กรุงเทพฯ--7 ต.ค.--ซีพี ออลล์
หมากล้อม หรือ โกะ เป็นเกมกีฬาที่ได้รับความนิยมมากขึ้นทุกวัน ดูจากการแข่งขันกีฬาหมากล้อมเอเชี่ยน ยูนิเวอร์ซิตี้ โกะ ทัวร์นาเม้นท์ 2019 (Asian University Go Tournament 2019)
และการแข่งขันกีฬาหมากล้อมอุดมศึกษาชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 22 เมื่อกลางเดือนกันยายน 2562 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง จ.ลำปาง ที่มีเยาวชนไทยไทยจากทั่วประเทศและในภูมิภาคเอเชียเข้าร่วมชิงชัยกว่า 300 คน ทำให้เห็นถึงความน่าสนใจของกีฬาหมากล้อมที่ไม่เพียงแต่สร้างเยาวชนคนรุ่นใหม่ให้รู้จักวางแผน วางกลยุทธ์ แต่ยังเป็นกีฬาที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างเยาวชนไทยกับชาวต่างชาติอีกด้วย
ปัจจุบันหมากล้อมได้ถูกเผยแพร่ไปกว่า 70 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย ที่มีนักหมากล้อมทุกเพศทุกวัยให้ความสนใจ ด้วยเป็นกีฬาที่ไม่เพียงแค่สนุกแต่ยังยกระดับจิตวิญญาณได้อย่างน่ามหัศจรรย์ เสริมสร้างพัฒนาการทั้งความฉลาดทางปัญญา ความฉลาดทางอารมณ์ คุณธรรม และความอดทนต่อสถานการณ์อันไม่พึงประสงค์ ซึ่งได้มีการรวมกลุ่มกันเป็นชมรม ต่อมาจึงได้จัดตั้งเป็น "สมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย" (Go Association of Thailand) เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2536 โดยมีคุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ เป็นผู้ก่อตั้งและประธานชมรม ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ
จุดเด่นของหมากล้อมคือ "การเอาชนะโดยไม่มุ่งทำลายฝ่ายตรงข้าม" หากจะเปรียบก็เหมือนคนที่แกร่งด้วยสติปัญญา ไม่ต้องใช้กำลังเป็นผู้เหนือกว่าโดยอีกฝ่ายยอมศิโรราบโดยสันติ ซึ่งผู้เล่นหมากล้อมจะรู้จักวางแผน และตัดสินใจด้วยเหตุผลไม่ใช่อารมณ์ได้เรียนรู้ว่าความสำเร็จเกิดจากการผสมผสานนโยบาย กลยุทธ์ และยุทธวิธีที่ดีพร้อมไม่ใช่ได้มาจากโชคช่วยรู้จักจัดลำดับความสำคัญของการทำงานว่างานด่วนต้องทำก่อนงานใหญ่ เข้าใจสัจธรรมเรื่องความเปลี่ยนแปลง ช่วยให้ไม่ยึดติด และที่สำคัญคือรู้จักประมาณตน เคารพ และให้เกียรติผู้อื่น เหล่านี้ล้วนแต่เป็นคุณสมบัติของทรัพยากรบุคคลทรงคุณค่า โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นกำลังในการพัฒนาสังคม และประเทศชาติ ในการแข่งขันครั้งนี้ได้มีโอกาสได้พูดคุยกับนักหมากล้อมรุ่นเยาว์ หลากหลายมุมมองสะท้อนให้เห็นเสน่ห์ของกีฬาหมากล้อมอย่างน่าสนใจ
นายธีระ รุ่งเรืองทวีพงศ์ อายุ 25 ปี
ปัจจุบันกำลังศึกษาในระดับปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เริ่มเล่นหมากล้อมมาตั้งเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เปิดเผยว่าที่ตัดสินใจเล่นกีฬาชนิดนี้ เพราะช่วยในการฝึกวางแผน ใช้ในชีวิตประจำวัน ช่วยให้มีสมาธิ รู้จักใจเย็นเวลาตัดสินใจ ตั้งแต่เล่นมารู้สึกว่าช่วยในเรื่องการเรียนอย่างชัดเจน ทำให้มีระเบียบมากขึ้น อ่านหนังสือทบทวนตำรา ก็เข้าใจยิ่งขึ้น เพราะได้คิดอย่างมีระบบ
"รู้จักหมากล้อมครั้งแรก เพราะเข้าไปในร้านเซเว่น อีเลฟเว่น เห็นชุดกระดานหมากล้อมวางขายเลยลองซื้อมาจากนั้นก็ได้อ่านการ์ตูนฮิคารุ เซียนโกะ ก็ชอบเลย จึงได้หัดเล่นอย่างจริงจัง ตอนนี้อยู่ระดับฝีมือ 5 ดั้ง ปัจจุบันในประเทศไทยก็มีการจัดการแข่งขันอย่างแพร่หลาย ก็ถือเป็นเรื่องดี เพราะนอกจากจะทำให้กีฬาชนิดนี้เป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว ยังทำให้ผู้เล่นได้มีโอกาสพัฒนาฝีมือจากการได้มาแข่งขัน
แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และศึกษากลยุทธ์จากเพื่อนใหม่ๆด้วย" นายธีระกล่าว
ล่าสุด เจ้าตัวเพิ่งทำผลงานได้เป็นที่น่าประทับใจด้วยการคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการแข่งขันกีฬาหมากล้อมอุดมศึกษาชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 22 ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดลำปาง
โดยสมาคมกีฬาหมากล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และบริษัทซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ก่อตั้งร้านเซเว่น อีเลฟเว่นในประเทศไทย จัดขึ้น
ด้าน นายพงศกร ทนันชัย นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ มรภ.ลำปาง วัย 20 ปี ซึ่งเข้าร่วมการแข่งขันรายการดังกล่าวเช่นเดียวกัน เล่าให้ฟังถึงความสนใจเลือกเล่นหมากล้อมว่า เพราะเป็นหมากกระดานที่แตกต่างจากหมากอื่นๆ ที่เน้นการฆ่าอีกฝ่าย จัดการกับอีกฝ่ายให้ได้ แต่หมากล้อมเป็นเกมที่ค่อนข้างใช้สันติ เดินธรรมดา ให้ตัวเองมีบ้านอยู่ มีแต้มเยอะ ไม่ต้องฆ่าฝ่ายตรงข้ามเลยก็สามารถชนะได้ "เล่นหมากล้อมมาตั้งแต่อายุ 18 ปี ล่าสุดวัดระดับฝีมืออยู่ที่ 8 คิว ชอบเพราะช่วยเรื่องการพัฒนาการคิด กระบวนการการคิดทักษะการใช้สมองคิดวิเคราะห์ ทำให้เรียนดีขึ้น เหมือนสมองประมวลผลเร็วขึ้น เพราะเหมือนได้วอร์มอัพสมองอยู่ตลอดเวลา ถ้ามีเวลาว่างก็จะเล่นให้ได้อย่างน้อยวันละ 1 กระดาน ส่วนมากก็จะเล่นกับเพื่อนๆ ที่ชมรม ซึ่งกีฬาชนิดนี้เล่นได้ทุกเพศ ทุกวัยไม่จำกัดอายุ เด็กเล็กๆ ก็เล่นได้แล้วในต่างประเทศก็ส่งเสริมกันมาก" นายพงศกร ให้ข้อมูลปิดท้ายกันที่ "น้องเฟรนลี่" นางสาวกชพร ศรีวรกุล นักศึกษาจากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาสังคมศึกษา ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง วัย 21 ปี ที่แม้เพิ่งเริ่มเล่นหมากล้อมมาได้เพียงแค่ไม่กี่เดือน แต่ด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจจริง และฝึกฝนอยู่เสมอก็ได้มีโอกาสมาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในการแข่งขันระดับประเทศเป็นครั้งแรก
"ตอนเรียนปี 1 มีวิชาสุนทรียภาพซึ่งมีการพูดถึงกีฬาหมากล้อมว่าช่วยฝึกสมาธิ เลยลองหาข้อมูลดู แรกๆ ก็ยังเล่นไม่เป็นเพราะยังไม่รู้เทคนิคต่อมาได้เข้าชมรมของมหาวิทยาลัย ก็มีเพื่อนเล่นเยอะ
รู้สึกว่าเราคิดอย่างมีหลักการ และรู้จักวางแผนมากขึ้น กีฬาชนิดนี้สอนให้เรารู้ว่าการกระทำแต่ละอย่างมีเหตุผลของมัน" ผู้เล่นหน้าใหม่กล่าว