กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--เค พลัส พีอาร์
บมจ.ไทย เอ็น ดี ที ประกาศจับมือ CGN Dasheng บริษัทยักษ์ใหญ่ ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีเครื่องเร่งอิเล็คตรอนจากจีน และ ASE ผู้บุกเบิกศูนย์การฉายรังสีเอกชนรายแรกของประเทศไทย ลงนามจัดตั้งศูนย์วิจัยเครื่องเร่งอนุภาคในพื้นที่กว่า 50 ไร่ ของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมของ ไทย เอ็น ดี ที จังหวัดระยอง หวังสร้างงานวิจัยนวัตกรรม การฝึกอบรมและศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคแห่งอนาคต สำหรับงานด้านการทดสอบโดยไม่ทำลาย รองรับการเติบโตทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนจีนและไทยในเขตพื้นที่ EEC
นางสาวชมเดือน ศตวุฒิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย เอ็น ดี ที จำกัด (มหาชน) หรือ TNDT เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมรวมถึงการซัพพลายเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็คตรอนกับ บริษัท CGN Dasheng Electron Accelerator Technology จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็คตรอนระดับโลกจากประเทศจีน และบริษัท แอดวานซ์ สเตอริไลเซชั่น (อีสเทิร์น) ผู้บุกเบิกศูนย์การฉายรังสีเอกชนรายแรกของประเทศไทย เพื่อร่วมจัดตั้งศูนย์วิจัยเครื่องเร่งอนุภาคในพื้นที่กว่า 50 ไร่ของศูนย์วิจัยและฝึกอบรมของ TNDT ในจังหวัดระยอง
ทั้งนี้ ภายใต้ความร่วมมือดังกล่าว CGN Dasheng จะจัดตั้งศูนย์วิจัยฯ สำหรับงานวิจัยนวัตกรรม การฝึกอบรมและศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคแห่งอนาคตสำหรับงานด้านการทดสอบโดยไม่ทำลาย (Non Destructive Test, NDT) และด้านอื่นๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตวัสดุชั้นสูง (advanced material) การเกษตรและสาธารณสุข เป็นต้น ซึ่งเป็นการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างนักลงทุนจีนและไทยสำหรับรองรับการพัฒนานวัตกรรมแห่งอนาคตในพื้นที่เขตระเบียงตะวันออก หรือ EEC เป็นแห่งแรกในภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN)
โดยเบื้องต้นเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็คตรอนที่พัฒนาและดำเนินการโดย บริษัท แอดวานซ์ สเตอริไลเซชั่น (อีสเทิร์น) จำกัด นี้จะนำไปใช้ประโยชน์ในด้านการฆ่าเชื้อผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ (Sterilization) ซึ่งการร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีจากบริษัทชั้นนำขนาดใหญ่ของรัฐบาลจีนนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดการพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคเป็นนวัตกรรมชั้นสูงร่วมกัน และส่งเสริมความร่วมมือระยะยาวต่อไป
"CGN เป็นผู้นำด้านการพัฒนาพลังงานสะอาด เช่นพลังงานนิวเคลียร์ พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์มีประสบการณ์และงานวิจัยมากกว่า 30 ปี ในเทคโนโลยีนิวเคลียร์ และมีพนักงานมากกว่า 39,000 คนทั่วโลก และCGN ยังเป็นบริษัทที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังงานนิวเคลียร์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่ ASE เป็นผู้บุกเบิกศูนย์การฉายรังสีเอกชนรายแรกของประเทศไทยที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็คตรอนเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการฆ่าเชื้อสำหรับผลิตภัณฑ์ด้านการแพทย์ เช่น อุปกรณ์ที่ใช้ในห้องผ่าตัด ยารักษาโรค รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมด้านการแพทย์ชั้นสูงของประเทศไทย" นางสาวชมเดือน กล่าว
อย่างไรก็ตาม CGN Dasheng เป็นบริษัทในเครือ CGN โดยเป็นผู้นำด้านการออกแบบ ผลิต และติดตั้งเครื่องเร่งอนุภาคอิเล็คตรอนของโลก และเป็นผู้ให้บริการการฉายรังสีที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน CGN Dashengทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยและพันธมิตรทั่วโลก และปัจจุบันได้จดสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องมากว่า 100 ฉบับ นอกจากนี้ CGN Dasheng ยังเป็นผู้ผลิตโพลิเมอร์ชั้นสูงและผลิตอุปกรณ์หลากหลายที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบแบบไม่ทำลาย (NDT)
ขณะที่ TNDT เป็นบริษัทผู้บุกเบิกและผู้ให้บริการการตรวจสอบแบบไม่ทำลายในประเทศไทยมาตั้งตั้งแต่ปี พ.ศ. 2525 โดยกลุ่มนักวิชาการและวิศวกร เพื่อรองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดอุบัติภัย เช่น อุตสาหกรรม น้ำมัน แก๊ส ปิโตรเคมี และวัสดุเคมีอันตราย รวมถึงโครงสร้างขนาดใหญ่ เป็นต้น
ข้อมูลบริษัท บริษัท ไทย เอ็น ดี ที จำกัด (มหาชน) หรือ TNDT
บริษัท ไทย เอ็น ดี ที จำกัด (มหาชน) หรือ TNDT ผู้ประกอบธุรกิจการตรวจสอบและทดสอบทางวิศวกรรมความปลอดภัย ด้วยกระบวนการทดสอบโดยไม่ทำลาย (Nondestructive Testing - NDT) ซึ่งเป็นวิธีการทดสอบเพื่อหาจุดบกพร่อง รอยแยก รอยรั่ว การปนเปื้อน ความผิดปกติที่เกิดขึ้นเมื่อถูกกระทบโดยปัจจัยแวดล้อมและความไม่สมบูรณ์ของวัสดุอุปกรณ์ ส่วนประกอบ หรือโครงสร้างต่าง ๆ โดยที่ทั้งก่อน ขณะปฏิบัติการและภายหลังการทดสอบ จะไม่มีส่วนทำให้ชิ้นงาน มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์หรือคุณสมบัติ
โดยตัวอย่างของการทดสอบด้วย NDT อาทิเช่น การตรวจสอบและทดสอบระบบความปลอดภัยต่อการใช้งานของอุปกรณ์ ระบบท่อลำเลียง น้ำมัน ก๊าซ สารเคมี ทั้งทางบกและทางทะเลภาชนะรับแรงดันสูง อาทิ ถังบรรจุก๊าซ NGV (Natural Gas Vehicle) LPG (Liquid Petroleum Gas) หม้อต้มไอน้ำ (Boiler) รวมถึงการตรวจสอบและทดสอบโครงสร้างโลหะเหล็กขนาดใหญ่ ซึ่งกลุ่มลูกค้าโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นกลุ่มลูกค้าภายในประเทศ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตปิโตรเลียม ซึ่งได้แก่ การผลิตและสำรวจน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมก่อสร้าง เป็นต้น ในปี 2557 ได้เริ่มขยายฐานธุรกิจไปสู่ธุรกิจพลังงาน ผ่านบริษัท ทีเอ็นดีที พาวเวอร์ โดยโครงการแรกเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 10 เมกะวัตต์ จำนวน 2 ยูนิต ที่รัฐฉาน สหภาพเมียนมาร์ ได้รับสิทธิสัมปทานนาน 30 ปี