กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นายสุขสันต์ กิตติศุภกร รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กทม. กล่าวกรณีมีการพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพประจำสัปดาห์ คาดจะพบผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องว่า สำนักการแพทย์ มีมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ การวินิจฉัยและการให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทาง การรักษาของกระทรวงสาธารณสุข การคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการไข้คล้ายไข้หวัดใหญ่ influenza like illness แล้วส่งข้อมูลให้กองควบคุมโรค สำนักอนามัย มีการประเมินการใช้ยาที่ใช้รักษาโรคไข้หวัดใหญ่ของแต่ละโรงพยาบาล และจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย กรณีผู้ป่วยที่ไม่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ควรให้หยุดงาน หยุดเรียน อยู่บ้าน เป็นเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง หลังมีไข้ ส่วนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จะแยกผู้ป่วย เพื่อไม่ให้ติดต่อกับผู้ป่วยอื่นและบุคลากรในโรงพยาบาล ขณะเดียวกัน สำนักการแพทย์ได้เตรียมวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ให้กับผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ประกอบด้วย หญิงตั้งครรภ์ที่มีอายุครรภ์ตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไป เด็กเล็กอายุระหว่าง 6 เดือนถึง 2 ปี ผู้ที่มีโรคเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หอบ หืด หัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตวาย ผู้ป่วยมะเร็งที่อยู่ระหว่างการได้รับเคมีบำบัด เบาหวาน ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ผู้พิการทางสมองที่ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ โรคธาลัสซีเมีย ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง และผู้ที่มีภาวะอ้วนน้ำหนักตั้งแต่ 100 กิโลกรัมขึ้นไป หรือดัชนีมวลกายตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตร นอกจากนั้น กลุ่มงานอนามัยชุมชน ยังได้ให้บริการเชิงรุก โดยให้ความรู้ในการป้องกันโรคและแนะนำการให้วัคซีนแก่ประชาชนและเครือข่าย รวมทั้งจัดทำโปสเตอร์ให้ความรู้โรคไข้หวัดใหญ่และวัคซีนป้องกันตามจุดบริการต่าง ๆ และเผยแพร่ในเว็บไซต์สำนักการแพทย์ด้วย