กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--มีเดีย พลัส คอนเนคชั่น
หนุ่มสาวชาวออฟฟิศคงคุ้นหูกับ 'ออฟฟิศซินโดรม' กันเป็นอย่างดีและคงจะรู้กันดีด้วยว่า 'อาการปวดคอ ปวดหลัง ปวดไหล่' จากการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ทั้งวันเป็นจุดเริ่มต้นของโรคนี้ แต่ถึงจะรู้สาเหตุ หลายๆคนก็ยังเลือกที่จะปล่อยไว้ คิดว่ากินยาเดี๋ยวก็ดีขึ้น ไปนวดเดี๋ยวก็หาย โดยไม่ได้คำนึงเลยว่าการละเลยอาการปวดเหล่านี้ อาจนำไปสู่โรคที่ร้ายแรงยิ่งกว่าอย่าง 'โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท' ได้
นพ.พิษณุ สุนทรปิยะพันธ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด โรงพยาบาลพญาไท 2 อธิบายว่า "คนทำงานออฟฟิศที่มักจะนั่งในท่าเดิมเป็นเวลานาน ร่างกายใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ ทำให้กล้ามเนื้อตึงตัวมากเกินไปจนเกิดเป็นอาการปวด มักเป็นกันมากบริเวณคอ ไหล่ และหลัง จึงเรียกกลุ่มอาการเหล่านี้ว่า 'ออฟฟิศซินโดรม' ซึ่งหากผู้ป่วยยังปล่อยปละละเลย ทำพฤติกรรมการนั่งในท่าที่ไม่เหมาะสมเช่นนี้ต่อไปอีกเรื่อยๆ จนอาการปวดรุนแรงขึ้น ควรมาพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยเพิ่มเติม เพราะอาจมีสาเหตุมากกว่าการปวดกล้ามเนื้อ แต่มาจากกระดูกสันหลังเสื่อม หรือหมอนรองกระดูกปลิ้นมากดทับเส้นประสาทที่อยู่ข้างเคียง ซึ่งหากไปกดทับประสาทส่วนที่เชื่อมโยงกับอวัยวะไหน ก็จะทำให้ปวดร้าวลงไปถึงส่วนนั้น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทจะมีอาการที่รุนแรงกว่าโรคออฟฟิศซินโดรม ปวดทรมานจนส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตประจำวัน และหากปล่อยไว้นานจนเส้นประสาททำงานได้น้อยลงทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไปจนถึงไม่สามารถควบคุมแขนขาได้"
อาการแบบไหนที่เริ่มไม่ใช่แค่ออฟฟิศซินโดรม ?
เมื่อคนทำงานออฟฟิศรู้สึกปวด เมื่อย ตึงกล้ามเนื้อ ก็มักจะทึกทักว่าเป็นออฟฟิศซินโดรม แต่แท้จริงแล้วอาการปวดบางอย่างอาจเป็นสัญญาณเตือนว่า นี่ไม่ใช่แค่โรคออฟฟิศซินโดรมธรรมดาทั่วไป หากมีอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทแล้ว!
- มีอาการปวดหลังยาวนานกว่า 2-4 สัปดาห์
- หากมีการกดทับเส้นประสาทบริเวณเอว คนไข้จะมีอาการปวดหลังร้าวลงขา อาจเป็นข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง หากปล่อยทิ้งไว้จนเป็นหนักขึ้น กล้ามเนื้อขาจะอ่อนแรง ควบคุมการเดิน และการขับถ่ายไม่ได้
- หากมีการกดทับเส้นประสาทบริเวณต้นคอ คนไข้จะมีอาการปวดคอร้าวลงแขน แขนอ่อนแรง หรือชา ไปจนถึงไม่สามารถควบคุมการใช้มือได้
- เวลาไอ จาม หรือเบ่งจะรู้สึกปวดลึก เนื่องจากเกิดแรงดันในไขสันหลัง
ถ้าสำรวจตัวเองแล้วพบว่ามีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์ หากสงสัยว่าเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แพทย์จะส่งคนไข้เข้ารับการตรวจ MRI หรือ CT Scan เพื่อวินิจฉัยดูความรุนแรงและหาแนวทางในการรักษา ซึ่งมีหลายวิธีการ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ในผู้ป่วยที่มีอาการไม่มากแพทย์อาจแนะนำให้ทานยา และทำกายภาพบำบัด แต่หากผู้ป่วยมีอาการที่ค่อนข้างรุนแรง แพทย์อาจแนะนำให้ผ่าตัด
จะออฟฟิศซินโดรมหรือหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ก็ป้องกันได้ 'แค่เปลี่ยนพฤติกรรม'
- ยืนเส้นยืนสายให้บ่อย เพราะอาการป่วยของโรคเหล่านี้เกิดจากการอยู่ในท่าเดิมนาน ๆ จึงควรพักทุก 1 ชั่วโมง ขณะพักควรลุกขึ้นขยับร่างกาย และยืดกล้ามเนื้อ เพื่อเป็นการพักไม่ให้กล้ามเนื้อตึงเกินไปจนเกิดอาการปวด
- ปรับท่าทางการนั่งให้ถูกต้อง รวมไปถึงปรับอุปกรณ์ในออฟฟิศให้เหมาะกับศีรษะ ไม่ว่าจะเป็นเก้าอี้ หรือการจัดวางคอมพิวเตอร์ล้วนมีผลต่อท่านั่ง ควรปรับองศาให้พอดี ไม่รู้สึกว่าต้องยกตัวหรือโน้มตัวจนเกินไปเวลาทำงาน เวลานั่งเท้าต้องวางบนพื้นได้พอดี หากไม่ถึงควรมีที่รองเท้ามาช่วยเสริม
- ออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อ ทำให้โอกาสเสี่ยงเป็นออฟฟิศซินโดรมน้อยลง แต่ไม่ควรเล่นกีฬาที่เอ็กซ์ตรีมมากจนเกินไป เพราะการบิดตัวอย่างรวดเร็วและกระทันหัน มีส่วนทำให้หมอนรองกระดูกเกิดการเสื่อมได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เสี่ยงเป็นโรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทได้เหมือนกัน
"ไม่ใช่แค่คนทำงานออฟฟิศเท่านั้นที่เสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม และหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท แต่คนที่ใช้งานร่างกายหนักด้วยท่าทางที่ไม่ถูกต้องบ่อย ๆ หรือใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำ ๆ ต่อเนื่อง เช่น พนักงานขับรถ พนักงานยกของ พนักงานช่างที่ต้องใช้งานกล้ามเนื้อ หรือนั่งอยู่ในท่าเดิมติดต่อกันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง และมีการ ก้ม เงย บิด หลัง หรือคอ เป็นเวลานาน แนะนำให้ทุกคนหมั่นสำรวจความผิดปกติของร่างกาย หากเริ่มรู้สึกปวดเมื่อยตามบริเวณต่าง ๆ อย่าปล่อยทิ้งไว้ ลองสังเกตพฤติกรรมของตัวเองว่ากิจกรรมใดที่เป็นสาเหตุของอาการปวดเมื่อย ควรรีบปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จึงจะสามารถหายขาดจากอาการปวด และป้องกันตัวเองจากโรคเหล่านี้ได้" นพ.พิษณุ สุนทรปิยะพันธ์ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัดโรงพยาบาลพญาไท 2 กล่าว