กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดงานเปิดตัวการดำเนินงานในระดับภูมิภาคของโครงการด้านน้ำ ภายใต้ความร่วมมือไทย-เยอรมันด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Thai-German Climate Programme – Water: TGCP – Water) ณ จังหวัดแพร่ เพื่อประชาสัมพันธ์ความร่วมมือไทย-เยอรมันที่มุ่งเน้นการบริหารจัดการภาวะน้ำท่วม น้ำแล้งในระดับลุ่มน้ำ โดยผนวกการปรับตัวต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและข้อแนะนำการเลือกและออกแบบมาตรการทางระบบนิเวศลงในแผนแม่บทลุ่มน้ำ
ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อรูปแบบสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงที่รุนแรง เช่นภาวะฝนตกหนัก น้ำท่วม และภาวะแห้งแล้ง การปรับตัวต่อสภาวะที่เปลี่ยนแปลงนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากทรัพยากรน้ำเป็นทรัพยากรที่สำคัญและส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอย่างชัดเจน
นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่และประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำยมกล่าวว่า "ปัจจุบันปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลให้ลุ่มน้ำยมเผชิญกับภาวะน้ำท่วมและน้ำแล้ง สำหรับจังหวัดแพร่ ฤดูฝนจะเกิดน้ำหลาก สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจำนวนมาก แต่ประชาชนในพื้นที่ก็มีการปรับตัวโดยหันมาประกอบอาชีพหาปลา สร้างรายได้ในช่วงน้ำหลาก ส่วนในฤดูแล้ง เนื่องจากแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบนไม่เพียงพอ จึงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและทำการเกษตร ส่งผลกระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่พึ่งพารายได้หลักจากผลผลิตด้านการเกษตร"
ลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำสะแกกรังได้รับการคัดเลือกเป็นพื้นที่นำร่องในการดำเนินโครงการฯ เพื่อยกระดับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างบูรณาการโดยคำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โครงการฯ มุ่งหวังให้ชุมชนสามารถตั้งรับปรับตัว รักษาวิถีชีวิต มีความเป็นอยู่ที่ปลอดภัย และมีส่วนดูแลรักษาระบบนิเวศ เพื่อใช้บริการของระบบนิเวศในการปรับตัวต่อผลกระทบและรับมือกับเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรงได้ ระบบนิเวศช่วยเพิ่มการกักเก็บน้ำ ลดภาวะการตกตะกอนและลดการพังทลายของตลิ่ง รวมถึงช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ดีขึ้น โครงการนำร่องในพื้นที่จะมีกการประเมินความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากสภาวะโลกร้อนเพื่อใช้วางแผนระยะยาว และกำหนดเกณฑ์การเลือกมาตรการระบบนิเวศในการจัดการทรัพยากรน้ำ โดยการประเมินความเสี่ยงนี้จะเป็นส่วนหนึ่งแผนแม่บทของลุ่มน้ำนำร่อง โครงการฯ หวังว่าในที่สุดแล้วแผนแม่บทลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่ม จะมีการนำการประเมิความเสี่ยงไปใช้เพื่อระบุการจัดลำดับความสำคัญของการแก้ปัญหาด้วยธรรมชาติเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การตั้งรับปรับตัวในภาคส่วนน้ำเป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยในการประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยสามัญ ครั้งที่ 71 ณ สำนักงานใหญ่สหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มอบสัตยาบันการเข้าเป็นภาคีความตกลงปารีสของไทยให้กับเลขาธิการสหประชาชาติ และในการประชุมสุดยอดว่าด้วยการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ 2562 ห้วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญครั้งที่ 74 เมื่อวันที่ 24-25 กันยายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรียังได้เป็นตัวแทนประชาคมความร่วมมือแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน กล่าวเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดกับสภาวะโลกร้อนอีกด้วย
นายอเล็กซานเดอร์ เราโบว์ด ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจและการค้า สถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยให้ความเห็นว่า "รัฐบาลเยอรมนีมีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทยในการเสริมสร้างความสามารถในการปรับตัวต่อความเสี่ยงที่เกิดจากภาวะโลกร้อนซึ่งถือเป็นเป็นความท้าทายระดับโลก สำหรับภาคการบริหารจัดการน้ำ เราทำงานร่วมกันเพื่อลดผลกระทบที่เกิดจากอุทกภัยและความแห้งแล้งร่วมกับชุมชนลุ่มแม่น้ำยม"
ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยว่า "สทนช. อยากส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ระหว่างกัน แลกเปลี่ยนกัน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนบนหลักการมีส่วนร่วม ได้รับการยอมรับจากชุมชน และเป็นตัวอย่างการพัฒนาระดับลุ่มน้ำที่สามารถแสดงผลเชิงประจักษ์ในสายตาประชาคมโลกได้ สทนช. พร้อมที่จะสนับสนุน และขยายผลการจัดการโดยชุมชน ดังตัวอย่างจาก "สะเอียบโมเดล" ที่จังหวัดแพร่ที่เน้นการพูดคุยและรับฟังความเห็นระหว่างชาวบ้านในพื้นที่และหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบและยั่งยืน และส่งต่อไปยังพื้นที่อื่นด้วย"
นายสเตฟาน ฮุพเพิร์ด ผู้อำนวยการโครงการด้านน้ำฯ กล่าวย้ำว่า" การปรับตัวต่อการสภาวะโลกร้อนต้องอาศัยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดเข้ามาทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด จากประสบการณ์ของ GIZ การปรับตัวโดยอาศัยธรรมชาติและการใช้บริการระบบนิเวศเป็นประโยชน์ต่อชุมชนในการรับมือกับเหตุที่รุนแรงที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และเป็นมาตรการการปรับตัวที่มีประสิทธิภาพ การใช้บริการระบบนิเวศเป็นส่วนสำคัญของการจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเผชิญกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคน้ำ"
ในงานมีการเสวนาเรื่อง" แนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มแม่น้ำยม" โดยเน้นถึงความสำคัญของการดำเนินมาตรการปรับตัว ผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ นางกานต์เปรมปรีด์ ชิตานนท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ ดร. ณัฏฐนิช อัศวภูษิตกุล ผู้อำนวยการกองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสเตฟาน ฮุพเพิร์ด ผู้อำนวยการแผนงานด้านน้ำ รศ.ดร.เดช วัฒนชัยยิ่งเจริญ จากมหาวิทยาลัยนเรศวร และดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ
นอกจากนี้ มีการจัดนิทรรศการผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการภาวะโลกร้อนต่อประเทศไทยและให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวคิดหลักของการดำเนินการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง การแสดงภาพถ่ายดาวเทียมและการใช้อากาศยานไร้คนขับหรือโดรนแสดงการใช้ที่ดินและสภาพแวดล้อมของลุ่มแม่น้ำที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา ซึ่งเป็นการใช้นวัติกรรมในการในการรวบรวมประเมินผลข้อมูล นอกจากนี้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมนักเรียน และชุมชนได้รับเชิญให้เข้าร่วมตอบคำถามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและวาดภาพเพื่อแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของลุ่มน้ำยม
ผู้แทนจากสถานทูตเยอรมัน สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานนโยบายและแผน กรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม GIZ หน่วยงานราชการ คณะกรรมการลุ่มน้ำยม ชุมชน เข้าร่วมงานเปิดตัวกิจกรรมโครงการฯ ณ วิทยาลัยเทคนิคแพร่ในครั้งนี้