กรุงเทพฯ--3 ต.ค.--วิเคราะห์ข่าว สํานักงานประชาสัมพันธ์
นายชาตรี วัฒนเขจร ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ มาตรการที่ 2 การป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทาง และมาตรการที่ 3 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ โดยมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กทม. ร่วมกันปฏิบัติตามมาตรการต่าง ๆ นั้น ที่ผ่านมา กทม. ได้เร่งบูรณาการความร่วมมือเพื่อดำเนินมาตรการตามแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติการแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง โดยอาศัยกลไกคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ใน กทม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและปริมณฑล พร้อมมีศูนย์ประสานงานการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ใน กทม. และปริมณฑลรองรับการบูรณาการความร่วมมือ
สำหรับมาตรการเชิงรุกในการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 กทม. ได้ยกระดับการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่แหล่งกำเนิดอย่างเข้มข้น โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานในสังกัด กทม. ตรวจสอบและบำรุงรักษาเครื่องยนต์ไม่ให้เกิดควันดำดูแลบำรุงรักษารถยนต์ให้พร้อมใช้งาน ตรวจสภาพเครื่องยนต์ตามระยะทางหรือระยะเวลาที่กำหนดเพื่อไม่ให้ปล่อยมลพิษเกินมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด กำชับพนักงานขับรถยนต์ให้ดับเครื่องยนต์ทุกครั้งเมื่อไม่ปฏิบัติงาน ลดการใช้รถเครื่องยนต์ดีเซล ตรวจวัดมลพิษรถราชการทุก ๖ เดือน กรณีพบมลพิษเกินมาตรฐานให้แก้ไขทันที พร้อมทั้งให้ดำเนินการจัดเก็บขนมูลฝอยในถนนสายหลักและถนนสายรองให้แล้วเสร็จก่อนเวลา 04.00 น. ของทุกวัน เพื่อลดปัญหาการจราจรในชั่วโมงเร่งด่วน นอกจากนั้น ได้เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า อาคารสูง และอาคารขนาดใหญ่ให้ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเคร่งครัด และขอความร่วมมือให้ติดตั้งระบบฉีดพ่นละอองน้ำบริเวณพื้นที่ก่อสร้างเพื่อป้องกันฝุ่นละอองฟุ้งกระจาย ส่วนโครงการก่อสร้างที่ไม่ได้จัดทำรายงาน EIA ให้ปฏิบัติตามมาตรการลดฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง เช่น การล้างทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างทุกวัน เพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละอองรวมทั้งการควบคุมฝุ่นละอองจากกิจกรรมการก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน
นายไทวุฒิ ขันแก้ว รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา กทม. กล่าวว่าในส่วนของสำนักการโยธา ได้เพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมดูแลพื้นที่โครงการก่อสร้างในกรุงเทพฯ โดยเฉพาะการกำชับกวดขันให้ผู้รับเหมาฉีดน้ำทำความสะอาดล้อรถบรรทุกหรือรถอื่นๆ ก่อนออกจากสถานที่ก่อสร้าง รวมถึงการล้างทำความสะอาดพื้นที่ก่อสร้างทุกวันเพื่อลดการฟุ้งกระจายของฝุ่นละออง ขณะเดียวกันได้ร่วมกับสำนักงานเขตตรวจติดตาม ดูแลโครงการก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคาร ให้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งได้กำหนดเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตก่อสร้าง ดัดแปลง หรือรื้อถอนอาคารให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องปฏิบัติตามวิธีการและเงื่อนไขในการก่อสร้าง และจะต้องไม่กระทำการใด ๆ อันอาจเป็นภยันตรายต่อสุขภาพชีวิต ร่างกาย หรือทรัพย์สิน โดยผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการฉีดพ่นละอองน้ำบนอาคาร และบริเวณรอบสถานที่ก่อสร้างอย่างสม่ำเสมอเพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองจากการก่อสร้าง