กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--เวเบอร์ แชนด์วิค
ประเทศไทยจำเป็นต้องยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อก้าวสู่ระบบเศรษฐกิจบนฐานความรู้
ในภาพ (จากซ้ายไปขวา) นายฟิลิป สตีเว่น ผู้อำนวยการ เจนีวา เน็ตเวิร์ค ประเทศอังกฤษ นายกานต์ ยืนยง กรรมการผู้จัดการ สยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิต นางสาวอึ้ง ยีน ซีน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ CREATE มาเลเซีย และนายวิทยา มิตรศรัทธา ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เจนิซิส มีเดียคอม (ประเทศไทย) ขณะพูดคุยและให้ความเห็นบนเวทีการสัมนาเรื่องความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการพัฒนา ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมคอนราด กรุงเทพ เมื่อเร็วๆ นี้
ผลการวิจัยของเจนีวา เน็ตเวิร์ค พบว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศกลุ่มอาเซียนที่จำต้องยกระดับกรอบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property rights - IPR) รวมถึงกลไกการบังคับใช้กฏหมายให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลกเพื่อให้ประเทศสามารถก้าวสู่กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง
การวิจัยดังกล่าวชื่อ "ความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อการพัฒนา: สาระสำหรับการปฏิรูปของประเทศในกลุ่มอาเซียน" ระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงในหลายๆ ด้าน อาทิ การตรวจสอบสิทธิบัตรและการปกป้องสิทธิบัตรเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจ และเพื่อไม่ให้ติดกับดักรายได้ปานกลาง รวมทั้งสามารถก้าวสู่เศรษฐกิจที่มีรายได้สูงขึ้น
เจนีวา เน็ตเวิร์ค ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยและสนับสนุนนโยบายรัฐจากประเทศอังกฤษกล่าวว่า ประเด็นการพัฒนานวัตกรรม การค้าและการพัฒนา รวมถึงกรอบการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มแข็งเป็นตัวผลักดันที่สำคัญให้ประเทศก้าวสู่เศรษฐกิจบนฐานความรู้ และยังมีความสำคัญมากต่อการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ สร้างงานที่มีมูลค่าสูง และขยายธุรกิจในประเทศ กฏหมายคุ้มครองสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าที่เข้มแข็งขึ้นเป็นสิ่งที่ส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมที่ให้ความสำคัญกับเครื่องหมายทางการค้ามีส่วนสำคัญต่อ GDP ของประเทศถึงร้อยละ 22 ในขณะที่อุตสาหกรรมที่เน้นความคิดสร้างสรรค์จำต้องอาศัยการปกป้องลิขสิทธิ์เพื่อให้อยู่รอด
รายงานดังกล่าวยังระบุว่า ประเทศไทยสามารถปรับปรุงอันดับในดัชนีกรรมสิทธิ์ทางทรัพย์สิน (ซึ่งปัจจุบันอยู่ต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไปของโลก) ด้วยการบังคับใช้มาตรการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้มแข็งขึ้น เร่งระยะเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบสิทธิบัตรให้เร็วขึ้น และลดช่องว่างในการปกป้องลิขสิทธิ์และกฏหมายด้านเครื่องหมายการค้าให้น้อยลง
การสำรวจยังพบว่า ประเทศไทยใช้เวลา 14 ปีโดยเฉลี่ยในการตรวจสอบสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับชีววิทยาศาสตร์ และสิทธิบัตรมักจะผ่านการอนุมัติเพียงไม่กี่เดือนหรือไม่กี่สัปดาห์ก่อนที่สิทธิบัตรนั้นจะหมดอายุ
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยได้สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในส่วนสำคัญๆ หลายส่วนเช่น การจัดการกับการโจรกรรมข้อมูลออนไลน์ และการปลอมแปลง ทั้งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรียังเป็นประธานในคณะกรรมการทรัพย์สินทางปัญญาหลายชุด ในขณะที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ว่าจ้างผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรเพิ่มเติมจนทำให้สามารถลดจำนวนสิทธิบัตรที่ค้างการตรวจสอบลงได้ถึงร้อยละ 20 ในปี 2018
นายกานต์ ยืนยง กรรมการผู้จัดการ สยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิต กล่าวว่า "ประเทศไทยควรก้าวสู่การเป็นเศรษฐกิจบนฐานรากของความรู้เพื่อให้ได้มาซึ่งการลงทุนใหม่ๆ และการเติบโต รวมทั้งเพื่อให้สามารถพัฒนาเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งจะเป็นได้ต้องมีกรอบด้านการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่ชัดเจน ถึงแม้ว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยได้พัฒนาไปอย่างมากในด้านนี้ แต่ยังจำเป็นต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อให้มั่นใจว่าเราจะไม่ล้าหลังเพื่อนบ้านในภูมิภาคนี้" ทั้งนี้ สยามอินเทลลิเจนซ์ยูนิตเป็นหน่วยงานเอกชนที่เป็นที่รวมของนักคิดและนักวิชาการไทยด้านเศรษฐกิจ การเมือง นโยบายสาธารณะและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
เกี่ยวกับเจนีวา เน็ตเวิร์ค
เจนีวา เน็ตเวิร์ค เป็นหน่วยงานเอกชนจดทะเบียนในประเทศอังกฤษและได้รับการสนับสนุนด้านเงินทุนจากองค์กรและสถาบันทั้งของรัฐและเอกชน เจนีวา เน็ตเวิร์ค ทำงานวิจัยและสนับสนุนด้านนโยบายสาธารณะโดยเน้นประเด็นด้านนวัตกรรมจากต่างประเทศ การค้าและการพัฒนา สนใจค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://geneva-network.com/geneva-network/