กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชัน
สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ให้ได้รับองค์ความรู้ในมิติต่าง ๆ ซึ่งงานทางด้านบุคลากรนั้น SMEs ยังต้องการแนวทางในการสร้างความเข้าใจและให้ความสำคัญของ HRM สสว. เล็งเห็นถึงความสำคัญด้งกล่าว จึงสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการโดยจัดงานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ "HRM FOR STARTUP & SMEs: CASE STUDY FROM JAPAN)" ภายใต้งานพัฒนาองค์ความรู้สำหรับ SME หรือ Knowledge Center ประจำปี 2562 เพื่อต่อยอดความเข้าใจและเพิ่มศักยภาพของ SME ให้ก้าวสู่ความสำเร็จท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกโดยมี นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เป็นประธานเปิดงาน พร้อมเชิญ วิทยากรจากประเทศญี่ปุ่น รองศาสตารจารย์ ดร. ทาเคชิ โอยาบุ (Dr. Takeshi Oyabu) จากบัณฑิตวิทยาลัย บริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเคโอ (Keio University) และ ดร. สุขยืน เทพทอง ประธานสาขาการบริหารจัดการและองค์กรบัณฑิตวิทยาลัยการจัดการและนวัตกรรม มาตอกย้ำความเข้าใจ HRM ด้วยกิจกรรม Self Assessment: "HRM for SMEs" ที่จะมาชี้ทางให้ SME Speed up พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปด้วยกัน ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 39 อาคารซันทาวเวอร์ อาคาร B
นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล กล่าวว่า ในฐานะหน่วยงานหลักในการดำเนินงานพัฒนา ส่งเสริม และสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs มาโดยตลอด ซึ่งการติดอาวุธ ให้ SME ไทย ก้าวไปสู่ความทันสมัย Modernization ด้วย "SPEED" นั้น สสว. ต้องสรรหาองค์ความรู้ที่เหมาะสมและเร่งพัฒนามิติต่าง ๆ ที่สำคัญเป็นหลัก โดยมีกลยุทธ์ 5 หลักปฏิบัติ คือ S - SMART ฉลาดรอบรู้ P - Proactive ทำงานในเชิงรุก E - Efficiency ทำงานมีประสิทธิภาพ E - Exclusive มีความพิเศษเฉพาะตัว และ D - Digitalization ปรับกระบวนการทำงานสู่ระบบดิจิทัล ซึ่งการบริหารจัดการด้านบุคลากรนั้นเป็นหนึ่งในองค์ความรู้ที่สสว. ให้ความสนใจ ส่วนใหญ่เข้าใจว่า HRM ใช้กับองค์กรใหญ่เท่านั้น แต่ความจริงแล้ว HRM มีรูปแบบสำหรับ SMEs และStartups ผู้ประกอบการต้องเข้าใจและหาประโยชน์จากปัจจัยนี้ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของการปรับเปลี่ยนตัวเอง ที่จะกระตุ้นให้ทันการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะด้านการแข่งขัน ด้านดิจิทัล องค์ความรู้ต่าง ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสในการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบ
สสว.คาดหวังว่าคลังข้อมูลองค์ความรู้สำหรับผู้ประกอบการ หรือ SME Knowledge Center นี้ จะเป็นศูนย์รวมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือให้คำปรึกษาธุรกิจด้านเศรษฐกิจดิจิทัล หรือด้านอื่น ๆ ที่มีความต้องการ โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมอย่างน้อย 4,000 ราย และความรู้เพิ่มขึ้น ไม่น้อยกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคาดว่าในปีนี้ จำนวนผู้เข้าใช้บริการคลังข้อมูลองค์ความรู้ ไม่น้อยกว่า 200,000 ครั้ง
ทั้งนี้ ในงานสัมมนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหัวข้อ "HRM FOR STARTUP & SMEs: CASE STUDY FROM JAPAN)" ทางสสว. มุ่งหวังว่าผู้ประกอบการทั้ง Startups และSMEs จะสามารถต่อยอดความเข้าใจและใช้ศูนย์ความรู้จาก SME Knowledge Center เพื่อก้าวสู่ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ในการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของโลกดิจิทัล กับวิทยากรจากประเทศญี่ปุ่น ที่จะชี้ทางให้ SME Speed Up ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยไปด้วยกัน