กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง
อาจารย์กรสวรรค์ชนก ตั้งปอง อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เผยว่า เมื่อวันที่ 5 และ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ประกอบด้วย นายณัฐชนนท์ ณ พัทลุง หรือ "แน็ต" นายอธิภู จารุพันธ์ หรือ "บูม" นักศึกษาชั้นปีที่ 4 และนางสาวชาลินี แซ่หลิม หรือ "จ๋า" นักศึกษาชั้นปีที่ 5 ได้คว้ารางวัลผลงานโดดเด่น จากการส่งผลงานการออกแบบรถเข็นนั่งหรือวีลแชร์เพื่อคนพิการในโครงการ "Wheel Share Journey" พาผู้พิการ ไปท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ ทั่วประเทศไทย จัดโดย บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อส่งเสริมให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องของโอกาส ความเท่าเทียม ที่มีต่อผู้พิการในสังคมไทย โดยได้ส่งผลงานเข้าประกวดตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา และผ่านเข้ารอบจนถึงรอบ 10 ทีมสุดท้ายและสามารถคว้า "รางวัลผลงานโดดเด่น" ได้ในที่สุด
อาจารย์กรสวรรค์ชนก เล่าถึงที่มาของการส่งนักศึกษาเข้าประกวดผลงานชิ้นนี้ ว่า เกิดจากการที่เห็นการประชาสัมพันธ์โครงการผ่านทางเฟซบุ๊ค ก็เห็นว่านักศึกษาของเรามีความสามารถและศักยภาพ สามารถส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการนี้ได้ จึงเฟ้นหานักศึกษาที่จะเข้ามาทำงานชิ้นนี้ และได้นักศึกษาทั้งสามคนมาทำกิจกรรมนี้ ซึ่งตนก็เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา คอยให้ความช่วยเหลืออยู่ห่างๆ เปิดโอกาสให้นักศึกษาได้คิดได้ออกแบบกันเอง โดยมีคณาจารย์ในคณะทุกท่าน ได้ยื่นมือช่วยให้คำปรึกษาด้านต่างๆ และคอยสนับสนุนการดำเนินงานในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการหาวัสดุอุปกรณ์ การลงพื้นที่เพื่อสอบถามกับผู้พิการโดยตรง หรือการประสานกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดการทำกิจกรรม นับตั้งแต่เริ่มสมัคร จนถึงรอบ 10 ทีมสุดท้าย นับระยะเวลาร่วม 5 เดือนที่ผ่านมา
ด้าน นายณัฐชนนท์ เล่าว่า โครงการ "Wheel Share Journey" เป็นโครงการออกแบบวีลแชร์สำหรับผู้พิการ ซึ่งโครงการดังกล่าว ทางผู้จัดงานให้ความสำคัญต่อผู้พิการทางร่างกาย อยากให้บุคคลกลุ่มนี้ได้มีความเท่าเทียมในการดำรงชีวิตเหมือนกับคนปกติทั่วไป และสามารถเข้าถึงสิทธิพื้นฐานอย่างการที่มีโอกาสได้ออกไปท่องเที่ยวตามสถานที่ต่างๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น รวมถึงยังนำไปใช้กับผู้สูงอายุได้ด้วย จึงเป็นโครงการที่มีคุณค่าเป็นอย่างมาก
นายณัฐชนนท์ กล่าวถึงขั้นตอนการเริ่มทำโครงการว่า หลังจากที่ได้รับโจทย์มาจากอาจารย์และมีทีมที่ทำด้วยกันแล้ว ก็ลองไปนั่งวีลแชร์ธรรมดาที่ใช้อยู่ทั่วไปดู ก็พบปัญหาในหลายๆ เรื่อง เช่น เรื่องการทรงตัวเวลาที่พบพื้นผิวที่แตกต่างกัน จึงช่วยกันคิดกับเพื่อนร่วมทีม และเกิดไอเดียรถวีลแชร์สามล้อ ซึ่งมีแรงบันดาลใจจากรถตุ๊กๆ หัวกบซึ่งเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของจังหวัดตรัง จึงได้วิเคราะห์องค์ประกอบของรถตุ๊กๆ ว่าน่าจะสามารถจำมาใช้กับการดัดแปลงรถวีลแชร์สองล้อธรรมดา ให้กลายเป็นรถวีลแชร์สามล้อได้ ด้วยล้อหน้าของรถตุ๊กๆ น่าจะช่วยในเรื่องของการทรงตัว ส่วนล้อหลังหากเปลี่ยนเป็นล้อขนาดใหญ่ขึ้น ก็จะช่วยเรื่องความสมดุลและทรงตัวได้ดีขึ้น จึงเอาไอเดียนี้ไปเสนอต่ออาจารย์ที่ปรึกษา และได้ช่วยกันคิด ก็เลยตัดสินใจที่จะออกแบบรถวีลแชร์ของทีมเราให้เป็นวีลแชร์สามล้อแบบฉบับรถตุ๊กๆ หัวกบเมืองตรัง
นายอธิภู กล่าวเสริมว่า การส่งผลงานเข้าประกวดในครั้งนี้ ทีมจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง เป็นสถาปัตย์หนึ่งเดียวที่ส่งผลงานเข้าประกวดในโครงการนี้ เพราะอีก 286 ทีมที่ส่งผลงานเข้าไป ล้วนเป็นทีมที่มีความสามารถทางด้านงานช่างและระบบไฟฟ้า ส่วนใหญ่มาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มีความถนัดด้านกลไกและเครื่องไม้เครื่องมือที่พร้อมมาก แต่สุดท้ายเราก็สามารถขายไอเดียความแปลกใหม่จนเข้าไปสู่รอบ 30 ทีมได้ โดยสมาชิกในทีมของเราเชื่อว่าเป็นเพราะงานของเรามีรูปทรงที่ไม่เหมือนใคร และเป็นการนำเอาเอกลักษณ์ของจังหวัดตรังไปนำเสนอ จึงน่าจะเป็นจุดสนใจของกรรมการ
ในรอบ 30 ทีม ทุกทีมจะต้องนำเสนอผลงานต่อหน้ากรรมการ โดยได้เดินทางไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เพื่อพรีเซ้นต์ผลงานต่อหน้ามีกรรมการจากหลายสาขาอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นนักกีฬาพาราลิมปิก (ผู้พิการ) นักศึกษา อาจารย์และผู้เชี่ยวชาญจากแขนงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยในรอบนี้คณะกรรมการก็เปิดโอกาสให้ทุกทีมได้ปรับแก้ผลงานได้ แต่ด้วยความที่ทีมของเราเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ต่างจังหวัด ไม่สะดวกในการเดินทาง และขาดวัสดุอุปกรณ์ รวมทั้งขาดทักษะในด้านกลไกทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ จึงไม่ได้มีการปรับแก้อะไรเพิ่มเติม แม้จะเห็นว่าตัวผลงานยังมีจุดที่สามารถจะพัฒนาให้ดีขึ้นได้อีก แต่ก็ไม่สามารถปรับแก้ไขอะไรได้ในตอนนั้น รวมทั้งความกังวลในส่วนของงบประมาณที่มีจำกัดเพียง 3,500 บาท ก็ต้องคิดกันต่อว่าในจำนวนงบฯ ที่มีอยู่อย่างจำกัดนี้ จะสามารถใช้วัสดุอะไรที่มีความแข็งแรงทนทาน และเหมาะกับการออกแบบวีลแชร์ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ แต่สุดท้ายก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ จนสามารถผ่านเข้าสู่รอบ 10 ทีมสุดท้าย
ด้าน นางสาวชาลินี ได้พูดถึงรอบ 10 ทีมสุดท้าย ว่า หลังจากทราบว่าผลงานของเราเข้าสู่รอบสุดท้ายแล้ว เรามีเวลาในการผลิตรถวีลแชร์สามล้อประมาณ 2 เดือน ซึ่งจะต้องผลิตออกมาให้ตรงกับแบบที่ส่งไปในตอนแรก จึงได้ปรึกษากับอาจารย์ที่ปรึกษาและลงพื้นที่ไปยังศูนย์การศึกษาพิเศษ เขตการศึกษา 4 จังหวัดตรัง เพื่อขอคำปรึกษาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้อำนวยความสะดวกให้กับผู้พิการ โดยทางศูนย์ก็ได้สนับสนุนโครงสร้างรถเข็นผู้พิการที่ชำรุดแล้ว ให้นำมาดัดแปลงตามที่เราได้ออกแบบเอาไว้ เมื่อเสร็จแล้วก็ส่งไปที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งเป็นสนามแข่งขันและที่เก็บผลงานของทั้ง 10 ทีมที่ผ่านเข้ารอบ โดยในวันประกวดจริง จะมีตัวแทนผู้พิการนำผลงานที่เราผลิตไว้ไปใช้งานจริง โดยทดสอบกับบททดสอบ 5 ด่านที่มีความยากแตกต่างกันออกไป ประกอบด้วย ทางลาดชัน ทางคดเคี้ยว ทางขรุขระ ทางลาดเอียง และพื้นทราย ซึ่งถือว่าผลงานของทีมเรา ก็สามารถใช้ได้ดีแม้อาจจะมีปัญหาบ้างในบางด่าน แต่ถือว่าผลงานที่ทำมา ก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงและตอบโจทย์ผู้ใช้งาน
นางสาวชาลินี กล่าวต่อว่า แม้ในรอบสุดท้ายนี้ ทีมเราจะไม่ได้รางวัลชนะเลิศ แต่รางวัลผลงานโดดเด่นที่ได้มา ก็เป็นกำลังใจให้กับทุกคนในทีม เราได้อะไรกลับมามากกว่ารางวัล ทั้งประสบการณ์ และเข้าใจความรู้สึกของคนพิการมากขึ้น สิ่งที่ได้จากการร่วมทำโครงการนี้ คือเราได้รู้ว่าเราถนัดหรือไม่ถนัดอะไร กฎของวีลแชร์คือความเท่าเทียมกันของคนในสังคม ผลงานของเราจะเป็นอุปกรณ์เสริมที่สามารถนำไปใช้ได้จริง สามารถนำไปต่อเติมกับวีลแชร์ที่มีอยู่ ทำให้คนพิการได้พึ่งพาตัวเองได้ ซึ่งตอบโจทย์เรื่องความเท่าเทียมกัน และเชื่อว่าผลงานชิ้นนี้หากนำไปต่อยอดในเรื่องระบบกลไกต่อ ก็จะทำให้เป็นอุปกรณ์ที่มีความสมบูรณ์และสะดวกต่อผู้ใช้งานมากขึ้น