กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--โทเทิล ควอลิตี้ พีอาร์
สยามซินโฟนิเอตต้า ออร์เคสตร้าเยาวชนไทยที่ครองตำแหน่งชนะเลิศรางวัลโลกในเทศกาล "Summa Cum Laude" ที่กรุงเวียนนาเมื่อปี 2555 กับรางวัลเหรียญทองจากคาร์เนกี ฮอลล์ ณ มหานครนิวยอร์ก ประตูที่เคยปิดกั้นการแสดงออกซึ่งศักยภาพของนักดนตรีไทยก็เปิดกว้าง การบุกเบิกครั้งสำคัญนี้จึงเป็นการเปิดประตูให้วงดุริยางค์คลาสสิกไทยอีกหลากหลายเข้าไปแสดงความสามารถในโลกตะวันตก
การเดินทางบรรเลงทัวร์ครั้งล่าสุดของสยามซินโฟนิเอตต้าเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาโดยเปิดแสดง ณ 8 เมืองในยุโรป รวมทั้งสิ้น 4 ประเทศนั้นประสบความสำเร็จท่วมท้นเป็นประวัติการณ์ ทั้งการตอบสนองอย่างอบอุ่นของผู้ชมที่ลุกขึ้นยืนปรบมือเป็นจังหวะต่อเนื่องและยาวนานอันเป็นเกียรติสูงสุดที่ศิลปินพึงได้รับ รวมทั้งได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างดีเยี่ยมจากผู้รักดนตรีและสื่อต่าง ๆ ในประเทศฮังการี สาธารณรัฐเชก ประเทศสโลวาเกีย และสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี นอกจากนี้คอนเสิร์ตทั้งรายการยังได้รับการถ่ายทอดสดโดยบราติสลาวา สถานีวิทยุและโทรทัศน์แห่งชาติประเทศสโลวาเกีย ซึ่งรับชมได้ใน 56 ประเทศ
ด้วยรายการแสดงที่ไม่เหมือนใคร กล่าวคือแทนที่จะบรรเลงเฉพาะเพลงอมตะซึ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลาย สยาม ซินโฟนิเอตต้าได้นำเสนอผลงานใหม่ของคีตกวีไทยเป็นครั้งแรกในซีกโลกตะวันตก นับเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าคีตนิพนธ์คลาสสิกของไทยไม่ใช่การเลียนแบบ แต่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หลากหลายและแปลกใหม่อย่างเต็มรูปแบบ
คีตนิพนธ์โดยคีตกวีไทยที่เปิดแสดงรอบปฐมทัศน์ในยุโรป ได้แก่ "E. Dreams" ซึ่งบรูซ แกสตัน สอดแทรกปรัชญาของไทยใน "ทิศทาง" ตะวันตก "Restoration" ผลงานทรงพลังของทฤษฎี ณ พัทลุง ผู้สร้างจักรวาลแห่งเสียงจากโน้ตเพียง 3 ตัว "Temples of Kyoto" โดยวรปราชญ์ วงศ์สถาพรพัฒน์ เต็มไปด้วยสีสันและการร้อยกรองเสียงซึ่งสอดคล้องงดงาม ดนตรีประกอบภาพยนตร์เขย่าขวัญ "The Open Field" โดยพันธวิทย์ เคียงศิริ และดนตรีชุดจาก "Helena Citrónová" มหาอุปรากรเรื่องใหม่ของสมเถา สุจริตกุล จากชีวิตจริงของสาวชาวยิว-สโลวัคกับผู้คุมนาซี ผู้มีความสัมพันธ์ทางใจอย่างลึกซึ้งและท้าทายความตายในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง นักวิจารณ์ดนตรีจาก Prague Music Connection กล่าวถึงคีตนิพนธ์นี้ว่า "งดงามและสยองขวัญ"
"เฮเลนา ซิโตรโนวา" มหาอุปรากรประวัติศาสตร์โดยคีตกวีไทยสร้างความตื่นตลึงให้ผู้ฟังจากบูดาเปสต์ถึงเมืองบาเดน-บาเดน โดยเฉพาะในประเทศสโลวาเกีย บ้านเกิดของเฮเลนา ซึ่งเปิดการเจรจาที่จะนำมหาอุปรากรเรื่องนี้ไปแสดง ณ โรงมหรสพแห่งชาติ
บนเวทีหลากหลายในยุโรป นักดนตรีเยาวชนไทยได้แสดงออกซึ่งความโดดเด่นของพลังเสียงใหม่เอี่ยม คอนเสิร์ตครั้งนี้จึงเป็นการ "เปลี่ยนโฉม" ภาพลักษณ์ด้านศิลปวัฒนธรรมให้ไทยก้าวขึ้นสู่ระดับแนวหน้าในแนวคิดของยุโรป
สมเถา สุจริตกุล อาจารย์ผู้นำคณะทัวร์และอำนวยดนตรีส่วนใหญ่ของคอนเสิร์ตกล่าวว่า "ในอดีต ดนตรีตะวันตกคือสิ่งแปลกใหม่จากต่างภูมิภาค แต่บัดนี้ เยาวชนของเรากำลังแสดงให้เห็นว่า เราได้ครอบครองมรดกโลกซึ่งไทยมีส่วนร่วม ที่แน่นอนก็คือเด็กของเราได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ มากมายจากการเดินทางผจญภัยครั้งนี้ พวกเขาได้หายใจในอากาศและพบเห็นสถานที่อันเป็นแหล่งกำเนิดของมรดกชิ้นสำคัญ ครั้งนี้เด็กไทยไม่ได้มาเพื่อศึกษาเท่านั้น แต่มาเพื่อสอน
"ศิลปินไทยก้าวไกลเทียมหน้าชาวโลกแล้วในด้านศิลปะตะวันตกยุคปัจจุบัน ทั้งจิตรกรรม ภาพยนตร์และละคร บัดนี้ถึงเวลาของดนตรีแล้ว" สมเถากล่าว