กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ
"ประภัตร" กำชับ มกอช. ต้องเป็นผู้นำมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารระดับโลก สร้างความเชื่อมั่น อาหารปลอดภัย อย่าน้อยหน้า อย. เร่งออกมาตรฐานตัว Q ให้ได้อย่างน้อย 20 ใบอนุญาต/เดือน พร้อมเร่งรัดศึกษา มาตรฐาน "กัญชา" ให้ผู้บริโภคเชื่อมั่น
เมื่อวันที่ 9 ต.ค. นายประภัตร โพธสุธน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างเป็นประธานในพิธีเปิดงาน วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ครบรอบ 17 ปีว่า มกอช. ยังเป็นหน่วยงานที่ยังมีคนรู้จักไม่เท่ากับองค์การอาหารและยา (อย.) ทั้งที่เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องอาหาร ปลอดภัยทั้งหมด โดยเฉพาะอาหาร ที่มาจากสินค้าเกษตรปลอดภัย ดังนั้นจากนี้ไป เจ้าหน้าที่ มกอช. จะต้องสร้างความตระหนัก และสร้างความภูมิใจในองค์กรณ์ของตนเองให้มีความสำคัญมากขึ้น โดยต้องทำความเข้าใจให้กับเกษตรกร และประชาชน ได้ตะหนักถึงมาตรฐานสินค้าเกษตร ที่มีสัญลักษณ์ตัวQ ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยต้องเป็นผู้นำให้ประชาชน รู้และเข้าใจว่า สินค้าที่มีการจำหน่ายในท้องตลาด ที่มีสัญลักษณ์ตัว Q คือสินค้าที่ปลอดภัย
รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า แม้ มกอช. จะเป็นหน่วยงานเล็กแต่มีความสำคัญและมีผลงานที่โดดเด่น จึงต้องพัฒนาให้เป็นหน่วยงานที่เป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ปัจจุบันมีการประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรแล้ว 322 ฉบับ ซึ่งในวันนี้ได้มอบนโยบายให้มีการเพิ่มจำนวนมาตรฐานให้มากขึ้น ตั้งเป้าทุกเดือนต้องมีมาตรฐาน Q อย่างน้อย 10-20 เรื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค นอกจากนี้ แนวทางการส่งเสริมสัญลักษณ์ Q ของ มกอช. จะต้องวางระบบออกมาตรฐานให้กับสินค้าเกษตรทุกชนิด อาทิ ปศุสัตว์ และพืช เป็นต้น เพื่อให้คนไทยได้ใช้สินค้า Q ที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยเฉพาะสินค้าที่เป็นไปตามแนวนโยบายของรัฐบาล คือ กัญชาที่ส่งเสริมให้เป็นพืชเศรษฐกิจ และปลอดภัย โดยได้มอบหมายให้ มกอช. ได้ไปศึกษาและวางแนวทางต่อไป
"จากนี้ไป แม้ มกอช. จะดูตัวเล็กแต่เราต้องทำตัวเป็นยักษ์ เป็นผู้นำให้ชาวบ้านเห็นว่า เมื่อเราไปตรวจสอบและออกใบรับรองให้นั้นคือ สินค้าที่ปลอดภัย เราต้องภูมิใจในองค์กรของเรา ไม่ใช่มองว่าเราองค์กรเราเล็กไม่สำคัญ เราต้องทำตัวเป็นผู้นำ ต้องประชาสัมพันธ์ให้คนทั่วไปรู้ว่าเราสำคัญอย่างไร ไม่ใช่ ทำตัวเหมือนตัวเองด้อยค่า ทั้งที่ตนเองเป็นหน่วนงานที่ดูแลเรื่องคุณภาพชีวิตของคนทั้ง 66 ล้านคน เราควรยิ่งใหญ่กว่า อย. ด้วยซ้ำไป จากนี้ไป ในยุคสมัยผมจะทำให้ มกอช. ยิ่งใหญ่ ไม่ใช่ มองว่าเป็นกรมเล็ก ใครก็ไม่อยากมา เราต้องทำให้คนทั้งประเทศทราบว่าเรายิ่งใหญ่แค่ไหน สินค้าปลอดภัยต้องมาจากเราให้ใบรับรอง ต้องทำให้เด่นชัด ให้เห็นในบรรจุภัณฑ์ ตัว Q ต้องมองเห็น แม้กระทั่งกัญชาที่เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ ซึ่งกำลังได้รับความนิยมตอนนี้ มกอช. ต้องไปดู ว่า จะออกมาตรฐานอย่างไร ต้องมองไปข้างหน้า"นายประภัตร กล่าว
ด้าน นางสาวจูอะดี พงศ์มณีรัตน์ เลขาธิการ มกอช. กล่าวถึงผลงานของ มกอช.ในรอบ 17 ปีว่า ปัจจุบัน มกอช. มีการประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรแล้ว 322 ฉบับ ทั้งมาตรฐานระบบ และมาตรฐานสินค้า รวมถึงดำเนินการเรื่องการตรวจรับรอง การเจรจาการค้าระหว่างคู่ค้าต่างๆ เช่น ในปีนี้ มกอช. ได้ร่วมเจรจากับประเทศจีน เพื่อให้เปิดด่านนำเข้าสินค้าผักและผลไม้เพิ่ม 1 ด่าน ซึ่งจีนได้ตอบตกลงในหลักการแล้ว ส่วนเรื่องรายละเอียดจะได้ทำการตกลงต่อไปอย่างเป็นทางการ และได้มีการเจรจากับทาง UAE เรื่องสินค้าฮาลาล เนื่องจาก ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ไม่สามารถส่งออกไก่ ไป UAE เป็นสินค้าฮาลาลได้ ได้ เพราะติดขัดข้อกำหนดใหม่ที่ทาง UAE กำหนดออกมา โดย มกอช. ได้ไปเจรจาซึ่งหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ และได้ผ่อนปรนให้กับทางเรา ขณะเดียวกันขอบข่ายเรื่องสินค้าฮาลาลหมดอายุ 2 ขอบข่าย ก็ได้มีการต่ออายุให้เราอีก 3 เดือน เพื่อให้มีเวลาในการดำเนินการ
"อย่างไรก็ตาม มกอช. เป็นหน่วยงานกลาง ในฐานะเป็นผู้กำหนดเรื่องมาตรฐานสินค้า และขับเคลื่อนตัว Q ซึ่งท่านประภัตร ได้มอบนโยบาย ให้สถานที่ได้มาตรฐาน Q เช่น โครงการโคเนื้อสร้างชาติ อยากให้คอกโคได้เข้าสู่ระบบมาตรฐาน เบื้องต้นได้มีการประสานกรมปศุสัตว์ ร่วมขับเคลื่อนมาตรฐาน Q ด้วย โดยกระตุ้นให้คอกโคที่ผ่านมาตรฐานให้ความสำคัญในเรื่องนี้ และติดสัญลักษณ์ Q ให้คนเห็น ซึ่งวันนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีของ มกอช. ที่ท่านประภัตร ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้ และช่วยสร้างความรับรู้ พร้อมขับเคลื่อน คาดว่าจะช่วยให้ผู้ที่ดำเนินงาน ทั้ง มกอช. และผู้ที่เกี่ยวข้อง สามารถขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญทำให้ประชาชนรับรู้ว่า ควรบริโภคสินค้าที่มีสัญลักษณ์ Q"เลขาธิการ มกอช. กล่าว