กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ฉลองครบรอบ 90 ปี ในฐานะหน่วยงานซึ่งมุ่งมั่นยกระดับพัฒนาการองค์รวมของอุตสาหกรรมก่อสร้างของประเทศไทย โดยจัดงานสัมมนาอนาคตวงการอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยเพื่อความยั่งยืน "Future Construction 2019 : BUILT TO LAST" เพื่อแถลงความสำเร็จของสมาคมฯ ตลอด 9 ทศวรรษที่ผ่านมาและประกาศเป้าหมายต่อไปของสมาคมฯ โดยระบุเดินหน้าผลักดันภาคการก่อสร้างไทยสู่ความยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ด้วยการส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือเชิงบูรณาการของทุกภาคส่วน โดยให้ความสำคัญกับการผลักดันความก้าวหน้าในด้านคุณภาพแรงงานและการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้เกิดผลประโยชน์แก่องค์รวม และด้านการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งให้เกียรติเป็นประธานเปิดงาน "Future Construction 2019 : BUILT TO LAST" กล่าวว่า "อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยที่ตั้งซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนที่มีการเติบโตเร็ว ความอุดมสมบูรณ์ด้านวัตถุดิบ และโอกาสทางธุรกิจที่ยืดหยุ่นและกว้างขวาง ประเทศไทยจึงมีเงินทุนไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดการสร้างงาน พัฒนาการทางธุรกิจ และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ โดยพบว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในปี 2562 มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 6.5% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็นแรงส่งจากภาครัฐ 9% และจากภาคเอกชน 3.5% ขณะที่ในช่วงปี 2552-2560 ที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยคิดเป็นสัดส่วน 8.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ วงการก่อสร้างไทยยังเป็นที่ยอมรับในระดับสากลโดยติดอันดับที่ 32 ของโลก ในการจัดอันดับดัชนีวัดประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ โดยธนาคารโลก และครองอันดับที่ 2 ของเอเซียนและอันดับที่ 9 ของโลก ในการจัดอันดับดัชนีความสามารถทางการแข่งขันในหมวดโครงสร้างพื้นฐาน โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) ทั้งนี้ในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังต้องพึ่งพาแรงขับเคลื่อนจากกลุ่มประเทศในแถบตะวันออก ประเทศไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วอย่างอาเซียนจึงอยู่ในฐานะตัวแปรที่สำคัญ ดังนั้นการพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย หนึ่งในฟันเฟืองหลักที่สร้างความก้าวหน้าให้แก่ประเทศ จึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้กระทรวงคมนาคมจึงมุ่งมั่นยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะด้านการขนส่ง ทั้งในส่วนของทางหลวง ทางหลวงชนบทและความปลอดภัยของเส้นทาง เพื่อการขับเคลื่อนระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC"
นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า "สมาคมฯ มุ่งมั่นส่งเสริมอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมสากลอยู่เสมอ โดยในวันนี้เรามุ่งผลักดันให้เกิดอนาคตที่ยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ ทั้งในด้านการขจัดความยากจน ด้านการจ้างงานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางธุรกิจ ด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรม และโครงสร้างพื้นฐาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน โดยสมาคมฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้เกิดการประสานพลังระหว่างทุกภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐบาล ภาคผู้ประกอบการธุรกิจ และภาคแรงงาน เพราะจะนำมาซึ่งความเข้าใจซึ่งกันและกัน มาตรการและกระบวนการทางธุรกิจที่ตอบโจทย์ และพัฒนาการที่เป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ทั้งนี้ ในส่วนของสมาคมฯ ก็ได้ลงนามข้อตกลงกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย เพื่อร่วมกันยกระดับการดูแลสิทธิเด็กในกลุ่มบุตรหลานของแรงงานก่อสร้างในประเทศไทยให้มีคุณภาพ อันจะนำมาสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคมอย่างแท้จริง นอกจากนี้สมาคมฯ ยังสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร เพื่อยกระดับเทคโนโลยีการก่อสร้าง ด้วยการจัด INTERMAT ASEAN งานแสดงสินค้าและการประชุม สัมมนาระดับนานาชาติด้านอุตสาหกรรมก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา เพื่อก่อเกิดการขยายเครือข่ายในการทำธุรกิจร่วมกัน"
"ทั้งนี้สมาคมฯมีเป้าหมายการเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน 3 ประการ ประการที่หนึ่ง คือ ด้านแรงงาน ทั้งในด้านความขาดแคลน ด้านคุณภาพทางทักษะ และด้านต้นทุนค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีความท้าทายด้านระบบการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล ที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง เพื่อให้สามารถเข้าถึงแรงงานที่มีศักยภาพสูง และสร้างวงจรการทำงานที่ก่อให้เกิดการเติบโตขององค์กรในระยะยาว ประการที่สอง คือ บทบาทของภาครัฐ ในการสนับสนุนให้ภาคการก่อสร้างไทยเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในเชิงนโยบาย การควบคุมราคากลาง ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง มาตรการด้านแรงงาน การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ การควบคุมการแสวงหาผลประโยชน์โดยต่างชาติ และการบริหารจัดการเพื่อให้เกิดผลได้แก่ประเทศชาติโดยรวมอย่างแท้จริง และประการที่สาม คือ การปรับใช้นวัตกรรมในงานก่อสร้าง เพื่อยกระดับสายการผลิตและการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำ อีกทั้งประหยัดต้นทุนและเวลา" คุณอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าว
สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยึดมั่นต่อบทบาทผู้ส่งเสริมการประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างทุกสาขาให้มีความสมดุลย์บนพื้นฐานความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตที่ดีของคนทุกคนในสังคม และการดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมาย การส่งเสริมความรู้และทักษะด้านการก่อสร้างให้มีความก้าวหน้าอย่างทั่วถึง และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างทุกภาคส่วน ให้เปี่ยมไปด้วยความเข้าใจ ความสามัคคี และความเป็นธรรม โดยตลอด 90 ปีที่ผ่านมา สมาคมฯ ได้เข้าไปเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสมาชิกสมาคมฯ และภาครัฐ เพื่อเอื้อให้เกิดการดำเนินการทางธุรกิจก่อสร้างที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้สมาคมยังได้ได้มีส่วนสนับสนุนพัฒนาการที่สำคัญของอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทย อาทิ การจัดอบรมแลกเปลี่ยนความรู้ การเผยแพร่เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการก่อสร้าง รวมถึงการเปิดพื้นที่ให้สมาคมฯ ได้เป็นศูนย์กลางในการรับฟังข้อคิดเห็นและปัญหาต่างๆ จากสมาชิก เพื่อให้สมาชิก โดยสมาคมฯ มุ่งหวังให้ภาคอุตสาหกรรมก่อสร้างมีความมั่นคงแข็งแรง มีเวทีที่เป็นที่ยอมรับ เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการกำหนดนโยบายและทิศทางของอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างโปร่งใสและเป็นธรรม รวมทั้งผู้ประกอบการและบุคลากรในอุตสาหกรรมก่อสร้างทุกระดับจะได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน โดยสมาคมฯ มุ่งมั่นเร่งผลักดันให้เกิดผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเอื้อให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม การสร้างรายได้ให้แก่แรงงานในประเทศ และความเป็นอยู่ที่ดีมีคุณภาพของประชาชนไทยทุกคน
งานสัมมนา "Future Construction 2019 : BUILT TO LAST" ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ได้แก่ คุณไผท ผดุงถิ่น ประธานบริหาร บริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด, คุณธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) และศาสตราจารย์ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด ร่วมแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตของวงการก่อสร้างไทย
สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ที่ www.tca.or.th
รูปภาพประกอบ
1. นายธนา เธียรอัจฉริยะ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
2. นายยรรยง นิติสาโรจน์ กรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
3. นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข กรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
4. นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
5. นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
6. นางสาวลิซ่า งามตระกูลพานิช อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
7. นายธนัท เวสารัชชานนท์ เลขาธิการ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
8. นายกฤษดา ตัณฑ์วิไล กรรมการบริหาร สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
9. นายไผท ผดุงถิ่น ประธานบริหาร บริษัท บิลค์ วัน กรุ๊ป จำกัด
10. ศาสตราจารย์ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด
เกี่ยวกับกรอบความร่วมมือระหว่าง สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย
สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ผู้ประกอบการธุรกิจก่อสร้าง ตั้งมั่นที่จะร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และพันธมิตร เพื่อดำเนินการส่งเสริมให้แรงงานเด็กหมดไปจากภาคการก่อสร้างอย่างเต็มความสามารถ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อให้มั่นใจว่าบุตรหลานทุกคนของแรงงานก่อสร้างทั่วประเทศจะเข้าถึงสิทธิ์ของตนและทุกบริการทางสังคมที่เหมาะสม ตั้งแต่ในเรื่องการป้องกันคุ้มครองเด็ก การเข้าถึงการศึกษาในโรงเรียน และการดูแลสุขภาพ
เกี่ยวกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม ปีพ.ศ. 2471 "สมาคมนายช่างแห่งกรุงสยาม" ได้รับการจดทะเบียนเป็นสมาคมตามพระราชบัญญัติอย่างเป็นทางการ ต่อมาเมื่อรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.บ. การประกอบธุรกิจการค้า ซึ่งระบุว่า ธุรกิจเอกชนและสมาคมจะต้องจดทะเบียนการค้าอีกครั้งหนึ่งกับกรมการค้าภายใน จึงนำมาสู่การจดทะเบียนใหม่และการเปลี่ยนชื่อทั้งสิ้น 3 ครั้ง คือจาก "สมาคมนายช่างแห่งประเทศไทย" เป็น "สมาคมนายช่างเหมาไทย" ในปีพ.ศ. 2509 และล่าสุดคือ "สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย" ในปีพ.ศ. 2526 ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้มาจนถึงทุกวันนี้ โดยสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ มุ่งมั่นส่งเสริมการประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้างทุกสาขา ให้มีสมดุลและเป็นที่ไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งรัฐบาล เอกชน แรงงาน และประชาชน ส่งเสริมองค์ความรู้ในวิชาช่างรับเหมาก่อสร้างให้เจริญก้าวหน้าทันยุคทันสมัยทัดเทียมระดับนานาชาติ และส่งเสริมความสามัคคีและความช่วยเหลือซึ่งกันและกันระหว่างสมาชิกในวงการก่อสร้างไทย โดยคำนึงถึง สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน และนิติรัฐ เป็นรากฐานที่สำคัญ