กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
ปัจจุบันการเรียนวิทยาศาสตร์ เมื่อเรียนจบไปไม่ได้หมายความว่าสามารถทำงานแค่ในห้องแลปหรือเป็นได้แค่นักวิจัยเท่านั้น แต่การเรียนวิทย์ฯ สามารถต่อยอดไปสู่การทำธุรกิจได้อีกมากมาย เหมือนที่ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สถาบันการศึกษาที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงมีความตั้งใจยิ่งเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการผลิต "นักวิทย์รุ่นใหม่" ที่มีความคิดนอกกรอบ กล้าพัฒนานวัตกรรมที่แตกต่างและสร้างสรรค์ ตลอดจนไม่ปิดกั้นศักยภาพตัวเองในการต่อยอดความรู้วิทยาศาสตร์ สู่นวัตกรรมสุดล้ำหรือธุรกิจสตาร์ทอัพที่สามารถสร้างรายได้ได้ในอนาคต ผ่านการเรียนการสอนแบบ SCI+BUSINESS ที่เน้นการผสมผสานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสมัยใหม่ และการบริหารธุรกิจเข้าด้วยกันจนสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจหรืออาชีพที่ทำเงินได้ในอนาคต เพื่อตอบโจทย์นโยบายของภาครัฐ ตลอดจนความต้องการของโลกที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยปัจจุบันคณะฯ เปิดการเรียนการสอนครบทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวม 43 หลักสูตร ใน 10 สาขาวิชา ครอบคลุมทุกด้านเพื่อบ่มเพาะและผลิตนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่
โดยครั้งนี้จะพาทุกคนไปทำความรู้จักหลักสูตรแห่งอนาคตที่เป็นต้นแบบ SCI+BUSINESS คณะวิทย์ฯ มธ. ได้แก่ หลักสูตรวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการหลักสูตรนานาชาติ (Industrial Science and Management International Program) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ISC โดยหลักสูตรนี้ ถือเป็นหลักสูตรนานาชาติเดียวในประเทศไทย ที่หลอมรวมความรู้จากสายวิทย์และสายบริหารเข้าไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัว อีกทั้งเข้มข้นทั้งทฤษฎีและปฏิบัติจากสาขาวิทยาศาสตร์ และถูกเติมเต็มความรู้ทางด้านการจัดการและการบริหาร พร้อมสร้างไม่ใช่แค่นักวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่มุ่งเน้นสร้างนักคิดนักประดิษฐ์ ตลอดจนนักนวัตกรรมที่สามารถนำความรู้ที่มีอยู่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และการจัดการสร้างผลิตภัณฑ์ จนพัฒนาสู่อุตสาหกรรมที่สำคัญ และสร้างประโยชน์ต่อประเทศชาติได้ อีกทั้งยังสามารถทำงานในกิจการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเน้นเทคโนโลยีชีวภาพ เคมี และเทคโนโลยีการอาหาร เรียกได้ว่าเรียนสายนี้มีความโดดเด่นทั้งวิชาชีพ ด้านการบริหารจัดการและภาวะผู้นำ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในการทำธุรกิจระดับสากล เนื่องจากหลักสูตรนี้เรียนเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมดนั่นเอง
สำหรับหลักสูตร ISC ทุกคนจะได้เรียนกลุ่มวิชาเฉพาะวิชาชีพ ประกอบด้วย เทคโนโลยีชีวภาพ เคมีประยุกต์ และเทคโนโลยีการอาหาร รวมกับวิชาพื้นฐานทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ นอกจากนั้นยังมีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพ เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรม หรือห้องปฎิบัติการทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นอย่างน้อย 180 ชั่วโมง เรียกได้ว่าใครเลือกเรียนหลักสูตรนี้ นอกจากจะเก่งเรื่องวิทยาศาสตร์แล้วยังมีความรู้เรื่องการบริหารติดตัวกลับไปอีกด้วย
โดยผลงานล่าสุดของนักศึกษาจากหลักสูตร ISC ได้แก่ "มังคุดโยเกิร์ตอบกรอบ สูตรซินไบโอติก"ได้รับรางวัลการันตีรางวัลเหรียญทองจากเวทีการประกวดและจัดแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ "The 30th International Invention, Innovation and Technology Exhibition" (ITEX 2019) ซึ่งจัดขึ้น ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ สหพันธรัฐมาเลเซีย เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งการคิดค้นและสร้างสรรค์ผลงานดังกล่าวเป็นหนึ่งในการเรียนการสอนให้นักศึกษามีทักษะในการนำเสนองานทางวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม รวมถึงการจัดการในรูปแบบการสัมมนา ตลอดจนการแก้ไขปัญหาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ด้าน นางสาวเบญจวรรณ์ กุลทรัพย์สถิต นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการ (ISC) เผยว่า แม้ว่าหลักสูตร ISC จะไม่ได้เรียนเรื่องวิทย์ฯ เต็ม 100% แต่การที่ได้เรียนวิทย์ฯ และบริหารอย่างละครึ่งรวมกัน สำหรับตนเองถือเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก เนื่องจากเราสามารถนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้อีกหลายอย่าง อีกทั้งการเรียนการสอน อาจารย์ทุกท่านให้ความเอาใจใส่เป็นอย่างมาก เนื่องด้วยการเรียนการสอนของหลักสูตรนี้จะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ซึ่งเวลามีคำถามอะไรที่ไม่เข้าใจหรือตามไม่ทัน อาจารย์ทุกท่านมีความยินดีที่จะพูดคุยและให้คำปรึกษา ส่วนด้านอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่น ห้องแลป ก็มีอาจารย์ พี่ ๆ นักวิทย์ฯ คอยดูแลและช่วยเหลือให้ความรู้อยู่ตลอดเวลา ส่วนเรื่องการฝึกงานก็มีโอกาสได้ไปฝึกงานทั้งในประเทศและก็ต่างประเทศ ซึ่งการฝึกงานต่างประเทศก็ทำให้ได้มีโอกาสเรียนรู้วิธีการทำแลปและการใช้เครื่องมือที่แตกต่างกันออกไป ที่สำคัญคือได้รู้จักเพื่อนต่างชาติ ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมใหม่ ๆ เป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาได้ง่าย ๆ ตลอดจนการส่งผลงานหรือนวัตกรรมเข้าประกวดเวทีต่าง ๆ ก็ได้รับการแรงบันดาลใจและการสนับสนุนมาจากอาจารย์ ที่เปิดโอกาสให้ได้ใช้ความคิด แสดงไอเดียอย่างเต็มที่ ดูแลกันและกันเสมือนเป็นครอบครัวเดียวกัน ทำให้บรรยากาศการเรียนเต็มไปด้วยความสนุกสนานอบอุ่นไม่กดดันจนเกินไป ซึ่งอาจารย์แต่ละท่านก็มีความสนุกสนามและเทคนิคในการสอนที่ไม่เหมือนกัน ทำให้ทุกคนได้รับความรู้ทั้งด้านวิทย์ฯ และบริหารอย่างเต็มที่ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง
สุดท้ายนี้อยากฝากถึงน้อง ๆ ทุกคนที่สนใจอยากเรียน ISC แต่ยังมีความลังเลว่าเรียนทั้งวิทย์และบริหารไปพร้อมกันอาจจะหนักและคิดว่ายากจนอาจเรียนไม่ไหว แต่เชื่อว่าหากทุกคนมีความตั้งใจและเลือกเรียนในสิ่งที่ตนเองชื่นชอบ ทุกคนก็จะทำได้และสนุกไปกับการเรียนอย่างแน่นอน ซึ่งชีวิตช่วงมหาวิทยาลัยถือเป็นอีกช่วงชีวิตหนึ่งที่เต็มไปด้วยเรื่องราวมากมาย อยากให้ทุกคนมีความทรงจำที่ดีและใช้ชีวิตช่วงตอนมหาวิทยาลัยได้อย่างคุ้มค่าที่สุดค่ะ
สำหรับน้อง ๆ นักเรียนที่สนใจและอยากทราบรายละเอียดเพิ่มเติมของหลักสูตรวิทยาศาสตร์อุตสาหการและการจัดการหลักสูตรนานาชาติ (Industrial Science and Management International Program) หรือ ISC คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โทรศัพท์ 099-051-5130 เว็บไซต์ www.isctu.com หรือสอบถามเพิ่มเติมที่ งานบริการการศึกษา คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 0-2564-4440 ต่อ 2002, 2020, 2045 เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th หรือเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat