กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--โรงพยาบาลจิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์
รพ.จิตเวชนครราชสีมา ขานรับนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จัดบริการรับยาที่ร้านยามาตรฐานใกล้บ้าน เริ่มในพื้นที่อ.เมืองก่อน 5 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2562 เป็นต้นไป นำร่องกลุ่มผู้ป่วยจิตเวชสิทธิบัตรทองรายเก่าที่อาการคงที่ ไม่มีปัญหาจากการใช้ยา เพื่อรับยาเดิมกินต่อเนื่อง และตามความสมัครใจ ไม่ต้องควักเงินจ่ายเพิ่มเติม ยืนยันตัวยาที่จ่ายเป็นชนิดเดียวกันที่เคยกินทุกรายการ ผู้ป่วยมั่นใจได้ จะประเมินผลในอีก 1 เดือนเพื่อปรับระบบให้ลงตัวก่อนขยายผลในระยะที่ 2 และวิจัยเป็นต้นแบบของระบบด้วย
เช้าวันนี้(1 ต.ค. 2562 ) ที่โรงพยาบาล (รพ.) จิตเวชนครราชสีมาราชนครินทร์ จ.นครราชสีมา นายแพทย์กิตต์กวี โพธิ์โน ผู้อำนวยการรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯพร้อมด้วย นายแพทย์ นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมา แพทย์หญิงลลิตยา กองคำ ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสปสช.เขต 9 จ.นครราชสีมา เภสัชกรสมชาติ ใจซื้อกุล
เภสัชกรอาวุโสที่ปรึกษากลุ่มเภสัชกรนครราชสีมาและเจ้าของร้านยาอมรินทร์เภสัช และเภสัชกรวิรัช ลักคนสุวรรณ์ เภสัชกรอาวุโสที่ปรึกษาชมรมเภสัชกรจิตเวช กรมสุขภาพจิต ร่วมเปิดโครงการ เพิ่มทางเลือกผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 4 กลุ่มโรค รับยาที่ร้านยาใกล้บ้าน ลดแออัด รอคอยการรักษา ตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นายแพทย์กิตต์กวี ให้สัมภาษณ์ว่า รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ ได้ร่วมมือกับสปสช. เขต9 จ.นครราชสีมา และชมรมร้านยาในจ.นครราชสีมา ดำเนินการจัดบริการนำร่องผู้ป่วยจิตเวชที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันที่อยู่ในเขตอ.เมืองนครราชสีมาที่ได้มาตรฐานของอ.ย. จำนวน 5 แห่ง ประกอบด้วย ร้านเรือนยา ถนนช้างเผือก ต.ในเมือง,ร้านอัมรินทร์เภสัช ถ.ชุมพล ต.ในเมือง , ร้านตะกร้ายา ตรอกเสาธง ต.ในเมือง , ร้านปัญจสรณ์เภสัช ถ.รัตนภิธาน ต.จอหอ และร้านพี.อาร์.ฟาร์มาซี ต.โพธิ์กลาง อ.เมือง ซึ่งมีเภสัชกรอยู่ประจำการตลอดเวลาทำการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป ผู้ป่วยจิตเวชที่จะใช้บริการรับยาที่ร้านยาดังกล่าว จะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ 3 ประการ คือ1. เป็นผู้ป่วยจิตเวชสิทธิบัตรทองเท่านั้น 2.เป็นผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าที่มีอาการคงที่ ไม่มีปัญหาจากการใช้ยา และแพทย์นัดรับยาเดิมเพื่อกินอย่างต่อเนื่อง และ3.ผู้ป่วยสมัครใจไปรับยาที่ร้านยา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมแต่อย่างใด
นายแพทย์กิตต์กวีกล่าวว่า ต่อวันจะมีผู้ป่วยรายเก่าที่มาจาก 4 จังหวัดในเขตนครชัยบุรินทร์คือนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ไปรับยาเดิมที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯประมาณ 200 คนจากผู้ป่วยที่ใช้บริการทั้งหมดเฉลี่ย 320 คนต่อวัน ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยโรคจิตเภทและโรคซึมเศร้า คาดว่าโครงการนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยจิตเวชได้รับความสะดวกมากขึ้น คิวรอพบแพทย์ คิวรับยาจะสั้นลงไปอีก
ซึ่งยาจิตเวชที่จ่ายในร้านยานั้นจะเป็นชนิดเดียวกันที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯใช้ในแต่ละกลุ่มโรคทุกรายการ โดยเภสัชกรของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯจะจัดระบบการดูแลผู้ป่วยเชื่อมโยงกับเภสัชกรร้านยาอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างความมั่นใจ ความปลอดภัยตามมาตรฐานทุกประการ และจะประเมินผลหลังจากดำเนินการไปแล้ว 1 เดือน เพื่อปรับปรุงระบบให้มีมาตรฐานและมีความคล่องตัว ก่อนขยายผลในระยะที่ 2 ต่อไปทั้งในระดับพื้นที่ จำนวนร้านยา และผู้ป่วยจิตเวชรายอื่นๆ ต่อไป
ทางด้านเภสัชกรหญิงจุฑามณี ดุษฎีประเสริฐ รองผู้อำนวยการด้านสารสนเทศและการพัฒนาคุณภาพสู่ความเป็นเลิศ และหัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรมรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ กล่าวว่า ก่อนที่ผู้ป่วยจิตเวชจะไปรับยาที่ร้านยา 5 แห่งที่ร่วมโครงการจะต้องมาที่รพ.จิตเวชนครราชสีมาเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ก่อนว่ามีอาการคงที่และไม่มีปัญหาจากการใช้ยาใดๆ รวมทั้งผ่านการคัดกรองจากเภสัชกรเพื่อลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการรับยาใกล้บ้าน โดยขณะนี้ทางกลุ่มงานเภสัชกรรมของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯได้เชื่อมระบบข้อมูลยากับร้านยาทั้ง 5 แห่งแล้ว ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับใบนัดรับยาที่ร้านยา และใบนัดพบแพทย์รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ สามารถถือไปรับยาที่ร้านยานั้นๆ ได้เลย และสามารถรับยาครั้งต่อไปโดยตรงที่ร้านยาได้ต่อเนื่อง
เภสัชกรหญิงจุฑามณี กล่าวต่อไปว่า ยาจิตเวชที่จ่ายจากร้านยาทุกรายการจะติดคิวอาร์โค้ด (QR code) ที่ซองยา เพื่อให้ผู้ป่วย ญาติ รวมทั้งเจ้าหน้าที่ทีมหมอครอบครัวที่เยี่ยมบ้าน สามารถสแกนรายละเอียด ทราบชื่อตัวยา และข้อมูลการใช้ต่างๆ ได้ โดยรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯจะนัดผู้ป่วยจิตเวชรายเก่าที่กินยาต่อเนื่องและมีอาการคงที่ทุก 6 เดือน เพื่อพบแพทย์ประเมินความก้าวหน้าผลการรักษาต่อเนื่องและปรับการรักษาให้เหมาะสม
ทั้งนี้ผู้ป่วยจิตเวชและญาติที่สนใจจะสมัครใจเข้าร่วมโครงการ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่กลุ่มงานเภสัชกรรม รพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ หมายเลข 044-233-999 ต่อ 65104 ในวันและเวลาราชการ
"การดำเนินงานครั้งนี้นับเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกับองค์กรวิชาชีพ เพื่อพัฒนาและบูรณาการระบบบริการสุขภาพจิตและจิตเวชในระดับปฐมภูมิทำให้ผู้ป่วยจิตเวชได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องในรูปแบบของการรับยาใกล้บ้านร้านยาใกล้ใจ
โดยจะมีการศึกษาวิจัยประเมินประสิทธิผลของการพัฒนาระบบบริการในระยะแรกนี้ร่วมกัน 3 ฝ่ายระหว่างร้านยา กลุ่มงานเภสัชกรรมของรพ.จิตเวชนครราชสีมาฯ และชมรมเภสัชกรจิตเวช กรมสุขภาพจิต เพื่อพัฒนาระบบให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชน " เภสัชกรหญิงจุฑามณีกล่าว