กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS) เปิดตัว Human Genomic Music: เครื่องมือสื่อสารสร้างความรับรู้ด้านจีโนมมนุษย์ ในงาน Bio Investment Asia 2019 ณ EH104 ไบเทค บางนา กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2562
การถอดรหัสพันธุกรรมของมนุษย์ เปรียบเสมือนการเผยความลับของ "พิมพ์เขียวมนุษย์" ซึ่งนับเป็นการเปลี่ยนแปลงก้าวสำคัญในทางชีววิทยาศาสตร์ พันธุศาสตร์ และการแพทย์สมัยใหม่ ที่นักวิจัยทั่วโลกศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม เพื่อค้นหาและไข "รหัสลับ" ที่ทำให้มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไป เช่น ความสูง สีผิว สีผม สีของนัยน์ตา หรือก่อให้เกิดโรคพันธุกรรมที่จะถูกถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ความรู้ด้านจีโนมิกส์เข้ามามีอิทธิพลสำคัญต่อการแพทย์และสาธารณสุขของโลกอย่างมาก ในเรื่องแนวทางการดูแล รักษาและป้องกันสุขภาพของมนุษย์ ได้ประยุกต์ใช้และเชื่อมโยงข้อมูลด้านพันธุกรรม (Genomic information) สภาพแวดล้อม (Environment) และวิถีชีวิต (Lifestyle) การเข้าถึงและเข้าใจถึงความเชื่อมโยงนี้ ยังไม่เป็นที่แพร่หลาย และยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้ถึงรายละเอียดและความสัมพันธ์นี้
ดร.ศริศักดิ์ เทพาคำ รองผู้อำนวยการด้านวิชาการและนวัตกรรม ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์กล่าวว่า "ทีเซลส์ (TCELS) เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างความตระหนักและการรับรู้ต่อประชาชน โดยได้จัดทำ Human Genomic Music: เครื่องมือสื่อสารสร้างความรับรู้ด้านจีโนมมนุษย์ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราวของจีโนมิกส์เผยแพร่สู่สาธารณชน ให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ง่าย จึงได้จัดทำโครงการ Human Genomic Music ขึ้น เพื่อประยุกต์ผลงานจากการศึกษาวิจัยด้านการแพทย์จีโนมิกส์ ใช้รหัสพันธุกรรมมนุษย์ หรือ ดีเอ็นเอ นำมาสร้างเป็นบทเพลงและเสียงดนตรี เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสารให้แก่ประชาชนขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยดำเนินการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ใช้การจับคู่เบส 3 ในการแปลงเป็นโน้ตดนตรี 1 เสียง ดังนั้น รหัสดีเอนเอ ซึ่งประกอบด้วยเบส 4 ตัว คือ A T C G เมื่อจับคู่ 3 เป็น AAA AAG AAC AAT ACA ACG ACT จะสามารถเปลี่ยนรหัสพันธุกรรมเหล่านี้ได้ออกมาเป็น 64 ตัวโน้ต หรือ 64 เสียง ซึ่งโครงการนี้ ได้ใช้
ดีเอ็นเอจากคนไทย 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนที่ไม่มีโรค กลุ่มคนที่มียีนโรคมะเร็ง และจากกลุ่มคนที่มียีนอัลไซเมอร์ นำมาร้อยเรียงใส่จังหวะให้เป็นบทเพลง ซึ่งต้องใช้ความเข้าใจถึงพันธุศาสตร์ และความสามารถเฉพาะทางดนตรีที่จะถอดรหัสทางพันธุกรรม เป็น code และถ่ายทอดจากชุด code ดังกล่าว เป็นโน้ตดนตรี จากนั้นจึงนำมาเรียบเรียงใส่จังหวะ เพื่อให้เป็นดนตรีที่มีความสมบูรณ์ มีคุณภาพ ถ่ายทอดให้เกิดอรรถรส สื่อความหมาย เกิดแรงบันดาลใจ ไปยังประชาชนได้ ซึ่งในการดำเนินงานครั้งนี้ เราได้ผู้ประพันธ์บทเพลง Music Director และนักดนตรี มืออาชีพ คือ คุณหนึ่ง จักรวาล เสาธงยุติธรรม มาเรียบเรียงดนตรีให้โดยบทเพลงแห่งชีวิตทั้ง 3 บทเพลง ได้แก่
1. Homo sapieno #1: Human Genomic Musical Stories
Music Style: Progressive Blues นำเสนอจังหวะการดำเนินชีวิตของมนุษย์ที่ผ่านช่วงต่างๆ ของชีวิต มีทั้งความสุข ความเศร้า เริ่มตั้งแต่เกิด เติบโต เรียนรู้ เข้าสู่วัยทำงาน ฝ่าพันอุปสรรคต่างๆ จนเข้าสู่วัยชรา จนสิ้นอายุขัย
2. Homo sapieno #2: Cancer stories
Music Style: New Age นำเสนอเรื่องราวความเศร้า ความท้อแท้ของการเกิดโรค และความหวังที่จะบำบัดรักษาให้หายขาด สลับกันไปตามช่วงเวลาต่างๆ และถ่ายทอดออกมาเป็นแนวดนตรีสมัยใหม่ ที่ไม่ได้มีจังหวะที่ชัดเจน
3. Homo sapieno#3: The Alzheimer's Stories
Music Style: Waltz เนื่องด้วยผู้ป่วยอัลไซเมอร์ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และมีอาการหลงลืม สับสน จึงได้ นำเสนอความสับสนของการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผ่านจังหวะวอลซ์ที่มีความเนิบช้าและสับสน แต่ประคองให้อยู่ในท่วงจังหวะทำนองที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามที่จะประติดประต่อเรื่องราวและความจำระยะยาวที่ยังฝังอยู่ในจิตใจ
Henry Wadsworh Longfellon จินตกวีชาวอเมริกันได้กล่าวไว้ "ดนตรีเป็นภาษาสากลของมนุษยชาติ เกิดขึ้นจากธรรมชาติ และมนุษย์ได้นำมาดัดแปลงแก้ไขให้ประณีตงดงามไพเราะ เมื่อฟังดนตรีแล้วทำให้เกิดความรู้สึกนึกคิดต่างๆ" (Music is the universal language of mankind.) ดังนั้น โครงการ Human Genomic Music ของ ทีเซลส์ (TCELS) ในครั้งนี้ จึงมีเป้าหมายในการสร้างความรับรู้ในเรื่องพันธุศาสตร์ และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสื่อสารด้านจีโนมมนุษย์ และลักษณะของโรคพันธุกรรมได้อีกทางหนึ่ง
- ติดตามข่าวสาร : www.tcels.or.th
- กดติดตามแฟนเพจ : TCELS Thailand
- TCELS: MAKE EVERY LIFE BETTER