กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--ธพว.
พื้นที่ชายฝั่งกรุงเทพมหานคร บริเวณชายทะเลกรุงเทพ เขตบางขุนเทียน แต่ละปีจะถูกคลื่นทะเลกัดเซาะให้พื้นดินหายไปปีละมากกว่า 20-30 เซนติเมตร รวมแล้ว ผืนดินชายฝั่งหายไปกว่า 3,000 ไร่
จากปัญหาดังกล่าว ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลน ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มาเป็นแนวทางในการฟื้นฟูระบบนิเวศป่าชายเลนและป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในพื้นที่เขตบางขุนเทียน ด้วยการริเริ่มโครงการ "ปลูกป่าในใจคน ตามศาสตร์พระราชา" ตั้งแต่ปี 2560 โดยจัดกิจกรรมนำผู้บริหาร และพนักงานธนาคารช่วยลงพื้นที่ไปช่วยกันปลูกป่าชายเลนคืนพื้นที่สีเขียวให้ชายทะเลกรุงเทพ บางขุนเทียน
สำหรับกิจกรรมดังกล่าว ธพว. ดำเนินการจัดต่อเนื่อง โดยปีนี้ นับเป็นครั้งที่ 3 แล้ว จัดเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่อ "2 ล้อผูกใจ ปั่นไปปลูกป่า" โดยร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ สำนักงานเขตพญาไท และบริษัท หริกุลกรุ๊ป จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์สมุนไพร แบรนด์ "Mt.Sapola" มีผู้บริหาร และพนักงานของทั้ง 3 หน่วยงานเข้าร่วมกว่า 100 ชีวิต
ไฮไลท์ครั้งนี้ นอกเหนือจากกิจกรรมปลูกป่าชายเลนแล้ว ยังเปิดโอกาสให้ผู้ร่วมกิจกรรม "ปั่นจักรยาน" จากจุดสตาร์ทโรงเรียนคลองพิทยาลงกรณ์ เข้าไปสู่จุดหมายในการปลูกป่า รวมระยะทางไปกลับกว่า 8 กิโลเมตร เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ผู้ร่วมกิจกรรมรักการออกกำลังกาย มีสุขภาพดี และยังการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย
ตลอดระยะ 3 ปีที่ผ่านมา โครงการ "ปลูกป่าในใจคน ตามศาสตร์พระราชา" ประสบความสำเร็จอย่างสูง สามารถปลูกต้นโกงกางไปได้แล้วกว่า 3,000 ต้น บนเนื้อที่กว่า 3 ไร่ ช่วยลดผลกระทบและชะลอความเสียหายจากปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งได้อย่างน่าพอใจ นอกจากกิจกรรมร่วมปลูกป่าชายเลนแล้ว ตั้งแต่ปี 2560-2562 ทาง ธพว. ยังทำกิจกรรมเก็บขยะในพื้นที่โดยรอบชายทะเลกรุงเทพ บางขุนเทียน อีกทั้ง สมทบทุนแก่"มูลนิธิปลูกป่าในใจคน ตามศาสตร์พระราชา" เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการทำกิจกรรมฟื้นฟูผืนดินสำหรับปลูกป่าชายเลนบริเวณชายทะเลบางขุนเทียนให้กลับมาสมบูรณ์อีกครั้ง
จากความร่วมมือร่วมใจในกิจกรรมดังกล่าว อนาคตพื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นพื้นที่สำคัญ ทั้งในฐานะปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ และต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ นำมาสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ ให้กับคนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืนได้อีกด้วย