กรุงเทพฯ--11 ต.ค.--เดอะเวย์ คอมมิวนิเคชั่น
"อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย" แต่งตั้ง "บล.ฟินันเซีย ไซรัส" และ "บล.กสิกรไทย" เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นและรับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นไอพีโอ จำนวน 520 ล้านหุ้น โดยมีผู้ร่วมจัดจำหน่ายอีก 11 แห่ง ราคาเสนอขายอยู่ที่ 3.30 บาท ลุยนำเงินระดมทุนไปก่อสร้างโรงงานในต่างประเทศ ปรับปรุงและซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติม รวมถึงลงทุนเปิดบริษัทตัวแทนและห้องทดลองในต่างประเทศ ส่งซิกเตรียมจองซื้อ 16-18 ต.ค. 62 เข้าเทรด SET ในหมวดธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2562
บมจ. อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย (RBF) กำหนดราคาเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO)จำนวน 520,000,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 3.30 บาท โดยจะเปิดเสนอขายในวันที่ 16-18 ต.ค.62 ผ่านผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจัดจำหน่าย คือ บล. ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน)และบล. กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และผู้ร่วมจัดจำหน่ายอีก 11 แห่ง ได้แก่ บล. ไอร่า จำกัด (มหาชน) บล. เอเซีย พลัส จำกัด บล. โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) บล. โกลเบล็ก จำกัด บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บล. เคที ซีมิโก้ จำกัด บล. เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)บล. อาร์เอชบี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)บล. ทรีนีตี้ จำกัดและบล. ยูโอบีเคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)
ทั้งนี้ การกำหนดราคาที่เสนอขายหุ้นละ 3.30 บาท มาจากการทำสำรวจความต้องการซื้อหุ้น (Book Building) ของนักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศ โดยมีช่วงราคาเสนอขายที่ 3.00 – 3.30 บาทต่อหุ้น ปรากฏว่านักลงทุนสถาบันได้แสดงความต้องการซื้อหุ้นที่ราคาสูงสุดหุ้นละ 3.30 บาท อย่างล้นหลาม โดยมีความต้องการซื้อหุ้นรวมคิดเป็น 12.4 เท่าของจำนวนหุ้นที่จะจัดสรรให้กับนักลงทุนสถาบัน โดยบริษัทได้กำหนดราคาหุ้นที่จะเสนอขายให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ในราคาหุ้นละ 3.30 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (Price to Earnings Ratio : P/E) เท่ากับ 22 เท่า โดยคำนวณกำไรสุทธิต่อหุ้นจากกำไรสุทธิในรอบ 4 ไตรมาสย้อนหลัง ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.61 ถึงวันที่ 30 มิ.ย.62 ซึ่งเท่ากับ 299 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดของบริษัทหลังจากการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ (Fully Diluted) ซึ่งเท่ากับ 2,000 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท จะได้กำไรสุทธิต่อหุ้นเท่ากับ 0.15 บาทต่อหุ้น สำหรับอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิดังกล่าวคำนวณจากผลประกอบการในอดีต โดยที่ยังมิได้พิจารณาถึงผลการดำเนินงานในอนาคต ราคาเสนอขายในครั้งนี้ พิจารณาจากแผนธุรกิจของบริษัท และการนำเงินระดมทุนที่ได้จากประชาชนเป็นครั้งแรกไปใช้ในการขยายธุรกิจ
นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของ RBF เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา RBF ได้ทำการเดินสายเพื่อนำเสนอข้อมูล(โรดโชว์)ให้กับกองทุนและนักลงทุนสถาบันในประเทศจำนวน 22 กองทุนและต่างประเทศได้แก่ สิงคโปร์และญี่ปุ่นจำนวน 6 กองทุน นอกจากนี้ บริษัทยังโรดโชว์แก่นักลงทุนรายย่อยและประชาชนทั่วไปในประเทศจำนวน 15 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง ภูเก็ต นครปฐม ราชบุรี เชียงใหม่ อุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น พิษณุโลก นครสวรรค์ อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี สงขลา และกรุงเทพมหานคร เพื่อให้นักลงทุนรายย่อย สถาบันและคู่ค้ามีความเข้าใจและรู้จักธุรกิจของบริษัทมากยิ่งขึ้น
นายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ APM เปิดเผยว่า RBF มีจุดแข็งเรื่องการมีทีมวิจัยและพัฒนา(R&D)ที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านอาหาร การวิเคราะห์กลิ่นและรสชาติอาหารโดยเฉพาะ รวมไปถึงมีความหลากหลายและครบวงจรมากกว่าผู้ผลิตรายอื่นๆในอุตสาหกรรม เพราะคู่แข่งของ RBF เป็นบริษัทต่างชาติทั้งหมด
ทั้งนี้ บริษัทแบ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ออกเป็น 6 กลุ่ม คือ กลุ่มวัตถุแต่งกลิ่นและรส และสีผสมอาหาร กลุ่มแป้งและซอส กลุ่มผลิตภัณฑ์อบแห้ง กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารแช่แข็ง กลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติก และกลุ่มผลิตภัณฑ์ซื้อมาเพื่อจำหน่าย สำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 61 บริษัทมีรายได้รวม 2,738.25 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 321.11 ล้านบาท และสำหรับงวด 6 เดือนแรกของปี 62 บริษัทมีรายได้รวม 1,412.82 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 147.23 ล้านบาท
ดร.สมชาย รัตนภูมิภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ RBF เปิดเผยว่า บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปก่อสร้างโรงงานผลิตและจำหน่ายเกล็ดขนมปังและแป้งประกอบอาหาร ณ เมืองสุราบายา ประเทศอินโดนีเซีย โดยคาดว่าจะใช้เงินในการซื้อที่ดินและก่อสร้างโรงงานประมาณ 200 – 250 ล้านบาท และจะแล้วเสร็จมีรายได้เข้ามาภายในปี 2565
นอกจากนี้ บริษัทจะนำไปปรับปรุงและซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติม ทั้งเครื่องจักรในการผลิตเกล็ดขนมปัง เครื่องจักรในการผลิตแป้งทอดกรอบ เครื่องจักรในการผลิตวัตถุแต่งกลิ่นรสแบบอัตโนมัติ มูลค่าประมาณ 130 ล้านบาท ลงทุนเปิดบริษัทตัวแทนและห้องทดลองในต่างประเทศ มูลค่าประมาณ 25 ล้านบาท ที่เหลือจะเป็นชำระคืนเงินกู้และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ "บริษัทได้ไปเปิดตลาดที่ประเทศอินโดนีเซียมาได้ระยะหนึ่งแล้วและเล็งเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตอย่างมากในอนาคตจึงตัดสินใจลงทุนก่อสร้างโรงงานในเมืองสุราบายา ซึ่งบริษัทเชื่อว่าจะทำให้ลดต้นทุนทางด้านวัตถุดิบและต้นทุนค่าขนส่งได้อย่างมาก และปัจจัยนี้จะทำให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งท้องถิ่นได้มากขึ้น" นายสมชาย กล่าว