กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด เข้าร่วมพิธีประกาศระเบียบวาระแห่งชุมชนและลงนามความร่วมมือ (MOU) โดยส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ดำเนินการลดความเสี่ยงภัยพิบัติตามหลักการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน และสนับสนุนเครือข่ายด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองต่อการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ “อยู่ดี มีสุข” ที่กระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว และสร้างการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาภัยพิบัติภายในชุมชน นายสรวุฒิ ปาลวัฒน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 เห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทยประกาศระเบียบวาระแห่งชุมชน เพื่อกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญของชุมชน พร้อมร่วมมือกันพัฒนาชุมชนแบบบูรณาการ และกระตุ้นให้ชุมชนตื่นตัว และเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาของชุมชนอย่างจริงจัง ดังนั้น เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในจังหวัดตราด ตามนโยบายดังกล่าว สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดตราด จึงได้เข้าร่วมในพิธีประกาศระเบียบวาระแห่งชุมชนและลงนามความร่วมมือ (MOU) เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติ ใช้กระบวนการจัดการความเสี่ยงจากภัยพิบัติโดยอาศัยชุมชนเป็นฐาน เป็นหลักการในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในระดับชุมชน ตลอดจนสนับสนุนเครือข่ายด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ณ ศูนย์การเรียนชุมชนบ้านปากเกร็ดใน ม.2 ตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมือง จังหวัดตราด โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนเข้าร่วมในพิธีจำนวน 350 คน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว จะเป็นการส่งเสริมให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยใช้กระบวนการแผนชุมชนในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อตอบสนองต่อการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ “อยู่ดี มีสุข” อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความตื่นตัว และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติภายในชุมชน ได้อย่างสอดคล้องกับสภาพพื้นที่และสถานการณ์ภัยพิบัติในพื้นที่ ตามกระบวนการพัฒนาและการบูรณาการของชุมชน ซึ่งจะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและประชาชน มีเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนการจัดทำแผนภัยพิบัติระดับชุมชน อันจะส่งผลให้ชุมชนและหมู่บ้านเสี่ยงภัยมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการภัยพิบัติในเบื้องต้นด้วยตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ