สอศ.ไม่หวั่นผลิตกำลังคนอาชีวะป้อนอุตสาหกรรมยายนต์แม้จะเป็นขาลง

ข่าวทั่วไป Tuesday October 15, 2019 16:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า จากที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงยอดส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปในปีนี้ อยู่ที่ 81,549 คัน ลดลง 20.45% เมื่อเทียบจากปี 2561 โดยลดลงเกือบทุกตลาด เนื่องจากยอดขายรถยนต์ในประเทศคู่ค้าลดลงจากผลกระทบเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ขณะที่มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 45,694.98 ล้านบาท ลดลง 18% ซึ่งข้อมูลนี้อาจเชื่อมโยงต่อความไม่มั่นใจ ของนักเรียน นักศึกษาที่เรียนอยู่ในสายอาชีวะ รวมถึงผู้ปกครองที่กำลังอยู่ในช่วงการตัดสินใจให้บุตรหลาน เลือกเรียนสายอาชีวะ และเข้าเรียนในสาขาช่างยนต์ โดยในประเด็นดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้มีการปรับแผนการเตรียมกำลังคนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ มาอย่างต่อเนื่องโดยใช้ข้อมูลความต้องการกำลังคน มาเป็นฐานในการจัดการเรียนการสอนรูปแบบทวิภาคี ตลอดจนการพัฒนาหลักสูตร ร่วมกับสถานประกอบการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งเป็นความร่วมมือกับกลุ่มอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน (อ.กรอ.อศ.) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศอย่างแท้จริง เลขาธิการคณะกรรมการการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ในส่วนของผู้เรียนอาชีวศึกษา เป็นกำลังคนที่มีทักษะ ฝีมือ ในระดับช่างเทคนิค ถึงแม้อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์จะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ผู้จบการศึกษาสายอาชีวะยังสามารถเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมอื่นๆ ได้ในหลายภาคส่วน นอกจากนี้ในส่วน ของอาชีพช่างยนต์ ในประเทศยังมีรถยนต์กว่า 20 ล้านคัน ที่ยังที่ต้องอาศัยการบำรุงรักษา ตรงนี้ก็ยังเป็นส่วนของการเข้าสู่การมีงานทำ และสร้างอาชีพ ได้ตลอดเวลา รวมไปถึงการไปทำงานในกลุ่มซ่อมบำรุง ของสถานประกอบการต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม สอศ.ได้พยายามปรับตัวให้ทันกับเทรนด์ใหม่ที่จะเกิดขึ้นในวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกที่ส่งผลต่อตลาดรถยนต์ในประเทศไทยที่เน้นการทำงานร่วมกันระหว่าง มนุษย์ เทคโนโลยี และเครื่องจักร เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดดในยุคอุตสาหกรรม 4.0 ที่จะมีการพัฒนานวัตกรรมการขับขี่แห่งโลกอนาคตในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงการใช้พลังงานทดแทน บทบาทของมนุษย์ในระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ และเทคโนโลยีการขับขี่แห่งโลกอนาคตอีกด้วย ซึ่งสอศ.ก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนวิถีการจัดการเรียน การสอน ไปสู่ด้าน IT และด้านคอมพิวเตอร์ ด้านหลักสูตรก็จะต้องมีการเพิ่มทักษะที่จำเป็น (reskill ) และ เสริมทักษะใหม่ (upskill) ที่สำคัญไปพร้อมกัน พร้อมทั้งยกระดับของสมรรถนะในวิชาชีพช่างยนต์ รวมถึงการที่จะบูรณาการเข้าไปรองรับกับสังคมต่อไปด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ