กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
สทนช.ส่งสัญญาณข่าวดีชาวบ้านอ.วารินชำราบเตรียมกลับเข้าบ้าน หลังประเมินระดับน้ำสถานี M.7 ต่ำกว่าระดับตลิ่งวันพรุ่งนี้ พร้อมส่งหนังสือด่วนถึง 5 กระทรวงหลักเตรียมการรับภัยแล้งต่อ เล็งเสนอ ครม.เข้มแผนจัดสรรน้ำ-มาตรการป้องผลกระทบล่วงหน้า
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำมูล อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากได้มีการปรับลดการระบายน้ำในลำน้ำชี ลำน้ำมูล ตอนบน ลำเซบาย และลำเซบก เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ประกอบกับการเร่งระบายน้ำในแม่น้ำมูลตอนล่างออกสู่แม่น้ำโขง ส่งผลให้ระดับน้ำที่สถานี M.7 สะพานเสรีประชาธิปไตย อ.วารินชำราบ ลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกันคงเหลือมวลน้ำประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม. ทั้งนี้ คาดว่า ระดับน้ำจะต่ำกว่าตลิ่งที่ อ.วารินชำราบ ในวันพรุ่งนี้ ส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณริมน้ำมูล อ.วารินชำราบ สามารถกลับเข้ายังบ้านเรือนของตนเองได้ เพื่อสำรวจความเสียหาย และรับการฟื้นฟูเยียวยาโดยเร่งด่วนต่อไป
"จากการติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำมูลตอนล่างบริเวณ จ.อุบลราชธานี พบว่า ระดับน้ำเริ่มมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง อาทิ สถานี M.176 อ.กันทรารมย์ ต่ำกว่าตลิ่ง 4.66 เมตร สถานี E.98 อ.เขื่องใน ต่ำกว่าตลิ่ง 0.29 เมตร สถานี M.7 อ.วารินชำราบ สูงกว่าตลิ่ง 0.47 เมตร อัตราการไหล 2,581 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เทียบจากเมื่อวาน นี้ระดับน้ำ 7.8 เมตร อัตราการไหล 2,878 ลูกบาศก์เมตร/วินาที แนวโน้มลดลง 35 – 40 เซนติเมตร และสถานีโขงเจียมก่อนออกสู่แม่น้ำโขง ระดับน้ำ 94.34 เมตร ต่ำกว่าตลิ่ง 9.19 เมตร และเมื่อเทียบสถานี M.7 ต่ำกว่าถึง 18.13 เมตร" ดร.สมเกียรติ กล่าว
ดร.สมเกียรติ กล่าวเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าการเตรียมการมาตรการป้องกันภัยแล้งว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมน้ำในฤดูแล้งให้มีเพียงพอตลอดทั้งฤดูกาลและมั่นคงต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2562/63 มีการจัดสรรน้ำอย่างเหมาะสมครอบคลุมกิจกรรมในทุกด้าน โดยคาดการณ์ปริมาณน้ำช่วงสิ้นฤดูฝน ณ วันที่ 1 พ.ย. 62 มีน้ำใช้การได้รวม 35,972 ล้าน ลบ.ม. ในเขตชลประทาน 27,399 ล้าน ลบ.ม. นอกเขตชลประทาน 8,573 ล้าน ลบ.ม. แบ่งออกเป็น 5 กิจกรรม ได้แก่ 1) อุปโภค-บริโภค 2,703 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 7% 2) รักษาระบบนิเวศ 7,161 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 20% 3) สำรองน้ำต้นฤดูฝน(อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่) 9,969 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 28% 4) เกษตรกรรม 1,551 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 43% แบ่งเป็น ในเขตชลประทาน 9,937 ล้าน ลบ.ม. นอกเขตชลประทาน 5,644 ล้าน ลบ.ม. และ 5) อุตสาหกรรม 558 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 2% นั้น
ขณะนี้สทนช.ได้ทำหนังสือถึง 5 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประเมินปริมาณการใช้น้ำในกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งจัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุน ได้แก่ 1) กระทรวงมหาดไทย โดยการประปาส่วนภูมิภาคและประปาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำข้อมูลประเมินพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำดิบฤดูแล้งทั้งในเขตและนอกเขตการประปาส่วนภูมิภาค 2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมชลประทาน และกรมส่งเสริมการเกษตร จัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ประกอบด้วย 1.แผนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฤดูแล้ง รายจังหวัดทั้งประเทศ ทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติ 4 แห่ง ได้แก่ บึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ หนองหาร และกว๊านพะเยา และแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2562/63 ในเขตชลประทาน รายจังหวัดทั้งประเทศ 2.แผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/63 รายจังหวัดทั้งประเทศ เพื่อให้มีการกำหนดพื้นที่ทำการเกษตรที่เหมาะสมและชัดเจน ลดการกระทบต่อการใช้น้ำในกิจกรรมด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะการอุปโภคบริโภค 3) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรน้ำ จัดทำแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2562/63 นอกเขตชลประทาน รายจังหวัดทั้งประเทศ 4) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดทำแผนบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลาง และ 5) กระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จัดทำแผนบริหารจัดการอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง เป็นรายอ่างฯ ในฤดูแล้ง ปี 2562/63
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กำกับดูแลการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามนโยบาย รวมถึงป้องกันและลดผลกระทบอย่างจริงจัง สทนช.จะรายงานสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ การคาดการณ์น้ำท่วมในภาคใต้ รวมถึงการเตรียมการบริหารจัดการน้ำในฤดูแล้ง รวมถึงมาตรการเตรียมรับมือต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันอังคารที่ 8 ตุลาคมนี้ เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติทั้งระดับส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงเร่งรัดหน่วยเกี่ยวข้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ หน่วยราชการในพื้นที่เกี่ยวข้อง กรรมการลุ่มน้ำ กลุ่มผู้ใช้น้ำ โดยเฉพาะเกษตรกรรับรู้สถานการณ์ล่วงหน้าก่อนลงทุนเพาะปลูกด้วย