กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานจากอิทธิพลพายุโซนร้อน "โพดุล" และพายุโซนร้อน "คาจิกิ" ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามันภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรง ตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค. 62 จนถึงปัจจุบัน (15 ต.ค. 62 เวลา 06.00 น.) ยังคงมีสถานการณ์ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี 2 อำเภอ 2 เทศบาล 2 ชุมชน 21 ครัวเรือน ซึ่ง ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมสรรพกำลังเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง รวมถึงสำรวจความเสียหายครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ
นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลพายุโซนร้อน "โพดุล" และพายุโซนร้อน "คาจิกิ" ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังแรงตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน (15 ต.ค. 62 เวลา 06.00 น.) ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ดินสไลด์ รวม 32 จังหวัด ได้แก่ภาคเหนือ 10 จังหวัด ได้แก่ แพร่ เชียงใหม่ เพชรบูรณ์ น่าน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก พิจิตร แม่ฮ่องสอน ลำปาง และสุโขทัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 16 จังหวัด ได้แก่ นครพนม ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี อำนาจเจริญ มหาสารคาม ขอนแก่น หนองบัวลำภู ยโสธร กาฬสินธุ์ มุกดาหาร ชัยภูมิ สุรินทร์ อุดรธานี เลย ศรีสะเกษ และสกลนคร ภาคตะวันออก 3 จังหวัด ได้แก่ ปราจีนบุรี ตราด และสระแก้ว ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ระนอง และชุมพร รวม 184 อำเภอ 836 ตำบล 7,293 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 419,988 ครัวเรือน บ้านเรือนได้รับความเสียหาย 35,006 หลัง ผู้เสียชีวิต 40 ราย (ยโสธร 9 ราย ร้อยเอ็ด 6 ราย อุบลราชธานี 6 ราย อำนาจเจริญ 5 ราย ขอนแก่น 3 ราย ศรีสะเกษ 4 ราย พิจิตร 2 ราย พิษณุโลก 1 ราย มุกดาหาร 1 ราย สกลนคร 1 ราย น่าน 1 ราย สุรินทร์ 1 ราย) ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี และอำเภอวารินชำราบ รวม 2 เทศบาล 2 ชุมชน 21 ครัวเรือน ทั้งนี้ ปภ.ได้ร่วมกับจังหวัดหน่วยทหารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องระดมเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยและคลี่คลายสถานการณ์ภัย โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำ รถสูบส่งน้ำระยะไกล เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่น้ำท่วมขัง สำหรับจังหวัดที่สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว ให้เร่งสำรวจประเมินความต้องการการช่วยเหลือของผู้ประสบภัยพร้อมจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งการประกอบอาชีพชีวิตความเป็นอยู่ ที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตร ปศุสัตว์ สาธารณูปโภค เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ตลอดจนเร่งซ่อมแซมและฟื้นฟูสิ่งสาธารณประโยชน์ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติโดยเร็ว ท้ายนี้ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัยสามารถติดต่อได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป