กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ร่วมกับบริษัท เนสท์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และบริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดตัวโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพด้านนวัตกรรมการเกษตรระดับนานาชาติ หรือ AGrowth ครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจและผู้ประกอบการจากทั่วโลก ในการส่งผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีอันทันสมัยที่จะขับเคลื่อนไปสู่ผลลัพธ์เชิงบวกต่ออนาคตของอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทย นอกจากนี้ NIA และหน่วยงานพันธมิตรจะร่วมกันพัฒนา 10 สตาร์ทอัพจาก 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย มาเลเซีย อินเดีย ไนจีเรีย และออสเตรเลีย ให้มีการเติบโตทั้งในด้านช่องทางการขยายธุรกิจ การตลาด และนำโซลูชั่นมาทดลองและแก้ปัญหาจริงให้กับเกษตรกรที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการพัฒนาภาคการเกษตรการเป็น "เกษตรอัจฉริยะ"
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญของโลก สามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้หลายแสนล้านบาทต่อปี จึงนับว่าภาคเกษตรมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และยังสร้างให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากมาย แต่อย่างไรก็ตามภาคการเกษตรของไทยยังคงใช้แรงงานคนเป็นหลัก รวมทั้งยังต้องหวังพึ่งพาสภาพดินฟ้าอากาศที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงทำให้พืชผลทางการเกษตรมีผลผลิตต่ำและไม่ได้คุณภาพ รัฐบาลจึงมีนโยบายเกษตร 4.0 ที่เน้นการบริหารจัดการโดยใช้เทคโนโลยี เช่น การนำข้อมูลสภาพภูมิอากาศ มาวิเคราะห์โดยอาศัยเซ็นเซอร์ในรูปแบบต่างๆ และประมวลผลเพื่อให้เกษตรกรสามารถบริหารการเกษตรให้สอดคล้องกับพื้นที่และสภาพอาการให้ได้มากที่สุด แต่ก็ยังคงมีปัญหาสำคัญคือ เกษตรกรขาดความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีและไม่ได้รับคำแนะนำที่เพียงพอ ตลอดจนผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมการเกษตรยังมีจำนวนไม่มากพอ และยังขาดแนวทางการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ
ทั้งนี้ NIA จึงได้จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์ธุรกิจนวัตกรรมการเกษตร (Agro Business Creative Center; ABC Center) ซึ่งเป็นศูนย์ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านการเกษตรที่มุ่งเน้นส่งเสริมศักยภาพและยกระดับภาคการเกษตรของประเทศ โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพลิกโฉมการเกษตรของไทย 5 ด้าน ดังนี้ 1. ด้านเทคโนโลยี เปลี่ยนจากเกษตรที่ใช้แรงงาน พึ่งพาฤดูกาล เป็นการใช้เทคโนโลยีต่างๆ มาควบคุม และปรับปรุงระบบเกษตรให้แม่นยำมากขึ้น 2. ด้านเศรษฐกิจ การเปลี่ยนจากการเกษตรที่ต้องพึ่งพ่อค้าคนกลางในการผลิต และการขาย เป็นการสร้างเกษตรที่เกิดรายได้ในตัวเอง 3. ด้านการตลาด เปลี่ยนจากตลาดการเกษตรเป็นแบบเฉพาะกลุ่มโดยเฉพาะกลุ่มทุนขนาดใหญ่มาสู่ตลาดที่กระจายแบบเท่าเทียมกัน
4. ด้านสิ่งแวดล้อม เปลี่ยนการใช้ทรัพยากรอย่างฟุ่มเฟือย มาใช้ให้คุ้มค่า เช่น การเพาะปลูกในระบบปิด ที่มีการประหยัดน้ำมากกว่า ร้อยละ 95 และ 5. ด้านการวางตำแหน่ง เปลี่ยนจากผู้ตามเป็นผู้นำ ประเทศไทยมีความพร้อมและการเกษตรที่หลากหลาย ถ้าเราสามารถนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ได้ เราจะเป็นผู้นำทางการเกษตร เหมือนอย่างตัวอย่างประเทศต่างๆ เช่น เนอร์เธอร์แลนด์ อิสราเอล
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า ล่าสุด NIA ได้ร่วมกับ บริษัท เนสท์ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน และบริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินงานโครงการเร่งสร้างวิสาหกิจเริ่มต้นด้านการเกษตรระดับนานาชาติ (Global AgTech Acceleration Program) หรือเรียกโครงการสั้นๆ นี้ว่า "AGrowth" ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อพัฒนาสตาร์ทอัพด้านการเกษตร หรือ AgTech Startup ให้มีความพร้อมและศักยภาพในเชิงพาณิชย์ สามารถพัฒนาแผนธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างเป็นรูปธรรมและเป็นไปได้จริง และสามารถขยายผลไปสู่ตลาดระดับสากลได้ รวมถึง NIA จะมีบทบาทในการเป็นตัวกลางที่จะเชื่อมประสานทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเร่งให้เกิดระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้าง AgTech Startup ที่เหมาะสมกับประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามามีส่วนร่วมของบริษัทขนาดใหญ่ หรือองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ในการแชร์ประสบการณ์ เพื่อนำรูปแบบดำเนินงานของ AgTech Startup มาใช้แก้ไขปัญหาในแนวทางใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการพลิกโฉมภาคการเกษตรของประเทศไทยขึ้นอย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินโครงการดังกล่าว NIA และหน่วยงานพันธมิตรจะร่วมกันพัฒนา 10 สตาร์ทอัพจาก 5 ประเทศ ได้แก่ Evergrow, GetzTrac, Fresh Produce Kings จากประเทศไทย Agrisource Data, Pola Drone, Plant Cartridge จากประเทศมาเลเซีย Ubreath , Cropin จากอินเดีย Hello Tractor จากไนจีเรีย และ Food Cube จากออสเตรเลีย ให้มีการเติบโตทั้งในด้านช่องทางการขยายธุรกิจ การตลาด และนำโซลูชั่นที่สตาร์ทอัพแต่ละรายมีอยู่ มาทดลองและแก้ปัญหาจริงให้กับเกษตรกรที่อยู่ตามพื้นที่ต่างๆในประเทศไทยให้ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์และได้ผลลัพธ์เชิงบวกในหลากหลายมิติทั้ง ศักยภาพของสตาร์ทอัพที่จะมีความเข้มแข็งและมีความพร้อมในการเดินหน้าธุรกิจมากขึ้น เกษตรกรได้รับการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดจำนวนธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตรมากขึ้นในประเทศไทย ตลอดจนทำให้ภาคการเกษตรเห็นความสำคัญในการผันตัวไปสู่การเป็น "เกษตรอัจฉริยะ" ในอนาคต
ด้าน มร. ลอเรนซ์ มอร์แกน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เนสท์ กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า โครงการ AGrowth สามารถช่วยยกระดับภาคอุตสาหกรรมการเกษตรซึ่งจะส่งผลในวงกว้างต่อประเทศไทยและทั่วโลก ในฐานะที่โครงการนี้เป็นโครงการนวัตกรรมการเกษตรโครงการแรกของประเทศไทย เรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และภาคเอกชนที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของนวัตกรรมในการช่วยแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมการเกษตร ผู้เข้าร่วมโครงการ AGrowth จะได้รับคำชี้แนะในระหว่างที่สร้างและพัฒนาธุรกิจของตนให้เติบโตจากผู้ชำนาญการของ NIA และเนสท์ ตลอดจนจากองค์กรพันธมิตรได้แก่ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน โดยระยะเวลา 12 สัปดาห์ในการเข้าร่วมโครงการนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับการทำตลาดในประเทศไทยและเปิดช่องทางธุรกิจใหม่ รวมทั้งนำเสนอนวัตกรรมของตนแก่บริษัท/องค์กรทางการเกษตรอีกด้วย
ขณะที่ นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า คูโบต้ามุ่งมั่นที่จะช่วยแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอาหาร น้ำและสิ่งแวดล้อม เราพร้อมที่จะน้อมรับนโยบายรัฐเพื่อนำพาอุตสาหกรรมการเกษตรของไทยไปสู่ยุค 4.0 เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีโอกาสร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรในการขับเคลื่อนนวัตกรรมสู่อุตสาหกรรมที่ต้องการเทคโนโลยีใหม่ เราหวังว่าโครงการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ AGrowth จะช่วยพัฒนาความคิดและนวัตกรรมการเกษตร เพื่อที่จะสามารถทดลองใช้เทคโนโลยี และนำไปสู่การพลิกโฉมของอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทย และประเทศในกลุ่มอาเซียนเพื่อการพัฒนาที่มั่นคงและยั่งยืน
รองศาสตราจารย์ ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน กล่าวทิ้งท้ายว่า นวัตกรรมเป็นสาระสำคัญของสิ่งที่เราปฏิบัติ และเราจึงเห็นด้วยอย่างยิ่งกับพันธกิจของโครงการ AGrowth โดยเฉพาะการเกษตรในเมืองมีส่วนสำคัญในการช่วยเหลือการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน และเปิดโอกาสให้ธุรกิจสตาร์ทอัพเปลี่ยนแปลงระบบห่วงโซ่อุปทานอาหารในพื้นที่ท้องถิ่น เราเล็งเห็นโอกาสในการร่วมมือกับธุรกิจสตาร์ทอัพในการทดสอบและค้นหาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีการเกษตรในเมืองมาใช้ปฏิบัติในประเทศไทย
สำหรับผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-0175555 เว็บไซต์ www.nia.or.th