line ใส่ซอง" มาจากการเห็นปัญหาของบุคคลที่รู้จักที่มักจะลืมนำซอง หรือ บางครั้งก็ลืมข้อมูลของงานที่จะไป เมื่อคิดจาก end user จึงเห็นว่า ควรจะมีโซลูชั่นเพื่อแก้ปัญหาและทำให้กระบวนการของงานเป็นไปด้วยความราบรื่น ทั้งผู้ที่เป็นเจ้าของงาน และในมุมของแขกที่มาร่วมงาน นายคมสัน จิรเจริญกุล Senior Product Owner จาก SCB10X หัวหน้าทีม Hao Harn กล่าวว่า วิธีคิดผลิตภัณฑ์ Party Harn สอดคล้องกับสิ่งที่สุธัมได้กล่าวไว้ โดยเริ่มจากปัญหาของพี่ที่รู้จักที่เข้าเฟซบุคแล้วตั้งกลุ่มหาคนแชร์ซื้อของประเภทซื้อ 2 แถม 1 ซึ่งตอนนั้นคิดว่า ทำไมคนเหล่านี้ต้องตั้งกลุ่มหาคนเพื่อหารค่าของกัน ทำไมไม่มีแพลตฟอร์มที่รวมคนหาของสิ่งเดียวกัน และถ้าจะซื้อของที่มีของแถม เราจะหาคนอื่นมาแจมได้อย่างไร โดยที่คนเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน จึงเกิดเป็นไอเดียของการพัฒนา Chatbot Party Harn ขึ้น ทั้งนี้ ประสบการณ์ที่ได้รับจากการไปแข่งขัน คือ แม้คิดว่าเราทำครบขนาดไหน การได้วิชั่นจากคนอื่น ทำให้เราสามารถคิดไอเดียได้เพิ่ม และสามารถไปต่อยอดในงานที่ทำอยู่ และสิ่งที่ได้เห็นอีกประการคือ ไอเดียของเด็กรุ่นใหม่ในระดับมหาวิทยาลัยที่มีทักษะที่เก่งมากทั้งการเตรียมตัว การนำเสนอผลิตภัณฑ์ ทำให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่มีศักยภาพ และน่าจะเป็นที่ต้องการในหลายองค์กรชั้นนำ นายกวีวุฒิ กล่าวเสริมว่า องค์กรไหนที่เข้าใจและสามารสร้างพื้นที่ให้กับเด็กรุ่นใหม่ได้ ก็จะเป็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุค Digital Disruption ซึ่งปัจจุบันรูปแบบของทีมงานที่ SCB10X ประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะหลากหลายมารวมตัวกัน อาทิ User Experience (UX), Product Owner, Marketing, Data Scientist, Software Developer และคนเหล่านี้ทำงานในรูปแบบของอไจล์ (Agile) ที่ไม่ยึดติดกับรูปแบบ แต่คือวัฒนธรรมที่ยืดหยุ่นปรับได้ตามบริบทของงาน การที่คนเหล่านี้รวมตัวกันสร้างทีมเพื่อไปแข่งขันกับองค์กรข้างนอกในรูปแบบ Hackathon และสามารถใช้ระยะเวลาระยะสั้นเพื่อคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์จนได้รางวัลชนะเลิศเป็นเรื่องที่ตนรู้สึกยินดีแล้วก็ประทับใจกับทีมงานมาก "แน่นอนว่า งานประจำที่ทำอยู่ใน SCB10X ก็มากอยู่แล้ว แต่ SCB10X เปิดโอกาสให้ทีมงานออกไปหาโอกาส หาไอเดียจากกิจกรรมข้างนอกอยู่เสมอ เพราะเชื่อว่า ความรู้อยู่นอกองค์กร ความคิดสร้างสรรค์ไม่เกิด ถ้าอยู่แต่ข้างใน วันนี้บริบทของงานได้เปลี่ยนไปแล้ว การหา input จากข้างนอกในยุคนี้สำคัญมาก การอยู่แต่ภายในองค์กร ก็จะมีแค่ความรู้ในองค์กร การออกไปหาความรู้จากข้างนอกทำให้คนในทีมได้ความรู้ใหม่ๆ มาแชร์กัน และนำมาใช้ต่อยอด หรือ ได้วิธีคิดโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เราเชื่อว่าด้วยวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้จะทำให้ SCB10X มีศักยภาพในการสร้างบุคลากรที่ทำงานแล้วรู้สึกว่าเขามีคุณค่า ซึ่งนำไปสู่ผลประโยชน์ขององค์กรในที่สุด" นายกวีวุฒิ กล่าวสรุป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ