กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--พีอาร์พีเดีย
สภาสถาปนิกร่วมกับบริษัท อารยะ เอ็กซ์โป จำกัด ปักธงเปิดงานสภาสถาปนิก'19 งานประชุมนานาชาติทางสถาปัตยกรรมและแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างที่ครบถ้วนและยิ่งใหญ่ที่สุดของเมืองไทย ภายใต้แนวคิด "RE-ACT: ตอบสนอง ต่อยอด ต่อเนื่อง" ระหว่างวันที่ 14 – 17 พฤศจิกายน 2562 ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี
พลอากาศตรี หม่อมหลวงประกิตติ เกษมสันต์ นายกสภาสถาปนิก กล่าวว่า "สภาสถาปนิกมีพันธกิจสำคัญในการพัฒนาวิชาชีพสถาปัตยกรรม ควบคู่กับการเผยแพร่และให้บริการด้านงานวิชาการต่างๆ แก่ประชาชนและองค์การที่เกี่ยวกับวิทยาการและเทคโนโลยีทางสถาปัตยกรรม จึงเป็นที่มาของการจัดงานสภาสถาปนิก'19 ซึ่งถือว่าเป็นมิติใหม่ของการจัดงานประชุมเชิงวิชาการและแสดงนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างระดับนานาชาติ ที่มีความพิเศษกว่างานอื่นๆ เพราะนอกจากจะเป็นงานแสดงนวัตกรรมจากผู้ผลิต ผู้จำหน่ายสินค้าและบริการในอุตสาหกรรมก่อสร้างจากทั่วโลกแล้ว ภายในงานจะได้พบกับสถาปนิกครบทั้ง 4 สาขาวิชาชีพ ได้แก่ สถาปัตยกรรมหลัก สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ภูมิสถาปัตยกรรม และสถาปัตยกรรมผังเมือง เพื่อเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรม รวมถึงอัพเดทเทรนด์เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ที่สำคัญการจัดงานครั้งนี้ยังได้เชิญวิทยากรชั้นนำทั้งในและต่างประเทศมาแบ่งปันความรู้และแนวคิดด้านการออกแบบ รวมถึงช่วยสร้างกระบวนการทางความคิดและพัฒนาวิชาชีพให้กับสถาปนิกไทย"
นายประกิต พนานุรัตน์ ประธานจัดงานสภาสถาปนิก'19 กล่าวว่า งานสภาสถาปนิก'19 จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด "RE-ACT: ตอบสนอง ต่อยอด ต่อเนื่อง" เพื่อสื่อถึงการที่ผู้ประกอบวิชาชีพทางสถาปัตยกรรมรวมถึงทุกวิชาชีพต้องปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในสังคมปัจจุบัน ด้วยการศึกษาต่อยอดความรู้อย่างต่อเนื่อง" ภายในงานฯ จะมีการจัดเวทีสัมมนาและประชุมเชิงวิชาการทางสถาปัตยกรรม รวมกว่า 30 หัวข้อ แบ่งเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่
- Forum A: The Key Note (A Forum for Inspiration) เป็นการเปิดโอกาสให้สถาปนิกไทยและผู้ที่สนใจได้เข้าร่วมรับฟังแนวคิดจากสถาปนิกที่มีชื่อเสียงในระดับโลก อาทิ สเตฟาโน โบเอรี่ (Stefano Boeri) สถาปนิกและนักออกแบบเมืองชื่อดังจากอิตาลี แอนดริว แกรนท์ (Andrew Grant) สถาปนิกระดับโลกจากประเทศอังกฤษเจ้าของผลงานออกแบบ Gardens by the bay ที่มีชื่อเสียงของสิงคโปร์ บาร์บาร่า แบรี่ (Barbara Barry) มัณฑนากรระดับโลกจากลอสแอนเจลิสที่ทำงานอินทีเรียสไตล์ luxury อันเป็นเอกลักษณ์ เป็นต้น เพื่อเป็นการให้ความรู้ สร้างแรงบันดาลใจ และก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาการทำงานสู่ระดับสากลต่อไป
- Forum B: The Practice (Sharing Knowledge from a Master) เป็นการให้ความรู้ทางวิชาการและวิชาชีพแก่สมาชิกสภาสถาปนิกและประชาชนทั่วไป โดยจะมีเนื้อหาครอบคลุมการปฏิบัติวิชาชีพทั้ง 4 สาขา รวม 5 ประเภทงาน ทั้งในส่วนงานศึกษาโครงการ งานออกแบบ งานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง งานตรวจสอบ และงานให้คำปรึกษา
- Forum C: The Innovation (Discussion for the Best Solution) ครั้งแรกกับเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และนวัตกรรมระหว่างสถาปนิกและกลุ่มธุรกิจ เพื่อนำไอเดียไปต่อยอดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากที่สุด
- Forum D: The ACT Services (ACT Commitment to Serve Our Society) เป็นกิจกรรมที่สภาสถาปนิกให้บริการสังคมในรูปแบบของการให้คำปรึกษาโดยตรงแก่ประชาชนทั่วไป เกี่ยวกับงานสถาปัตยกรรมโดยกลุ่มสถาปนิกอาสา และยังเปิดพื้นที่และโอกาสให้สถาบันการศึกษาได้เผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีประโยชน์ต่อสาธารณะ
"นอกจากนี้ ในงานฯ ยังจะมีการจัดการต่ออายุสมาชิกและให้สิทธิพิเศษต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์แก่บุคลากรใน แวดวงสถาปัตยกรรม รวมถึงมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานทางสถาปัตยกรรม เพื่อสร้างแนวคิดและแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมในด้านต่างๆ โดยได้รับความร่วมมือจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังรวบรวมกิจกรรมที่น่าสนใจและมีประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายของงานไว้อย่างมากมาย" นายประกิต กล่าว
ด้านนายศุภแมน มรรคา ผู้อำนวยการโครงการ บริษัท อารยะ เอ็กซ์โป จำกัด ผู้จัดงานสภาสถาปนิก'19 เผย ถึงความพร้อมในการจัดงานครั้งนี้ว่า "ในขณะนี้ มีผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ก่อสร้างกว่า 500 ราย จาก 30 ประเทศทั่วโลก เช่น ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม สิงคโปร์ เยอรมัน อิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ได้ตอบรับเข้าร่วมแสดงสินค้าในงานสภาสถาปนิก'19 ทั้งยังมีแบรนด์ผลิตภัณฑ์ชั้นนำเข้าร่วมงานแล้วกว่า 50 ราย ภายในงานฯ นอกจากจะมีฟอรั่มทั้ง 4 รูปแบบแล้ว ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจเกี่ยวกับนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ก่อสร้างอีกมากมาย เช่น Product Launching Day ที่จัดขึ้นในวันที่ 14 พฤศจิกายน ตั้งแต่เวลา 12.00-13.30 น. ซึ่งเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้แบรนด์ชั้นนำในแวดวงผลิตภัณฑ์ก่อสร้างได้นำเสนอนวัตกรรมใหม่ล่าสุดที่ยังไม่เคยเปิดตัวที่ไหนมาก่อน เรียกว่าเป็นการนำนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ในปี 2020 มาให้ผู้เข้าชมงานได้สัมผัสก่อนใคร อาทิ ระบบเจาะยึดเพื่อการติดตั้งผนัง Rain Screen แบบ Dry-process นำเข้าจากเยอรมัน ชุดท่อระบายน้ำสำหรับงานภูมิทัศน์ นำเข้าจากเยอรมัน และ Neolith นวัตกรรมวัสดุปิดผิวประเภทใหม่ที่เกิดจากการนำแร่หินธรรมชาติมาบดละเอียดแล้วหลอมเป็นแผ่นเรียบ เป็นต้น"
นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ไฮไลท์ที่ทำการจัดแสดงในงาน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ในหมวด Designed for Wellness ที่ตอบโจทย์ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ที่หันมาใส่ใจดูแลทั้งสุขภาพกายและจิตใจตัวเองมากขึ้น อาทิ
- Beau Showerlet จากบริษัท อาซาฮิ อเล็ก เอเชีย จำกัด ซึ่งเป็นนวัตกรรมฝารองนั่งสุขภัณฑ์ไฟฟ้าจากญี่ปุ่นที่มีระบบชำระล้างแบบอ่อนโยน ช่วยคงความสะอาดให้ร่างกายและไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อส่วนอื่นๆ ทั้งยังทำมาจากวัสดุพิเศษที่มีคุณสมบัติป้องกันและยับยั้งการเกิดแบคทีเรีย ช่วยรักษาความสะอาดได้เป็นอย่างดี
- ARITCO Homelift จากบริษัท อาริทโก้ (ประเทศไทย) จำกัด ลิฟต์บ้านจาก ARITCO ตอบโจทย์ทั้งความสะดวกสบายและความปลอดภัย ตัวลิฟท์ควบคุมด้วย 2 ระบบ คือ ไฟฟ้าที่ใช้ภายในบ้านและแบตเตอรีสำรอง ที่จะทำงานทันทีที่ไฟดับ รวมถึงระบบขับเคลื่อนโดยใช้สกรู จึงไม่มีความเสี่ยงในเรื่องสลิงขาด อีกทั้งกระจกที่ใช้ยังเป็นประเภท Tempered Laminated ที่มีความแข็งแรงและปลอดภัยสูง
- Panaplast Laminate จากบริษัท อีดีแอล ลามิเนตส์ จำกัด ลามิเนตส์ที่มีความโดดเด่นในเรื่องความโปร่งแสง สามารถนำไปดัดแปลงเป็นรูปทรงต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย จึงสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างอิสระ ที่สำคัญคือ แอนตี้แบคทีเรีย 99.99% จึงเหมาะกับงานด้าน Health Care อาทิ โรงพยาบาล คลินิก ห้องสำหรับเด็ก
- Green Wall System จากบริษัท ดีวันซิสเต็ม จำกัด สวนแนวตั้งด้วยระบบแผง (Panel) ช่วยประหยัดพื้นที่ ทั้งยังสามารถเพิ่มลูกเล่น เช่น การจัดต้นไม้ไล่สี หรือทำเป็นลวดลายต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ทำจากวัสดุที่แข็งแรง ปลอดภัย และมีระบบการให้น้ำที่มีประสิทธิภาพ สามารถให้น้ำได้อย่างทั่วถึงในทุกจุด จึงทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตดูสวยงาม ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดอุณหภูมิในอาคารบ้านเรือน และกรองอากาศได้ ในส่วนของแบรนด์ดังที่มาร่วมจัดแสดงสินค้าภายในงาน อาทิ TOSTEM แบรนด์ประตูหน้าต่างอลูมิเนียมคุณภาพจากญี่ปุ่น ได้นำผลิตภัณฑ์ใหม่มาจัดแสดง ได้แก่ GRANTS SERIES กรอบประตูหน้าต่างที่ถูกออกแบบมาเพื่อรองรับการติดตั้งบนอาคารสูงโดยเฉพาะ ตอบโจทย์การออกแบบของดีไซเนอร์ได้เป็นอย่างดีด้วยแบบบานที่หลากหลาย ทั้งบานเลื่อน บานเปิด บานกระทุ้ง บานเข้ามุม สามารถเลือกต่อกับบานช่องแสงได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ ยังมี Ventilation Room ที่ประกอบด้วย GRANTS Ventilation ระบบระบายอากาศที่เหมาะสำหรับอาคารสูง เพราะฝังอยู่ในกรอบเฟรมแนวตั้ง จึงให้การรับชมวิวแบบพาโนรามาได้สุดสายตา ช่วยสร้างการไหลเวียนอากาศในห้องและป้องกันน้ำฝนได้อย่างมีประสิทธิภาพ Ventilation Door ประตูระบายอากาศช่วยสร้างการหมุนเวียนอากาศธรรมชาติภายในห้อง และประตูทางเข้า GIESTA ที่ออกแบบโดยมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก มีระบบล็อคที่แน่นหนา
ทางด้านบริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ – ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด ได้สร้าง BIM Center ขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยี BIM (Building Information Modeling) มาจัดแสดง ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้างผ่านกระบวนการออกแบบตั้งแต่เริ่มต้น จึงสามารถช่วยลดของเสียจากการก่อสร้าง (Construction Waste) ด้วยวิธีการสร้างโมเดล 3 มิติ ที่รวมแบบสถาปัตย์ โครงสร้าง และงานระบบเข้าด้วยกัน โดยใส่ข้อมูลของวัตถุองค์ประกอบต่างๆ ในอาคารเข้าไป ทำให้สามารถวางแผนการก่อสร้างและทำ Clash Detection เพื่อตรวจสอบความผิดพลาดผ่านโมเดลก่อนการลงมือก่อสร้างจริง เพื่อให้ประหยัดทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และใช้ทรัพยากรได้อย่างคุ้มค่า
บริษัท จระเข้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด นำเสนอ สี GColor รุ่นใหม่ เพื่อเจาะตลาดอาคารอนุรักษ์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบ้านพักอาศัยสไตล์ย้อนยุคที่นิยมนำมา renovate เพื่อเป็นร้านอาหาร โฮสเทล หรือโบราณสถานที่ทรงคุณค่า พื้นที่เหล่านี้ต้องมีการใส่ใจในทุกๆ รายละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนทั้งรื้อถอนและซ่อมแซม ต้องทำอย่างประณีต การเลือกวัสดุที่นำมาใช้ซ่อมแซมต้องไม่ทำให้พื้นผิวโบราณสถานเดิมได้รับความเสียหายและต้องช่วยรักษาพื้นผิวให้มีความสอดคล้องกับลักษณะของโบราณสถานเดิม
นอกจากนี้ ภายในงานสภาสถาปนิก'19 ยังมีโซน Designer Hub Pavilion หรือพื้นที่สำหรับนักออกแบบจากทุกสาขาวิชาชีพ ซึ่งเป็นสมาชิกของสภาสถาปนิก เพื่อมาพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก่อสร้าง ออกแบบ และตกแต่ง เพื่อเป็นการสร้างโอกาสในการต่อยอดธุรกิจ ส่วนผู้เข้าร่วมงานที่เป็นบุคคลทั่วไปก็สามารถมาพบกับผู้ให้บริการด้านการออกแบบ ตกแต่ง และผู้ให้บริการด้านการก่อสร้าง ที่สามารถให้คำแนะนำได้ในทุกความต้องการ
นายศุภแมน กล่าวเสริมว่า "จากไฮไลท์ทั้งหมดที่กล่าวไป คาดว่าจะสามารถดึงดูดให้มีผู้เข้าชมงานตลอดทั้ง 4 วัน อยู่ที่ประมาณ 90,000 คน ทั้งจากในและต่างประเทศ สำหรับต่างประเทศคิดเป็นสัดส่วนอยู่ที่ 25% ซึ่งตอนนี้มีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมงานแล้ว อาทิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ คณะผู้จัดงานฯ ยังมั่นใจว่างานครั้งนี้จะสามารถกระตุ้นอุตสาหกรรมก่อสร้างภายในประเทศได้ ซึ่งสอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของธนาคารไทยพาณิชย์ในหัวข้อ Construction Industry 2019 ที่คาดว่ามูลค่าการก่อสร้างรวมของไทยมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นราว 1.38 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.5% เมื่อเทียบกับปี 2018 ซึ่งเป็นผลพลอยได้มาจากการก่อสร้างของภาครัฐในโครงการโครงสร้างพื้นฐานอย่างคมนาคม อีกทั้งการก่อสร้างภาคเอกชนก็ยังมีการคาดการณ์ว่าจะเติบโตราว 5.6 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 3.5% ซึ่งเป็นผลมาจากการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมตามแนวรถไฟฟ้า และโครงการอาคารพาณิชย์ อย่างสำนักงาน และโครงการ mixed-use"
"การเติบโตด้านการก่อสร้างทั้งภาครัฐและเอกชนที่กล่าวมาจะเป็นปัจจัยเสริมที่ดึงดูดผู้สนใจให้เข้ามาดูงานสภาสถาปนิกครั้งนี้กันมากยิ่งขึ้น เพราะเป็นงานที่ได้รวบรวมนวัตกรรมด้านการก่อสร้าง รวมถึงโปรโมชั่นจากผู้ประกอบ การธุรกิจมากมายไว้ในงานนี้งานเดียว"
"สุดท้ายนี้ คณะผู้จัดงานฯ อยากจะขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงานสภาสถาปนิก'19 ระหว่างวันที่ 14-17 พฤศจิกายนนี้ ณ อิมแพ็ค ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ เมืองทองธานี โดยทางคณะผู้จัดงานฯ มีความตั้งใจและต้องการผลักดันให้งานนี้เป็นงานที่รวบรวมองค์ความรู้ด้านสถาปัตยกรรมและนวัตกรรมในแวดวงอุตสาหกรรมก่อสร้างที่ครบถ้วนที่สุดของเมืองไทยและยิ่งใหญ่ที่สุดอีกงานหนึ่งในเอเชีย เพื่อให้ทุกคนที่สนใจได้มาอัพเกรดความรู้และเทคโนโลยีจากทุกสาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรม" นายศุภแมน กล่าวทิ้งท้าย