กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--มีเดีย พลัส คอนเนคชั่น
ภาคเอกชนโดย ๓ สมาคมภาคเกษตรได้แก่ สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืช และสมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย แสดงจุดยืนต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจการเกษตรของประเทศ เข้าให้ข้อมูลและชี้แจงข้อเท็จจริงตามคำเชิญของคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรม ระบุการตัดสินใจเกี่ยวกับสารแต่ละชนิด ควรใช้การพิจารณาตามหลักสากลว่าด้วยเหตุผลและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ มากกว่าการคาดเดา หรือจากผลที่กำหนดไว้ล่วงหน้า
ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้มีการแสดงความเห็นให้มีการตั้งคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการควบคุมการใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมขึ้นเพื่อศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อการตัดสินใจและนำเสนอต่อสภาฯ นั้น สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร สมาคมอารักขาพืช และสมาคมฯ นวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย ได้ชี้แจงว่าปัจจุบันในภาคการผลิตขนาดใหญ่ การจัดการศัตรูพืชโดยการใช้สารยังคงจำเป็นสำหรับเกษตรกร การยับยั้งการใช้สารจะส่งผลต่อภาคการผลิตและส่งออกพืชเศรษฐกิจที่ทีความจำเป็นต้องใช้สารดังกล่าว ซึ่งอาจสร้างความเสียหายโดยไม่จำเป็น เนื่องจากการใช้สารแต่ละประเภทอยู่ภายใต้การกำหนดค่ามาตรฐานจากองค์กรสากล ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจทำให้ไทยเสียเปรียบคู่แข่งขันรายอื่น ๆ ที่สามารถพัฒนาขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันในด้านการผลิต และการตลาด
ผลจากการตัดสินใจที่ได้กำหนดเป้าหมายไว้แล้วล่วงหน้านั้น เป็นความไม่ยุติธรรมต่อเกษตรกรเป็นอย่างยิ่ง การตัดสินใจเกี่ยวกับสารแต่ละชนิด ควรใช้การพิจารณาตามหลักสากล ว่าด้วยเหตุผลและข้อมูลทางวิทยาศาสตร์มากกว่าการคาดเดา หรือจากผลที่กำหนดไว้ล่วงหน้า สมาคมฯ ยินดีรับฟังเหตุผล หลักฐานและข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ใด ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน
สมาคมฯ คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร ผลผลิตของพืชเศรษฐกิจหลัก ๆ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงไปถึงอุตสาหกรรมอาหาร แปรรูปอาหาร อาหารสัตว์ และภาคส่งออก เป็นสำคัญ หากมีการตัดสินเกี่ยวกับปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่เกษตรกรยังมีความจำเป็นต้องใช้ ทั้งนี้สมาคมฯได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ เพิ่มเติมว่า ภาคอุตสาหกรรมเกษตรได้ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ ฝึกอบรมและทดสอบ การใช้ปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างถูกต้องและถูกวิธี เพื่อความปลอดภัยของตัวเกษตรกรเอง และผู้บริโภค โดยได้จัดให้มีการฝึกอบรมร้านค้า เกษตรกร และผู้รับจ้าง โดยทำงานร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตรมาอย่างต่อเนื่อง เป็นเวลากว่า ๓๐ ปี จึงเห็นควรจะจัดให้มีมาตรการในการถือปฏิบัติในภาคเกษตรอย่างเคร่งครัด
สมาคมฯ จึงขอฝากถึงรัฐบาลและผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการตัดสินใจในเรื่องนี้ว่า ขอให้คำนึงถึงความจำเป็น ความอยู่รอดของเกษตรกร ผลกระทบที่จะมีต่ออุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร และอาหารสัตว์ ไปจนถึงอุตสาหกรรมและผลกระทบที่จะเกิดโดยตรงกับการส่งออกพืชเศรษฐกิจ เป็นสำคัญ