รมว.พน. เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาโครงการผลิตสาธารณูปการ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ไอน้ำและน้ำปราศจากแร่ธาตุ ระหว่าง ปตท. — บางจาก

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 25, 2008 15:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--ปตท.
พลโท หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาการดำเนินโครงการผลิตสาธารณูปการ และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ไอน้ำและน้ำปราศจากแร่ธาตุ ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดย ดร.อนุสรณ์แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยถึงสาระสำคัญของสัญญาฯ ว่า ปตท. จะเป็นผู้ลงทุนดำเนินโครงการผลิตสาธารณูปการ เพื่อผลิตจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับหน่วยผลิตของโรงกลั่นเดิมและรองรับการขยายโครงการ Hydro Cracking Unit ใหม่ของบางจาก โดยโรงไฟฟ้าจะใช้ระบบผลิตไฟฟ้าแบบพลังงานร่วม Combine Heated and Power (CHP) ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง ประกอบด้วยเครื่องกังหันก๊าซฯ จำนวน 2 ชุด มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 25 เมกกะวัตต์ เครื่องผลิตไอน้ำจากไอเสีย (Heat Recovery Steam Generator) มีกำลังผลิต 90 ตันต่อชั่วโมง และได้เสริมสร้างความมั่นคงของระบบ โดยทำการติดตั้งหม้อไอน้ำสำรอง (Auxiliary Boiler) ขนาด 48 ตันต่อชั่วโมง ที่สามารถผลิตไอน้ำทดแทนได้ทันที ในกรณีที่ต้องหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าฯ อย่างกระทันทัน เพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าและไอน้ำสำหรับโรงกลั่นบางจากได้อย่างสม่ำเสมอตลอดเวลา มีประสิทธิภาพในการผลิตรวมของระบบ CHP ประมาณ 80 % ทั้งนี้ หลังเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบ 25 ปี ปตท. จะโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของโครงการฯ ให้บางจาก ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2552 รวมมูลค่าโครงการทั้งสิ้นประมาณกว่าพันล้านบาท โดยบางจากจะรับผิดชอบในการจัดหาพื้นที่ให้ ปตท. สร้างและดำเนินการโรงไฟฟ้าได้ตลอดอายุโครงการฯ
ดร.อนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากฯ (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้การก่อสร้างโครงการปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน (Product Quality Improvement Project) หรือ PQI มีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 75 โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จตามแผนในปลายปี 2551นี้ ซึ่งเมื่อโครงการ PQI แล้วเสร็จ จะทำให้โรงกลั่นน้ำมันบางจากมีระบบการกลั่นเป็นแบบ Complex Refinery ด้วยเทคโนโลยี Hydro Cracking ที่ทันสมัยล่าสุด สามารถผลิตน้ำมันเบนซินและดีเซลที่มีมูลค่าสูงในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น รองรับความต้องการใช้ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บริษัทฯมีรายได้มากขึ้น ซึ่งเมื่อโครงการผลิตสาธารณูปการดังกล่าวเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับโรงกลั่นบางจากได้ นอกจากจะช่วยเพิ่มความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นแล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของบริษัทฯ ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงปีละ 200-300 ล้านบาท ทั้งนี้รวมมูลค่าการซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำของโครงการนี้ ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี
พลโท หญิง พูนภิรมย์ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า วันนี้นับเป็นโอกาสอันดีที่ทั้ง 2 หน่วยงาน ภายใต้สังกัดกระทรวงพลังงาน ได้ร่วมมือกันในการดำเนินโครงการผลิตสาธารณูปการ ด้วยการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ไอน้ำและน้ำปราศจากแร่ธาตุ เนื่องจากโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มเสถียรภาพให้กับการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ และช่วยเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศ จากการขยายประโยชน์การใช้ก๊าซธรรมชาติในลักษณะ CHP ที่สามารถใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพส่งผลให้ประเทศสามารถประหยัดเงินตราจากการนำเข้าพลังงานได้ทางหนึ่ง
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีความต้องการใช้พลังงานในลักษณะ CHP ทั้งในภาคอุตสาหกรรม (โรงงานอุตสาหกรรม / โรงกลั่น) และพาณิชย์กรรม (อาคารขนาดใหญ่ และสนามบิน) ซึ่งหากสามารถขยายการใช้พลังงานในลักษณะ CHP ได้อย่างต่อเนื่องก็จะเป็นการช่วยให้ประเทศประหยัดค่าพลังงานโดยรวมในรูปของการลดปริมาณความต้องการไฟฟ้าสูงสุด, ลดการลงทุนในระบบสายส่งรวมทั้งการสูญเสียพลังงานจากระบบสายส่ง (Transmission loss) ได้อีกทางหนึ่งด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ