กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--WWF-Thailand
แปลงศูนย์เรียนรู้แปลงปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง บ้านแม่ขี้มูก ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ - ตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ พร้อมเกษตรกรในพื้นที่กว่า 100 คน ร่วมงาน "FLR349 ร่วมแรงปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง" ประกาศตั้งเป้า 50,000 ไร่ ภายใน 10 ปี ขับเคลื่อนโมเดลฟื้นป่าต้นน้ำ แก้วิกฤติสภาพภูมิอากาศ ด้วยการยุติการปลูกข้าวโพดเชิงเดี่ยวเคมีสูง สู่การปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่างด้วยศาสตร์พระราชา ผ่าน "โครงการกองทุนฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและอาหารยั่งยืน (FLR349 Fund)"
โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย WWF มูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และภาคีเครือข่ายสนับสนุนที่เกี่ยวข้อง เช่นบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด ซึ่งโมเดลกองทุน FLR349 ได้เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2561 ในพื้นที่นำร่องโครงการ อ.แม่แจ่ม โดยมีเกษตรกรเข้าร่วม 67 ครัวเรือน บนพื้นที่ 198 ไร่ ขยายพื้นที่เกษตรอินทรีย์ หยุดพืชเชิงเดี่ยว
ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการเผาไร่ ไปสู่การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ปัจจุบัน มุ่งฟื้นคืนความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในพื้นที่ต้นน้ำ ยกระดับคุณภาพชีวิต สุขภาวะ ความมั่นคงทางอาหาร และแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ในงานมีตัวแทนจากหลายภาคส่วนเข้าร่วม อาทิ กรมป่าไม้ องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) นักวิชาการ ภาคีเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ ภาคเอกชน และเกษตรกร โดยกิจกรรมประกอบด้วยการแถลงความคืบหน้าโครงการ และการกำหนดเป้าหมายทำงานร่วมกัน การบรรยายด้านเกษตรอินทรีย์ ฟื้นฟูดิน และการปลูกป่า การร่วมแรงกันปลูกไม้ป่ายืนต้น โกโก้ กล้วย มะรุม และไม้อื่น ๆ ในพื้นที่เข้าร่วมโครงการ ตามรูปแบบการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งเป็นทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
"โมเดลกองทุน FLR349 ตั้งเป้าหมายในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 50,000 ไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ส่งเสริมให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่และรายได้ที่มากขึ้นร้อยละ 40 เมื่อเทียบจากเดิม ผ่านการทำเกษตรอินทรีย์ สร้างพื้นที่สีเขียวด้วยการปลูกไม้ผล และไม้ยืนต้น พร้อมพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหารที่ยั่งยืนและระบบตรวจสอบย้อนกลับ นอกจากนี้ยังเป็นการแก้ปัญหาและการสร้างภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในภาคการเกษตรที่มีความจำเป็นและเร่งด่วนที่สุดอีกด้วย" นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการโครงการ WWF-Thailand กล่าวรายงาน
ทางด้านบริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด โดย คุณพิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหารกล่าวว่า กลุ่มเซ็นทรัล มีเจตนารมณ์และมีความภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการสร้างงาน สร้างคุณภาพชีวิต และสร้างสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน และ "โครงการกองทุนฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและอาหารยั่งยืน (FLR349 Fund) เป็นอีกหนึ่งในโครงการที่ภาคธุรกิจให้ความสนใจในการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนการฟื้นคืนป่าต้นน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ และสร้างการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น"
"ในพื้นที่นำร่องจังหวัดเชียงใหม่และน่าน ปีน้ำเราเริ่มปลูกต้นไม้ไปแล้ว 83,500 ต้น มีพืช 17 ชนิด หรือป่า 3 อย่างคือไม้ใช้สอย ไม้ก่อสร้าง และไม้กินได้ ซึ่งจะสร้างประโยชน์ 4 อย่างคือ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น หรืออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศนำไปใช้เป็นโมเดลฟื้นฟูดินสร้างป่า ซึ่งเราต้องระดมทุนจำนวนมากในการฟื้นแก้ไขปัญหาป่าต้นน้ำเสื่อมโทรมในพื้นที่เป้าหมาย 50,000 ไร่ และจึงขอเชิญชวนทุกภาคส่วนให้มาร่วมกันทำตรงนี้ให้สำเร็จ" นายรัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด เลขาธิการกองทุน FLR349 กล่าว
เกี่ยวกับกองทุน FLR349
กองทุน "FLR349" เป็นกองทุนที่น้อมนำศาสตร์พระราชา การปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และการสร้างห่วงโซ่คุณค่าซึ่งเป็นโมเดลให้กับเกษตรกรในพื้นที่ป่าต้นน้ำ กองทุน FLR349 จะเป็นเสมือนพี่เลี้ยงให้กับเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนการวิธีการทำเกษตรจากการทำพืชเชิงเดี่ยวรุกป่าใช้เคมีสูง สู่การทำเกษตรกรรมแบบบูรณาการ โดยปลายทางจะนำมาซึ่งการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรมจากการแผ้วถางทำลายหน้าดิน ผ่านการปลูกและดูแลไม้ป่าถาวร ปลูกไม้ผล และพืชผัก สมุนไพรนานาชนิดแบบผสมผสาน เกื้อกูลฟื้นฟูสร้างระบบนิเวศ และเป็นพื้นที่ที่เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน น้ำ และเอื้อต่อการผลิตอาหารที่หลากหลายและปลอดภัยต่อการผลิตและบริโภค เป็นการสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกรและชุมชนในการพึ่งพาตัวเอง ลดภาระค่าใช้จ่ายในการยังชีพและสุขภาวะที่ฟื้นคืนกลับมา ซึ่งจะทำให้สามารถก้าวพ้นจากวงจรหนี้สินและการถูกเอาเปรียบเชิงโครงสร้างของระบบทุนนิยมในห่วงโซ่อาหาร ซึ่งถือได้ว่าเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ Sustainable Development Goals (SDGs)
ดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ http://scp.wwf.or.th/news_stories/?uNewsID=335495
เกี่ยวกับองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล
องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล หรือ WWF เป็นหนึ่งในองค์กรขนาดใหญ่ที่สุดระดับโลกที่มุ่งมั่นทำงาน และอุทิศเพื่องานด้าน การอนุรักษ์ ปัจจุบัน WWF มีผู้สนับสนุนมากกว่า 5 ล้านคนจากทั่วโลกและเครือข่ายขององค์กรทำงานร่วมกันในกว่า 100 ประเทศ พันธกิจของ WWF คือการหยุดยั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาวะธรรมชาติของโลกในเชิงลบ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนของโลก ที่มีมนุษย์สามารถอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติได้อย่างมีความสมดุลด้วยการอนุรักษ์สภาพชีววิทยาที่หลากหลาย และมุ่งทำงานเพื่อรักษา ทรัพยากรด้านพลังงานให้ถูกนำกลับมาใช้งานอย่างสมดุลและยั่งยืน รวมทั้งสนับสนุนการทำงานเพื่อหยุดยั้งมลพิษและการบริโภค ที่เกินพอดี สามารถศึกษาข้อมูลการทำงานของเราเพิ่มเติมได้ที่ www.panda.org/news
จากภาพ ซ้ายไปขวา:
1 นาย ภูมินพศ์ บุญบันดาร ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่) กรมป่าไม้
2.นายสมพล อนุรักษ์วนภูมิ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านทับ
3. นายดำรงชัย เดชาธิคม ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการ ธกส ภาคเหนือตอนบน
4 .นาย พิชัย จิราธิวัฒน์ กรรมการบริหาร บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด
5. นายรัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด เลขาธิการกองทุนฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าและอาหารยั่งยืน
6. นายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมสังคมคาร์บอนต่ำผ่านการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน WWF-Thailand