กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--ดับเบิ้ลดี มีเดียพลัส
วธ.รณรงค์ใส่ผ้าไทย เตรียมดันนวัตกรรมพัฒนาแบบทันสมัย ด้านผู้ผลิตผ้า ระบุชุมชนแต่ละท้องถิ่นทอผ้าตามความถนัด ไม่ตรงความต้องการผู้ใช้ อยากให้ภาครัฐสร้างความรู้ผู้ทอผ้าให้ผลิตตรงกับผู้สวมใส่ ดีไซน์ให้ทันสมัย จูงใจคนรุ่นใหม่ใส่ทุกวัน
นายปรเมศวร์ งามพิเชษฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม แถลงข่าวโครงการ "อนุรักษ์ผ้าไทยและรณรงค์ร่วมสวมใส่ผ้าไทย" เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชนนีพันปีหลวง ว่า กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ร่วมกับบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) จัดโครงการ "อนุรักษ์ผ้าไทยและรณรงค์ร่วมสวมใส่ผ้าไทย" เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 87 พรรษา 12 สิงหาคม 2562 พร้อมทั้งสืบสานพระราชปณิธานของพระองค์ในการอนุรักษ์ มรดกภูมิปัญญาผ้าไทย และรณรงค์ให้คนไทยสวมใส่ผ้าไทย ให้เห็นอัตลักษณ์ความงดงามของผ้าไทย ในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยการเผยแพร่สารคดีสั้น เรื่อง "ผ้าไทยในแต่ละท้องถิ่น" จำนวน 12 ตอน โดยสารคดีแต่ละตอนจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับองค์ความรู้เชิงลึกของผ้าไทยของแต่ละท้องถิ่นทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เช่น กลุ่มสตรีทอผ้าบ้านท่ากระจาย จ.สุราษฎร์ธานี ชุมชนคุณธรรมหนองสมณะใต้ จ.ลำพูน ชุมชนคุณธรรมบ้านดอนข่า จ.ขอนแก่น และชุมชนบ้านครัวเหนือ กรุงเทพฯ เป็นต้น โดยออกอากาศเวลา 19.30-20.50 น. อีกทั้ง วธ. จะผลักดันนวัตกรรม พัฒนาผ้าไทยให้มีความทันสมัยเพิ่มมากขึ้น โดยให้นักออกแบบมาร่วมออกแบบสร้างงานให้หลากหลาย ให้ผ้าไทยมีราคาจับต้องได้ และนำไปโชว์ยังต่างชาติให้เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้นด้วย
ด้าน ปนัดดา วงศ์ผู้ดี นักแสดงและพิธีกร กล่าวว่า จากประสบการณ์ เคยถวายงาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงงานอย่างหนัก จากเบื้องหลังของพระองค์ บางครั้ง ทรงงานถึง เวลา 04.00 น. แล้ว ตื่นบรรทมแต่เช้า มาทรงงานต่อ ตนเคยได้มีโอกาส สวมใส่ฉลองพระองค์ ของสมเด็จพระพันปีหลวง และในครั้งนั้นพระองค์ทรงชื่นชมด้วย จึงรู้สึกปลาบปลื้มและยังความภาคภูมิใจอย่างหาที่สุดมิได้ในชีวิต จึงตั้งมั่นที่จะสืบสานงานของพระองค์ ในส่วนที่เราสามารถทำได้ ก็คือการร่วมรณรงค์สวมใส่ผ้าไทยอย่างต่อเนื่อง เป็นต้นแบบที่ดีให้ผู้อื่นได้เห็น ตนมองว่า ผ้าไทยสวยงามมาก เป็นผ้าชิ้นเดียวในโลกที่ทรงคุณค่า แต่ละผืนล้วนมีความละเอียดอ่อนในการถักทอ แต่ละชิ้นงานมีเรื่องราวและตำนาน สิ่งเหล่านี้ล้วนมีเสน่ห์ของท้องถิ่นนั้นๆ ดังนั้น อยากให้ปรับความคิด ที่ว่า ผ้าไทยใส่แล้วแก่ ซึ่งคนไทยสามารถนำผ้ามาดีไซน์ปรับประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงประจำวันได้ ในแบบที่ ไม่แก่ ไม่เชย แต่ทันสมัย
ด้าน นายทวี สุขโข ผู้แทนจากชุมชนคุณธรรมบ้านดอนข่า จ. ขอนแก่น บอกว่า ชุมชนแต่ละแห่งทำงานผ้าตามความถนัดของตนเอง แต่อาจจะไม่ตรงใจลูกค้า ด้วยเหตุนี้ อยากให้ ภาครัฐ ช่วยสร้างความรู้เกี่ยวกับทิศทางการผลิตผืนผ้าให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมาย ขณะเดียวกัน ทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ชอบแล้วหันมาสวมใส่ผ้าไทย และเข้าใจภูมิปัญญาของบรรพบุรุษ และถ้าหากสามารถทำให้ผู้สืบสานภูมิปัญญามีวิธีและกลไกทางการตลาด มั่นใจว่าธุรกิจผ้าไทยรุ่งเรือง