กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--องค์กรสาธารณประโยชน์
ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยกองส่งเสริมสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ได้ร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 39 ท้องถิ่น และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดกิจกรรมการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนำร่อง โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างสื่อดี สื่อสร้างสรรค์ที่เหมาะสมให้กับเด็กและเยาวชน เพราะสื่อมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กและครอบครัว
พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลาย ทั้งชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม รวมทั้งภาษาถิ่น ส่งผลการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย ดังนั้นการปลูกฝังการเป็นพลเมืองเด็ก ผ่านการสร้างกระบวนการเรียนรู้ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ถือเป็นบทบาทสำคัญยิ่งที่จะช่วยสานสัมพันธระหว่างการดูแลเด็กของครอบครัว และครูปฐมวัยให้ความความสอดคล้องเชื่อมโยงกันและกัน ส่งผลต่อสุขภาวะดีในทุกมิติของเด็กปฐมวัย
การผสานแนวคิดเรื่อง "การสร้างพื้นที่สุขภาวะหรือพื้นที่สร้างสรรค์แก่เด็กปฐมวัย" เป็นแนวคิดที่เน้นการสร้างสุขภาวะ 4 ด้าน ประกอบด้วยกาย จิต ปัญญาและสังคมด้วย ยุทธศาสตร์ 3 ดี (สื่อดี พื้นที่ดี ภูมิปัญญาที่ดี) อันเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันและดึงเด็กออกจากสื่อที่ไม่สร้างสรรค์ต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ ทั้งนี้เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปลูกฝังหล่อหลอมการเป็นพลเมืองเด็กที่มีทักษะชีวิตโดยใช้กระบวนการสื่อ และกิจกรรมสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็กปฐมวัยสามารถเติบโตอย่างมีสุขภาวะดีครบทุกด้านและเติบโตเป็นพลเมืองดีของสังคม ที่มีคุณสมบัติพึงประสงค์ ด้านอารมณ์ ความสัมพันธ์ สติปัญญา วินัย การรู้จักแบ่งปัน และความฉลาดรู้ทางสุขภาพ (การรู้จักการรับประทานอาหารดีมีประโยชน์และการมีกิจกรรมทางกาย) กระบวนการ 3 ดี ทำให้เกิดการสร้างการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กลุ่มครูผู้ดูแลเด็ก กลุ่มผู้ปกครอง กลุ่มผู้นำชุมชน ทำให้เกิดกระบวนการกระตุ้นให้ครอบครัวได้ใช้กระบวนการสื่อและพื้นที่สร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้กับเด็กปฐมวัยในบ้าน ทำให้ชุมชนน่าอยู่ น่าอาศัย เกิดสันติสุขที่ยั่งยืนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป
นายอิสระ ละอองสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า "การหนุนเสริมและเติมเต็ม ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในการดำเนินกิจกรรมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กของแต่ละท้องถิ่น ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้ได้มีโอกาสเข้าถึงเรื่องของการศึกษาสำหรับเด็กปฐมวัย เพื่อให้มีความสอดคล้อง เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ เป็นการสร้างโอกาสให้ประชาชนได้รับบริการจากภาครัฐ ที่ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตเพิ่มสูงขึ้น ผ่านกระบวนการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานสังคมพหุวัฒนธรรม เป็นการเสริมสร้างสถาบันครอบครัว และสถาบันทางสังคมให้มีความเข้มแข็ง เอื้อต่อการพัฒนาคนและประเทศ"
นายปรีชา ชนะกิจกำจร ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนงานพัฒนาฝ่ายพลเรือน ศอ.บต. กล่าวว่า "โครงการส่งเสริมสนับสนุนการจัดการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกิจกรรมส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาและพัฒนาคุณภาพศูนย์พัฒนาเด็กเล็กนำร่อง ในพื้นที่ที่เคยเกิดเหตุความรุนแรง พื้นที่อาจเกิดเหตุความรุนแรง หรือพื้นที่สุ่มเสี่ยง ให้ดำเนินกิจกรรม สร้างพื้นที่ดี สิ่งแวดล้อมดี โดยคนในชุมชนร่วมออกแบบเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน ได้เรียนรู้ร่วมกัน ก่อให้เกิดสานสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน และ เพื่อสร้างภูมิดี ภูมิปัญญาในการฉลาดเรียนรู้เท่าทันสังคม เรียนรู้ทักษะการเอาตัวรอดจากการปฏิเสธไม่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือสิ่งไม่ดี รวมทั้งมีทักษะพื้นฐานด้านอาชีพตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง"
นางสาวอริศรา บินอิสริส ตัวแทนครูศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านตาสา ต.พร่อน อ.เมือง จ.ยะลา ผู้ดำเนินงานโครงการมหัศจรรย์สื่อสร้างสรรค์ และเป็นแกนนำสำคัญของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กต้นแบบสามดี และได้ขยายผลกิจกรรมร่วมกับ ศอ.บต. กล่าวว่า "ครูปฐมวัยเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรม ให้แก่เด็กปฐมวัยโดยการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามประสบการณ์และทักษะชีวิตในแต่ละวันให้สอดคล้องกับแผนการสอนและดึงผู้ปกครองมามีส่วนร่วมมาร่วมผลิตสื่อ ร่วมคิดร่วมทำ รวมทั้งต่อยอดให้ผู้นำในท้องที่มามีส่วนร่วม
การทำงานโครงการ ทำให้ครูมีกระบวนการคิด วิเคราะห์ วางแผน การทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น กิจกรรมสร้างการมีส่วนร่วมของครูและผู้ปกครอง ทำให้เกิดการระดมความเห็น แลกเปลี่ยน รับฟังข้อเสนอแนะ การสำรวจสถานการณ์ครอบครัว สภาพปัญหา การเลี้ยงดูเด็ก ของผู้ปกครองศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก นำมาออกแบบกิจกรรม และเห็นความสำคัญของสถานการณ์ที่ส่งผลต่อเด็กปฐมวัยในพื้นที่ เช่น การใช้ภาษาถิ่น การใช้ภาษาไทยกลาง ถ้ามีการสื่อสารในภาษาที่ตรง ก็จะเกิดการเข้าใจตรงกัน
กระบวนการผลิตสื่อและใช้สื่อ จึงเป็นกิจกรรมที่สำคัญของการถ่ายทอด สื่อสาร เพราะสื่อนั้น เป็นทั้งกิจกรรม ทั้งกระบวนการ และยังส่งเสริม การเล่นให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้เร็วขึ้น ผู้ปกครองได้มีเครื่องมือในการดูแลเด็กปฐมวัยในบ้านของตัวเอง ต้องขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่ได้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้น ทำให้เกิดการต่อยอดและเกิดการเปลี่ยนแปลงกับเด็กๆ ผลที่เกิดขึ้นชัดเจนมาก เด็กๆ พัฒนาทักษะมากขึ้น ทั้งด้านสังคม อารมณ์ สติปัญญา มีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น รวมทั้งตัวครูและคณะทำงาน มีความมั่นใจในการจัดกิจกรรม มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ปกครองมากขึ้น เกิดสายสัมพันธ์ที่ดีในชุมชน การทำงานพัฒนาเด็กเป็นระบบมากขึ้นอีกด้วย"