กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--เอฟเอคิว
ในแต่ละปี ไทยจะมีข้าราชการที่ครบกำหนดเกษียณอายุตามปีงบประมาณจำนวนถึงหลักหมื่นคน โดยข้อมูลข้าราชการพลเรือนสามัญ พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2561-2570 จะมีข้าราชการพลเรือนสามัญเกษียณอายุรวมจำนวน 117,652 คน (เฉลี่ยปีละ 11,765 คน) หากโฟกัสในปี พ.ศ. 2561-2563 จะมีผู้เกษียณอายุจำนวน 8,539 คน 10,068 คน และ 11,017 คน ตามลำดับ
การเปลี่ยนผ่านของบุคลากรเข้าสู่วัยเกษียณดังกล่าว นอกจากจะส่งผลต่อสภาพเศรษกิจโดยรวมเนื่องจากการขาดช่วงของกำลังคนที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคการผลิต และภาคการเกษตร ยังส่งผลต่อตัวผู้เข้าสู่วัยเกษียณอายุเองด้วยที่ต้องขาดรายได้ในการดำรงชีวิต ดังนั้น ผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณเหล่านี้จึงต้องเตรียมตัวเพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังจากนี้ไว้ด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2570 ประเทศไทยจะมีวัยแรงงานลดจำนวนลงเหลือ 61% จากข้อมูลของสำนักวิชาการ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พบว่า แนวทางการรับมือสังคมผู้สูงวัยในต่างประเทศที่นิยมนำมาใช้และอาจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย ประกอบด้วย การขยายอายุเกษียณ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วที่สิงคโปร์ ที่เพิ่มอายุเกษียณจาก 65 ปี เป็น 67 ปี เกาหลีเพิ่มจาก 55 ปี เป็น 60 ปี และญี่ปุ่นขยายจาก 62 ปี เป็น 65 ปี
สอดคล้องกับผลวิจัยของ TDRI ที่พบว่า การเก็บรักษาพนักงานในกลุ่มอายุ 50-60 ปีไว้ และปรับทักษะให้ดีขึ้นจะทำให้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจลดลง 9% และการนำแรงงานในกลุ่มอายุ 60-69
ปีกลับมาในตลาดแรงงานจะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น 2% โดยทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีแผนขยายเวลาเกษียณอายุข้าราชการจากเดิม 60 ปี เป็น 63 ปี ในปี พ.ศ. 2567 เพื่อรองรับสังคมสูงวัย และสนับสนุนให้ข้าราชการมีอาชีพและมีงานทำหลังเกษียณ
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนหลายองค์กรได้มีนโยบายจ้างงานผู้สูงวัยตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อสร้างรายได้และสร้างงานให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลได้ออกกฏหมายสนับสนุนให้บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปเข้าทำงาน ให้สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 100% จึงมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตจะมีองค์กรเอกชนสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอีก
นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายอาชีพที่เป็นทางเลือกให้ผู้สูงวัยสามารถทำงานเพื่อเป็นช่องทางรายได้ในวัยเกษียณ เช่น นักเขียน, แปลงาน/ล่าม/ไกด์, ที่ปรึกษาบริษัท, อาจารย์พิเศษ, ลูกจ้างบริษัทเอกชน, ปลูกต้นไม้, ทำอาหาร/ขนม, ทำงานศิลปะ, เปิดบ้านพักโฮมสเตย์, ลงทุนตู้หยอดเหรียญ เป็นต้น
แม้ว่าเกษียณแล้วจะทำให้ช่องทางรายได้จากการทำงานหายไป แต่ก็ยังมีรายได้อื่น ๆ ที่ได้เสริมจากหลังเกษียณ เช่น เงินบำนาญชราภาพจากประกันสังคม เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลให้กับผู้สูงอายุทุกคนที่ไม่เคยได้รับสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ กองทุนบำเหน็จบำนาญสำหรับผู้ที่เป็นข้าราชการ ส่วนผู้ที่ทำงานในบริษัทเอกชนบางแห่งจะมี Provident Fund หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อเป็นกองทุนเงินออมหลังเกษียณอายุ โดยมาจากเงินสะสมของเงินเดือนลูกจ้างในแต่ละเดือน รวมถึงเงินออมในธนาคาร และประกันชีวิตที่เคยทำไว้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 จากกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เผยว่าไทยมีประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปกว่า 11 ล้านคน โดยในปี พ.ศ. 2564 จะมีประชากรสูงวัย 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด หรือ 20% และที่น่าเป็นห่วงคือจำนวนผู้สูงวัยที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน อยู่ที่ 34.3% (ในปี พ.ศ. 2557 เส้นต่ำกว่าความยากจน คือ ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาท/เดือน)
อีกทั้งกว่า 55.8% คนสูงวัยยังต้องพึ่งพารายได้จากผู้อื่น ยังต้องทำงานหารายได้เอง 34% ซึ่งแหล่งรายได้หลักการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุ มาจากบุตร 36.7% รายได้จากการทำงานของผู้สูงอายุเอง 33.9% เบี้ยยังชีพจากราชการ 14.8% เงินบำเหน็จบำนาญ 4.9% จากคู่สมรส 4.3% ดอกเบี้ยเงินออมและการขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ 3.9% และรายได้จากทางอื่น ๆ อีก 1.5%
ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนว่าประเทศไทยยังมีปัญหาเรื่องเงินออมในวัยเกษียณมาก แม้ว่าภาครัฐพยายามที่จะผลักดันกองทุนเงินออมแห่งชาติ (กอช.) โดยรัฐบาลช่วยจ่ายเงินสมทบส่วนหนึ่งรวมถึงการจัดกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.) เป็นกองทุนภาคบังคับที่มีวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมให้คนทำงานทั่วประเทศได้ออมเงินไว้ใช้ภายหลังเกษียณก็ยังไม่เพียงพอต่อสัดส่วนประชากรผู้สูงวัยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี
ดังนั้นการปลูกฝังและให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการออมตั้งแต่วัยทำงานจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตหลังเกษียณได้อย่างไม่ยากลำบาก ซึ่งนอกจากการทำงานหลังเกษียณแล้วยังมีวิธีสร้างรายได้หลังเกษียณให้งอกเงยขึ้นได้อีกหลายวิธี คือ การลงทุนในสินทรัพย์ที่สามารถสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น เช่น อสังหาริมทรัพย์ ทอง เพชร หุ้น รวมถึงลงทุนในกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ หรือลงทุนใน กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ซึ่งกองทุนทั้งสองแบบมีข้อดีกว่าการลงทุนซื้อขายหุ้น คือมีความเสี่ยงต่ำกว่า แต่ได้ผลตอบแทนที่สูง และสามารถนำเงินที่ลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว LTF ไปหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 15% ของรายได้ในแต่ละปี
และเมื่อเอ่ยถึงอสังหาริมทรัพย์ การใช้ชีวิตในวัยเกษียณก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่หลายคนคำนึงถึง บางรายอาจอาศัยร่วมกับลูกหลานหรือพี่น้องซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ขณะที่ผู้สูงวัยอีกไม่น้อยที่ไม่ได้แต่งงาน หรือต้องการแยกตัวมาอยู่คนเดียวก็เริ่มให้ความสนใจรูปแบบที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ
จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ (DDproperty Consumer Sentiment Survey) รอบล่าสุด ซึ่งมีผู้บริโภคอายุตั้งแต่ 22-70 ปีขึ้นไป เข้าร่วมทำแบบสำรวจกว่า 800 คน ได้แสดงมุมมองของคนไทยที่มีต่อที่พักอาศัยในวัยเกษียณอย่างน่าสนใจ โดยพบว่า
- อสังหาฯ ประเภทบ้านเดี่ยวขึ้นแท่นอันดับ 1 ครองใจวัยเกษียณตามด้วยที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และคอนโดมิเนียมหรือทาวน์เฮ้าส์
- 49% ของผู้ทำแบบสำรวจไม่มีความกังวลใด ๆ หากถึงวัยเกษียณ
- ผู้ทำแบบสำรวจ 18% กังวลเรื่องการอยู่คนเดียวเมื่อยามสูงวัย
- 28% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-39 ปี และ 50-59 ปี มองว่าระยะห่างระหว่างที่พักและระบบขนส่งสาธารณะไม่ใช่ปัญหา
- 45% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 60-69 ปี รับได้หากระยะห่างระหว่างที่พักกับระบบขนส่งสาธารณะไม่เกิน 500 เมตร
ข้อมูลจากแบบสำรวจพบว่า ประเภทอสังหาฯ ที่ครองใจวัยเกษียณเป็นอันดับ 2 คือ ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัย ซึ่งตอบโจทย์ผู้สูงวัยที่ไม่มีลูกหลานดูแล เพราะมีทั้งรูปแบบโครงการที่เป็น Community วัยเกษียณ เหมาะสำหรับผู้ที่ยังสามารถดูแลตนเองได้ ภายในโครงการมีบริการทางการแพทย์คอยดูแล ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ Nursing Home ตอบโจทย์ผู้สูงวัยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งมีแพทย์ พยาบาล คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากให้ความสนใจลงทุนที่พัก สำหรับผู้สูงวัย โดยมีระดับราคาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก การให้บริการ ทำเลที่ตั้ง ซึ่งผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณแล้วกำลังมองหาทางเลือกนี้ ลองค้นหาที่ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่ไม่ใช่แค่ด้านการเงินอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องตอบรับปัจจัยความจำเป็นอื่น ๆ ด้วย เช่น สุขภาพ การเดินทาง สังคม สิ่งแวดล้อม ไลฟ์สไตล์ ดังนั้นจึงควรไปดูสถานที่จริงเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่นเดียวกับการเลือกซื้อหรือเช่าบ้าน ซึ่งจะเป็นที่พักพิงทางกายและใจในยามบั้นปลายของชีวิตได้อย่างมีความสุข