กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--กรมวิชาการเกษตร เพื่อเกษตรกร
กรมวิชาการเกษตรตามหาพันธุ์กล้วยโบราณ 12 ชนิด สนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า ล่าสุดพบแล้ว 6 ชนิดในพื้นที่ จ.นราธิวาส และกล้วยพันธุ์หายากอื่นๆ อีก 30 ชนิด พร้อมจัดทำแปลงรวบรวมพันธุ์กล้วยพื้นเมืองภาคใต้ตามพระราชดำริและอยู่ระหว่างจำแนกและตรวจวิเคราะห์ลายพิมพ์DNA เพื่ออนุรักษ์พันธุกรรมพืชแบบยั่งยืน
นายจิระ สุวรรณประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 8 (สวพ.8) กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ตามที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริขอให้รวบรวมพันธุ์กล้วยหายากตามรายชื่อพันธุ์กล้วยที่มีอยู่ในสถาบันวัฒนธรรมศึกษากัลยาณิวัฒนา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีและตามหนังสือโบราณเมื่อปี 2468 ของจังหวัดยะลาที่ได้กล่าวถึงกล้วยชายแดนใต้ 12 พันธุ์มาไว้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ประกอบด้วย 1.ปีแซ กาปา (กล้วยตะเภา) 2.ปีแซ ซูซู (กล้วยนมสาว) 3.ปีแซ ยะลอ (กล้วยหอม) 4.ปีแซ กูกู กูดอ (กล้วยเล็บม้า) 5.ปีแซ ลือเมาะมานิ 6.ปีแซ กาลอ (กล้วยตานี) 7.ปีแซ อาปอ (กล้วยอะไร) 8.ปีแซ ยะรี บอยอ (กล้วยนิ้วจระเข้) 9.ปีแซ ตาปง (กล้วยขนม) 10.ปีแซ สะราโต๊ะ (กล้วยร้อยหวี) 11.ปีแซ สะรือเน๊ะ (กล้วยเตี้ย) และ 12.ปีแซ อาเนาะอาแย (กล้วยลูกไก่) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ท้องถิ่นและมีชื่อเป็นภาษามาลายู ทั้งนี้ พระราชดำรัสดังกล่าวมีขึ้นเมื่อครั้งทรงเสด็จติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหินจอก หมู่ 6 ตำบลลิพัง อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 23 เดือน กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ที่ผ่านมา
โดยความก้าวหน้าล่าสุด จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้สนองพระราชดำริโดยมอบหมายให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส ดำเนินการสำรวจรวบรวมพันธุ์กล้วยโบราณที่หายากตามพระราชดำริตามหมู่บ้านและชุมชนต่างๆในพื้นที่จังหวัดนราธิวาสและจังหวัดใกล้เคียงปรากฏว่าสามารถตามหาพบแล้วจำนวน 6 พันธุ์ ประกอบด้วย 1.ปีแซคา ป่า (กล้วยตะเภา ) 2.ปีแซซูซู (กล้วยนมสาว) 3.ปีแซยะลอ (กล้วยหอม) 4.ปีแซกาลอ (กล้วยตานี) 5.ปีแซละเมาะมานิ (กล้วยเล็บมือนาง) และ6.ปีแซสะราโต็ะ (กล้วยร้อยหวี) โดยส่วนใหญ่จะมีชื่อท้องถิ่นเป็นภาษามาลายูและการค้นพบส่วนใหญ่พบในจ.นราธิวาส นอกจากนี้ระหว่างที่ตามหากล้วยพันธุ์หายาก 12 พันธุ์ กรมวิชาการเกษตรค้นพบสายพันธุ์อื่นๆ อีก 30 พันธุ์อีกด้วย โดยทั้งหมดได้ถูกรวบรวมจัดทำแปลงปลูกบนพื้นที่2.1ไร่ ขึ้นภายใต้โครงการรวบรวมพันธุ์กล้วยพื้นเมืองภาคใต้ตามพระราชดำริไว้ ณ งานวิชาการเกษตร ศูนย์การศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาสและอยู่ระหว่างการจำแนกและจะทำการตรวจวิเคราะห์ลายพิมพ์ DNA เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลตามหลักวิชาการ
"โครงการรวบรวมพันธุ์กล้วยพื้นเมืองภาคใต้ตามพระราชดำริ มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เป็นแหล่งรวบรวมพันธุ์กล้วยหายากในพื้นที่และส่วนหนึ่งเพื่อการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ส่วนอีก 6 ชนิดที่ยังตามหาไม่พบกรมวิชาการเกษตรได้วางเป้าจะเร่งลงพื้นที่เพื่อสำรวจ รวบรวมพันธุ์กล้วยหายากตามชุมชนหมู่บ้านต่างๆ ให้ครบ 12 พันธุ์ เพื่อให้ทันต่อการถวายรายงานการดำเนินงานการรวบรวมพันธุ์กล้วยฯ เมื่อทรงเสด็จพระราชดำเนินปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริในปีหน้า ซึ่งปัจจุบันนอกจากพันธุ์กล้วยโบราณ 12 ชนิดที่ตามหาเพื่อสนองพระราชดำริแล้ว กรมวิชาการเกษตรยังได้ให้ความสำคัญในการอนุรักษ์พันธุ์พืชหายากทุกชนิด อีกด้วย" นายจิระ กล่าว
ด้านนายโนรี อิสมะแอ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรได้เริ่มรวบรวมพันธุ์กล้วยพื้นเมืองในพื้นที่ใกล้เคียงเท่าที่จะสามารถหาได้ตั้งแต่ปี60 โดยนำพันธุ์กล้วยพื้นเมืองที่รวบรวมได้มาอนุบาลไว้ในถุง ดำเนินการเตรียมแปลงปลูกพันธุ์กล้วย บริเวณพื้นที่งานวิชาการเกษตร ภายในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ จ.นราธิวาส โดยทำการปรับพื้นที่ วางผังแปลง ทำการยกร่องแปลงตามผังแปลงที่กำหนด จำนวน 36 แปลงตามหลักวิชาการ เพื่ออนุรักษ์และขยายพันธุ์กล้วยดังกล่าวไม่หายสูญหายไปไหน
"อยากฝากไปถึงคนไทยให้ตระหนักถึงคุณค่าของกล้วยโบราณพันธุ์หายาก และช่วยกันอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชของไทยรักษาไว้ให้ลูกหลานได้ศึกษา เรียนรู้ ไม่ให้สูญหายไปไหน หากท่านใดมีพันธุ์กล้วยพื้นเมืองภาคใต้ที่นอกเหนือจากนี้ และประสงค์ที่จะให้นำมารวบรวมไว้ในโครงการนี้ติดต่อได้ที่หน่วยงานกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง หรือหากใครพบเห็นกล้วยพันธุ์โบราณหายากอีก 6 ชนิด ดังกล่าวในหมู่บ้านหรือชุมชนใด สามารถแจ้งมาได้ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรนราธิวาส (ศวพ.นราธิวาส) โทร. 073-651-397 " นายโนรี กล่าว