กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (College of Innovative Business and Accountancy : CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์(มธบ.) เปิดเผยว่า มธบ.ได้ร่วมหารือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ โดยเสนอหาแนวทางในการพัฒนาร้านค้าโชว์ห่วยพร้อมยกระดับและเพิ่มขีดความสามารถโชว์ห่วยรูปแบบเดิมให้เป็นสมาร์ทโชว์ห่วยเพื่อให้สามารถแข่งขันกับโมเดิร์นเทรดได้ อย่างไรก็ดี ในการพัฒนาร้านค้าโชว์ห่วยซึ่งมีอยู่กว่า 3 หมื่นกว่าร้านค้าทั่วประเทศ โดย ในหนึ่งตำบล มีร้านค้าโชว์ห่วยประมาณ 1-3 ร้าน ในจำนวนนี้มีที่ขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานภาครัฐจำนวนไม่มากนัก ซึ่งอาจเป็นปัญหาและอุปสรรคในการเข้าไปพัฒนา เนื่องจากหลักเกณฑ์ในการพิจารณาเพื่อเข้าไปพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถให้กับร้านค้าโชว์ห่วยเหล่านี้ มีข้อจำกัด คือ ต้องเป็นร้านที่ขึ้นทะเบียนกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์เท่านั้น หลายร้านอาจกลัวในเรื่องของปัญหาภาษีที่อาจตามมาเมื่อเข้าสู่ระบบภาครัฐ เหตุนี้จึงทำให้มีร้านโชว์ห่วยอยู่ในระบบจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่มีอยู่จริง ดังนั้น หากรัฐบาลมีมาตรการในการลดหย่อนภาษี หรือ มาตรการด้านภาษีหรือแม้แต่มาตรการด้านอื่นๆเพื่อจูงใจร้านค้าโชว์ห่วยเข้ามาสู่ระบบภาครัฐมากขึ้นจะทำให้ร้านโชว์ห่วย ของไทยมีโอกาสได้เข้ารับการพัฒนายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันกับโมเดิร์นเทรดได้มากขึ้น
"อยากฝากถึงรัฐบาลหากต้องการพัฒนาโชว์ห่วยเล็กๆ ให้เป็นสมาร์ทโชว์ห่วยได้ น่าจะมีมาตรการด้านภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเข้าระบบภาครัฐมากขึ้น จะทำให้เขามีโอกาสได้รับการช่วยเหลือในด้านต่างๆ จากหน่วยงานรัฐ ซึ่งจะทำให้ร้านโชว์ห่วยสามารถพัฒนาศักยภาพของตนเองสู้กับโมเดิร์นเทรดได้ โชว์ห่วยมีจุดแข็งที่เป็นร้านดั้งเดิมที่อยู่ในชุมชนมีความคุ้นชินกับคนในชุมชน มีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนหรือลูกค้ามากกว่า ดังนั้น เพื่อให้โชว์ห่วยอยู่ได้ เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องหามาตรการร่วมกันในการช่วยเหลือ ไม่เช่นนั้นโชว์ห่วยก็แข่งขันกับโมเดิร์นเทรดไม่ได้และจะหายไปในที่สุด" ดร.ศิริเดช กล่าว
ด้าน ดร ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล นักวิจัยอาวุโส วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มธบ.กล่าวเสริมว่า จากการหารือกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ในแนวคิดการพัฒนาต้นแบบของสมาร์ทโชว์ห่วย เพื่อให้สามารถแข่งขันกับโมเดิร์นเทรดแบรนด์ดังซึ่งมีจำนวนมากมาย จนส่งผลกระทบให้ร้านโชว์ห่วยไทยปิดตัวลงไปจำนวนไม่น้อยนั้น โดย มธบ.ได้ทำการสำรวจร้านค้ากว่า 218 ร้าน จาก 7 จังหวัด ระยะเวลา 1 เดือน พบว่า แนวทางพัฒนาร้านโชว์ห่วยให้แข่งขันกับโมเดิร์นเทรดได้นั้น เบื้องต้นร้านค้าเหล่านี้ต้องปรับปรุงพื้นที่ร้านใหม่ และมีการจัดผังของร้านให้มีรูปแบบที่ทันสมัยมากขึ้น รวมถึงการจัดระเบียบการวางและเรียงสินค้าที่ต้องเป็นหมวดหมู่สวยงาม แสงสว่างภายในร้านมากเพียงพอ เพื่อดึงดูดลูกค้าเข้ามาในร้าน การบันทึกรายการสินค้าขายดี ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการจัดวางสินค้าให้ลูกค้าสามารถหยิบจับได้โดยง่าย ทั้งนี้ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป โดยชอบจับจ่ายซื้อของจากร้านโมเดิร์นเทรดที่ทันสมัยมากขึ้น
นอกจากนี้ มาตรการที่ภาครัฐเข้าไปช่วยเหลือร้านโชว์ห่วย เช่น บัตรสวัสดิการธงฟ้าประชารัฐ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ยอดขายของร้านโชว์ห่วยกระเตื้องขึ้นมาได้ รวมไปถึง การทำความร่วมมือกับภาคบริการต่างๆ เช่น เครือข่ายโทรศัพท์มือถือค่ายต่างๆ ตู้ชำระเงิน ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ของภาครัฐ ให้ร้านค้าโชว์ห่วยที่เข้าร่วมโครงการกับกรมการค้าภายใน กระทรวงพานิชย์ สามารถรับบริการชำระเงินค่าบริการต่างๆ ได้ ก็จะเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มรายได้ของร้านค้าโชว์ห่วย และยกระดับขึ้นเป็นสมาร์ทโชว์ห่วยได้ โดยข้อมูลที่ มธบ.ทำการสำรวจทั้งหมดจะสรุปและรวบรวมเสนอให้กับกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์และวางแผนในการดำเนินงานพัฒนาร้านค้าเล็กๆสู่สมาร์ทโชว์ห่วยในอันดับถัดไป