กรุงเทพฯ--26 ก.พ.--กทม.
นายธนิก ยูถะสุนทร์ รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เป็นประธานแถลงข่าว “พบกัน จันทร์ละหน คนกับข่าว” เรื่อง การเตรียมการป้องกันภัยแล้งกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2551 โดยมีผู้บริหารสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและผู้เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องเอราวัณ ศาลาว่าการกทม.
นายธนิก กล่าวว่า ภัยแล้งถือเป็นสาธารณภัยประเภทหนึ่ง เกิดจากภาวะฝนไม่ตกตามฤดูกาล ฝนทิ้งช่วง หรือปริมาณฝนตกน้อยปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลดลง ทำให้เกิดความแห้งแล้ง ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ และการประกอบอาชีพของประชาชน สำหรับสถานการณ์ภัยแล้งในปี 2551 คาดว่าจะมีความรุนแรงเนื่องจากมีสภาพอากาศร้อนจัด ทำให้ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่เขตชั้นนอกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งน้ำประปาเข้าไปไม่ถึง อาทิ หนองจอก คลองสามวา มีนบุรี ลาดกระบัง ประเวศ สวนหลวง บางนา บางเขน ดอนเมือง หลักสี่ คันนายาว สายไหม จอมทอง ทุ่งครุ บางบอน ราษฎร์บูรณะ และบางขุนเทียน ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลิตผลทางการเกษตร ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
อย่างไรก็ตามกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการเพื่อเตรียมการป้องกันแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เดือน ต.ค. 50 เป็นต้นมา โดยได้จัดทำแผนในการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งกรุงเทพมหานคร ประจำปี 2551 เพื่อแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น มีสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยงานหลักในการจัดตั้งศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ณ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซ.พหลโยธิน 6 เขตพญาไท พร้อมตั้งคณะกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่รับผิดชอบ ให้การสนับสนุนช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ซึ่งสามารถแจ้งได้ที่หมายเลข 199 หรือ 0 2354 6858 และวิทยุระบบ VHF และ UHF เครือข่ายพระรามและศูนย์อัมรินทร์ ในส่วนของสำนักงานเขตทั้ง 50 เขตนั้นได้จัดทำแผนป้องกันภัยแล้งระดับเขต และจัดตั้งศูนย์ฯ พร้อมเจ้าหน้าที่รับผิดชอบไปแล้วเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 50 ที่ผ่านมา นอกจากนี้กทม. ยังได้ประสานการประปานครหลวง ขอรับการสนับสนุนน้ำประปา เพื่อน้ำไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยไม่คิดมูลค่า ตั้งแต่เดือน ก.พ. 51 เป็นต้นไป จนสิ้นสุดฤดูแล้ง ส่วนการดำเนินการแจกจ่ายน้ำนั้น สำนักงานเขตจะเป็นผู้ประสานกับสำนักงานประปาสาขาพื้นที่เพื่อดำเนินการ ตามแผนที่กำหนดต่อไป
กรุงเทพมหานครขอความร่วมมือประชาชนใช้ความระมัดระวังการในการเผาขยะและเผาหญ้าในที่โล่งแจ้งไม่ควรเผาในขณะ ที่ลมแรง ขณะเผาควรเฝ้าดูเตรียมการป้องกันไฟดับ อย่าให้กองไฟมอดดับเอง สำหรับอาคารบ้านเรือนควรตรวจตราสายไฟเพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร และดับฟื้นไฟให้เรียบร้อยก่อนออกจากบ้าน และควรจัดหาเครื่องดับเพลิงชนิดมือถือที่สามารถดับไฟได้ทุกประเภทไว้ประจำบ้าน