กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
สถาบันจัดการน้ำระหว่างประเทศ (IWMI) ประมาณการว่าในราว ค.ศ.2025 สองในสามของประชากรโลก คือประมาณ 4,000 ล้านคน ใน 48 ประเทศ จะเผชิญกับปัญหาขาดแคลนน้ำ ในขณะที่ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าอีก 30 ปีข้างหน้า ประชากรครึ่งหนึ่งของโลกจะประสบกับภาวะขาดแคลนน้ำหากยังคงมีพฤติกรรมการใช้น้ำอย่างฟุ่มเฟือยเช่นปัจจุบัน
ประเทศไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วม หลายพื้นที่เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงเนื่องจากแย่งชิงน้ำ ด้วยทรัพยากรน้ำที่มีปริมาณจำกัดการวางมาตรการเพื่อเอื้อต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นสิ่งสำคัญ
ภายใต้บริบทสังคมและโลกที่เปลี่ยนไปการจัดการน้ำจะมุ่งเพียงด้านกายภาพเช่นเดิมไม่ได้ จำเป็นต้องมีมิติอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งมิติทางสังคม เศรษฐกิจ สอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (พ.ศ.2558-2569)
แล้วเกณฑ์การจัดการน้ำเพื่อให้เกิดการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนอย่างเป็นธรรมต้องเป็นอย่างไร?
รศ.ดร.นิรมล สุธรรมกิจ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวหน้าโครงการศึกษา "เกณฑ์การบริหารจัดการน้ำที่เชื่อมโยงกับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย" โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) กล่าวว่า การจัดการทรัพยากรน้ำนั้น หลายลุ่มน้ำในภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้ ต้องเผชิญกับปัญหาที่คล้ายกัน คือการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร ในช่วงฤดูแล้งหรือนอกฤดูฝน เนื่องจากปริมาณน้ำที่ใช้การได้มักได้รับการจัดสรรเพื่อการอุปโภคบริโภค การท่องเที่ยว การรักษาระบบนิเวศ
และการอุตสาหกรรมเป็นหลัก จึงเกิดคำถามว่า การบริหารจัดการน้ำดังกล่าวนั้นสร้างความเป็นธรรมให้แก่ภาคเกษตรหรือไม่ และจะปรับเปลี่ยนแนวทางการจัดสรรน้ำได้อย่างไรที่จะสร้างความเป็นธรรมมากขึ้นอีกทั้งสอดรับกับนโยบายด้านความมั่นคงทางอาหารด้วย
มองในมุมกลับ ถ้าพื้นที่หนึ่งความต้องการใช้น้ำน้อย ปริมาณน้ำที่เหลือเอาไปให้พื้นที่อีกแห่งหนึ่งได้ไหม นั่นหมายความว่าเรากำลังรณรงค์ให้คนประหยัดน้ำ เหมือนที่เราผันน้ำจากลุ่มน้ำหนึ่งมาให้กับคนกรุงเทพฯที่ไม่มีแหล่งน้ำของตนเองได้ใช้ แต่ก็เกิดอีกคำถามว่าแล้วคนที่ประหยัดน้ำจะได้อะไร คำถามนี้เป็นคำถามที่ประเทศไทยไม่เคยมีมาตรการเลยคนกรุงเทพฯได้ประโยชน์จากการใช้น้ำนั้นและเสียภาษีให้แก่ท้องถิ่น ท้องถิ่นก็นำภาษีนี้มาใช้ประโยชน์ซึ่งก็ตกที่คนกรุงเทพฯ แต่ไม่เคยมีมาตรการอะไรที่คนกรุงเทพฯจะย้อนกลับมาให้กับคนลุ่มน้ำนั้นได้ภาคภูมิใจว่าเขาช่วยกรุงเทพฯ ช่วยเศรษฐกิจของประเทศเลย เป็นประเด็นที่ผู้วิจัยตั้งคำถามในมุมมองด้านสังคม
"สิ่งที่เรานำเสนอคือ ควรให้เงินเป็นตัวกระตุ้นเพื่อให้เกิดการประหยัดน้ำ ซึ่งแตกต่างจากสิ่งที่ภาครัฐพยายามทำปัจจุบันด้วยการชดเชยความเสียหายหากภาคเกษตรลดการใช้น้ำหรือยุติการเพาะปลูกในช่วงน้ำขาดแคลน (เช่นกรณีเยียวยาผู้ประสบวิกฤตน้ำท่วม หรือต้องยอมให้ผืนนาตนเองเป็นที่รองรับน้ำหลาก) แต่นั่นเป็นการยัดเยียด ไม่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาต้องเป็นคนลดการใช้น้ำเอง ถ้าเรามีข้อเสนอที่ว่า หากลดการใช้น้ำลงมาได้ รัฐจะให้เงินสนับสนุนเพิ่มเติม ซึ่งจะเป็นการสร้างแรงจูงใจในการประหยัดด้วยตัวเขาเอง เมื่อหลายคนช่วยกันประหยัดน้ำ เราก็จะมีปริมาณน้ำสำรองเพียงพอ ในช่วงฤดูแล้งหรือแม้ว่าฝนจะตกทิ้งช่วง"
"เราเชื่อว่าการเก็บค่าน้ำจะจูงใจให้คนประหยัดน้ำ" รศ.ดร.นิรมล บอก
ขณะเดียวกัน "การโอนปริมาณน้ำ" หรือโอนใบอนุญาตการใช้น้ำก็สามารถใช้ในการควบคุมปริมาณน้ำได้เช่นกัน โดยจากการวางตุ๊กตาจำลองการโอนน้ำจากภาคเกษตรไปให้ภาคอุตสาหกรรมโดยคำนึงถึงความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐกิจที่ได้รับกลับมา พบว่า ยิ่งลดการจ่ายน้ำภาคเกษตรไปเพิ่มให้กับภาคอุตสาหกรรม ตัวเลขมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจยิ่งเพิ่มมากขึ้น ซึ่งกรณีดังกล่าวยังไม่พูดถึง "ความเป็นธรรม"
รศ.ดร.นิรมล กล่าวว่า "ข้อเสนอของเราเป็นความพยายามหาต้นแบบของการจัดการในด้านอุปสงค์ คือ เปลี่ยนวิถีการใช้น้ำ วางแผนการใช้ที่ดินว่าพื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ที่เป็นไข่ในหินเพื่อปลูกอาหาร จะได้จัดสรรได้ถูกต้อง แล้ววางแผนระยะยาว เป็นการจัดลำดับก่อนหลัง ซึ่งความเป็นเจ้าของร่วมของลุ่มน้ำอาจจะไม่ได้เป็นกลไกที่นำไปสู่ความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกันเท่าไรนัก และมาตรการที่ต้องมีจึงเสนอ "การทำให้น้ำมีราคา" (Water Pricing) น้ำไม่ใช่ของฟรีอีกต่อไป" นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการเยียวยา "ผู้ที่เสียสละการใช้น้ำ" ในยามที่ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อนในช่วงที่ปริมาณน้ำสำรองมีน้อย
ทั้งนี้ อัตราการเก็บค่าน้ำจะต่างกันไปตามลักษณะการใช้ประโยชน์ ซึ่งต้องมีการแบ่งแยกชัดเจนว่า"เพื่อยังชีพ" หรือ "เพื่อการพาณิชย์" โดยรายรับจากค่าน้ำนี้สามารถสะสมไว้และนำมาช่วยเหลือให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายได้
เมื่อถามถึง'ความเป็นธรรมในการจัดสรรน้ำ' รศ.ดร.นิรมล อธิบายว่า " พิจารณาได้ใน 3 กรณี หนึ่งให้ผู้ใช้น้ำแต่ละกลุ่มเข้าถึงแหล่งน้ำหรือได้รับการจัดสรรน้ำได้ตามความต้องการใช้น้ำ เช่น หากกลุ่มผู้ใช้น้ำอยู่ห่างไกลจากแหล่งน้ำก็ควรได้รับการจัดสรรน้ำเฉกเช่นเดียวกับกลุ่มที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ และปริมาณจัดสรรน้ำควรจะมากกว่าผู้ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ เพื่อให้มีความมั่นใจว่า "น้ำเดินทางถึง" ผู้ที่อยู่ไกล
สอง ให้ผู้ใช้น้ำแต่ละกลุ่มได้รับการจัดสรรน้ำในปริมาณที่แตกต่างกันตามศักยภาพและประสิทธิภาพการใช้น้ำ เช่น ในกรณีที่ปริมาณน้ำมีจำกัด โดยจัดสรรน้ำให้แก่กิจกรรมที่มีมูลค่าสูงแต่มีการใช้น้ำในปริมาณน้อยกว่าก็ควรได้รับการจัดสรรน้ำเป็นลำดับแรกเมื่อเทียบกับการใช้น้ำเพื่อกิจกรรมที่มีมูลค่าต่ำ และ สาม กลุ่มผู้ใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพการใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ควรได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำให้เหมาะสม โดยเฉพาะในอนาคตที่ปริมาณน้ำใช้การได้น้อยกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
กล่าวคือ การจัดสรรน้ำจะต้องคำนึงทั้งด้านประสิทธิภาพการใช้น้ำ และด้านความเป็นธรรมด้วย การศึกษานี้จึงเสนอให้ใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่เน้นการจัดการด้านอุปสงค์ (การเก็บค่าน้ำใช้
หรือการโอนสิทธิหรือโควตาน้ำใช้ และการเยียวยาหรือการโอนผลประโยชน์ให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากมาตรการการจัดสรรน้ำในรูปแบบต่างๆ) ควบคู่กับมาตรการทางสังคม (กติกาและข้อตกลงร่วมกันของกลุ่มผู้ใช้น้ำ) และเครื่องมือทางกายภาพ (แผนผังกระจายน้ำ)